ผู้ชมทั้งหมด 117
บอร์ด รฟท. เคาะให้ SRTA บริหาร พัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 12,000 สัญญา เริ่ม 1 ส.ค.นี้ แปลงแรกริมถนนรัชดาภิเษก เสนออายุสัญญาเช่า 30 ปี คาดช่วยหนุนรายได้รฟท. ปี 69 ทะลุ 1 หมื่นล้าน

นายอนันต์ โพธิ์นิ่มแดง รองผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) รฟท. มีมติอนุมัติให้ บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRT Asset Co., Ltd.) หรือ SRTA ซึ่งเป็นบริษัทลูกของรฟท.ทำหน้าที่บริหารจัดการและพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ของ รฟท. โดยจะมีการเซ็นสัญญาเช่าในวันที่ 1 สิงหาคมนี้ และทาง SRTA จะดำเนินการบริหารพื้นที่แปลงแรกบริเวณริมถนนรัชดาภิเษกจำนวน 1 แปลง คือ อาคารกลาสเฮ้าส์ โดยมีเนื้อที่ประมาณ 4 ไร่ พื้นที่ใช้สอย 6 พันตารางเมตร และถือเป็นที่ดินแปลงแรกที่ SRTA ได้นำไปดำเนินการตามเงื่อนไขการดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ทาง SRTA ต้องเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ รฟท. และนำไปดำเนินการตามราคาตลาดให้กับผู้เช่าช่วงต่อไป
สำหรับการขอเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของ รฟท.นั้น SRTA ได้นำเสนอราคาที่ดินแบะสิ่งปลูกสร้าง โดยใช้เกณฑ์ประเมินราคาใหม่ ซึ่งมีการเสนออายุสัญญาเช่าใหม่เป็น 30 ปี จากเดิมที่อายุสัญญามีเวลา 10 ปี ซึ่งสัญญาเช่าเดิมจะสิ้นสุดลง 31 กรกฎาคม 2568 และมีการจ่ายค่าเช่าเป็นปีต่อปี ขณะที่ส่วนแบ่งรายได้นั้นขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการ หากมีกำไรสุทธิก็จะจ่ายส่วนแบ่งมาให้กับรฟท. แต่หากขาดทุนก็ไม่ต้องจ่ายส่วนแบ่ง
โดยหลักการของบอร์ดรฟท.คือ รายได้ค่าเช่าจากที่ดินแปลงดังกล่าวต้องไม่น้อยกว่าเดิม จากเดิม รฟท.มีรายได้ค่าเช่าที่ดินตามสัญญาเดิมประมาณ 5 ล้านบาทต่อปี แต่การเช่าใหม่ต้องประเมินทั้งราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างตามเกณฑ์ใหม่ ซึ่งมูลค่าทรัพย์สินโตตามลำดับ ดังนั้นผู้เช่าช่วงก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น โดยมูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างอาคารกลาสเฮาส์ตามเกณฑ์ประเมินใหม่อยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาท
สำหรับพื้นที่ของ รฟท.ริมถนนรัชดาภิเษกมีประมาณ 79 แปลง ระยะทางยาวตั้งแต่บริเวณแยกเทียนร่วมมิตรถึงติดริมถนนวิภาวดีรังสิต ลึกจากริมถนนไปประมาณ 30 เมตร ซึ่งแต่ละแปลงก็ทยอยหมดสัญญาแล้ว ซึ่งทาง SRTA จะต้องนำไปบริหารจัดการต่อไป อย่างไรก็ตามปัจจุบันรฟท. มีพื้นที่ให้ลูกค้าเช่าทั่วประเทศประมาณ 12,000 สัญญา แบ่งเป็น สัญญาเช่าพื้นที่ภายในสถานีรถไฟ 6,000 สัญญา และสัญญาเช่าพื้นที่นอกสถานี 6,000 สัญญา
ทั้งนี้รฟท.ให้ SRTA ไปจัดทำแผน เพื่อเคลียร์ผู้เช่ารายเดิมและผู้เช่ารายใหม่ให้เรียบร้อย รวมถึงนำระบบบริหารทรัพย์สินและสัญญาเช่า (MIS) มาเก็บเงินให้เต็มประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถจ่ายค่าเช่าผ่านแอพธนาคารได้เลยไม่ต้องไปจ่ายที่สถานีรถไฟ ซึ่งจะมีความโปร่งใสและได้เงินตรงตามค่าเช่าไม่มีปัญหาโอนขาดโอนเกิน
นายอนันต์ กล่าวอีกว่า กรณีการเช่าที่ดินรฟท.ของห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าวนั้นสัญญาจะสิ้นสุดปี 2571 แต่ในระหว่างนี้ รฟท.ได้ให้ SRTA ไปว่าจ้างที่ปรึกษาศึกษาราคาที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ตามราคาตลาด เมื่อแล้วเสร็จให้นำมาเสนอ รฟท. เพื่อขอเช่าต่อไป
นอกจากนี้ รฟท.ยังมีพื้นที่อีกหลายแปลงที่จะทยอยหมดสัญญา และส่งต่อให้ SRTA บริหารจัดการต่อ อย่างบริเวณชุมชนตลาดศาลาน้ำร้อน ที่มี 2 ฝั่งเป็น 2 แปลง ทาง SRTA ได้ศึกษาแล้ว เบื้องต้นฝั่งที่เป็นตลาดนั้นผลศึกษาชี้ว่าควรพัฒนาเป็นตลาดสมัยใหม่ มี 2 ชั้น พร้อมที่จอดรถ แต่อาจติดปัญหาความไม่สะดวกของผู้เข่าเดิมจึงยังไม้ได้โฟกัส ส่วนอีกฝั่งที่เป็นอาคารพักอาศัยนั้นอาจจะดำเนินการก่อน ซึ่งจะมีโครงการบ้านคนไทยบริเวณนี้ด้วย
นายอนันต์ กล่าวว่า ปัจจุบัน รฟท.มีรายได้ประมาณ 9.7 พันล้านบาทต่อปี แบ่งเป็น ค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประมาณ 3.7 พันล้านบาท ในจำนวนนี้เป็นค่าเช่าจากห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลลาดพร้าว 1.5 พันล้านบาท และรายได้จากค่าโดยสารและขนส่งสินค้า ประมาณ 6 พันล้านบาท อย่างไรก็ตามในปี 2569 รฟท. ตั้งเป้ามีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มจากค่าเช่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเป็น 5 พันล้านบาท