บางกอกแอร์เวย์ส ประกาศใช้เชื้อเพลิง SAF เที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ

ผู้ชมทั้งหมด 110 

บางกอกแอร์เวย์ส ประกาศใช้เชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืน (SAF) ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ตอกย้ำเป้าหมายท้องฟ้าโลว์คาร์บอน หนุนอุตสาหกรรมการบินของไทยสู่ความยั่งยืน

บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส ขับเคลื่อนแคมเปญ Low Carbon Skies  by Bangkok Airways มุ่งลดปริมาณการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จากการดำเนินธุรกิจ ประกาศนำเชื้อเพลิงอากาศยานแบบยั่งยืนหรือ SAF (Sustainable Aviation Fuel) มาใช้ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ผลักดันอุตสาหกรรมการบินสีเขียวของไทย และวางรากฐานสำคัญสู่การพัฒนาการบินที่สมดุลกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฏาคม 2568 เป็นต้นไป

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การนำเชื้อเพลิง SAF มาใช้ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์อย่างเป็นทางการ ถือเป็นก้าวสำคัญของบางกอกแอร์เวย์สในการเปลี่ยนผ่านสู่อนาคตการบินที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Emissions) ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายด้านความยั่งยืนในภาคการบิน จากปี 2567 ที่ผ่านมา สายการบินฯ ได้นำเชื้อเพลิง SAF มาใช้ในเที่ยวบินนำร่อง เส้นทางสมุย – กรุงเทพ และในปีนี้ จะเริ่มนำ SAF มาใช้ในเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ จากกรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) สู่จุดหมายปลายทางระหว่างประเทศ ได้แก่ พนมเปญ เสียมเรียบ หลวงพระบาง และมัลดีฟส์

ทั้งนี้ เชื้อเพลิงที่นำมาใช้จะเป็นเชื้อเพลิง SAF ในสัดส่วน 1% ผสมกับเชื้อเพลิง Jet A-1 สัดส่วน 99% ซึ่งสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยประมาณ 128 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อเที่ยวบิน ในฐานะสายการบินชั้นนำระดับภูมิภาค บางกอกแอร์เวย์สมุ่งมั่นพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ภายใต้พันธกิจที่สำคัญต่อผู้มีส่วนได้เสีย ในการดำเนินธุรกิจสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ด้วยความภาคภูมิใจในการส่งมอบประสบการณ์การเดินทางที่น่าประทับใจ และใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมให้กับผู้โดยสาร ตลอดจนการมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

บางกอกแอร์เวย์ส มุ่งมั่นการพัฒนาสู่เป้าหมาย “สายการบินยั่งยืน” โดยยึดหลักแนวคิด ESG ครอบคลุมทุกกระบวนการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรับผิดชอบใน 3 ด้าน ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล โดยในด้านสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อการจัดการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการของเสีย การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพและพลังงานทางเลือก โดยมีการศึกษามาตรการด้านการใช้เชื้อเพลิงอากาศยานอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทุกมิติ การจัดทำรายงานคาร์บอนฟุตพรินต์ขององค์กร (ขอบเขตที่ 1-3) การเพิ่มประเภทถังคัดแยกขยะ การขยายผลการอัพไซคลิ่งของเสียภายในกระบวนการดำเนินธุรกิจเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่ากับสังคมและสิ่งแวดล้อม การส่งเสริมให้ผู้มีส่วนได้เสียมีส่วนร่วมกับบริการหรือกิจกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โครงการ Love Earth, Save Earth ปลูกมะพร้าวเพื่อเกาะสมุย ปีที่ 8 เป็นต้น