“บ้านปู” เผยความคืบหน้าธุรกิจในไตรมาส 1/68 ลุยลงทุนต่อเนื่องในต่างประเทศ

ผู้ชมทั้งหมด 152 

บ้านปู เดินหน้าลงทุนตามกลยุทธ์ Energy Symphonics จัดตั้งบริษัทร่วมทุนขยายธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCUS) ในสหรัฐอเมริกา เริ่มก่อสร้างโซลาร์ฟาร์มแห่งใหม่ในจีน รุกคืบธุรกิจโซลาร์หลังคาในเวียดนาม และขยายการลงทุนในระบบกักเก็บพลังงานในญี่ปุ่น เผยไตรมาส 1/2568 รายได้ 4.3 หมื่นล้านบาท มี EBITDA รวมประมาณ 9,100 ล้านบาท

ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่ผันผวนและปัจจัยภายนอกที่ท้าทายในทุกมิติ ทั้งสภาวะเศรษฐกิจโลกที่เปราะบางและประเด็นความขัดแย้งของนโยบายการค้าระหว่างประเทศ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ยังคงมุ่งมั่นบริหารพอร์ตพลังงานด้วยความยืดหยุ่นพร้อมต่อทุกสภาวะ (Resilience) โดยมีปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการเติบโตระยะยาว ได้แก่ ความสามารถในการปรับตัวต่อทุกความท้าทายที่มีผลต่ออุตสาหกรรมพลังงาน การสร้างการเติบโตด้วยแพลตฟอร์มพลังงานที่หลากหลาย การดำเนินธุรกิจอยู่ในระดับโลก และการจัดสรรเงินลงทุนและขยายการเติบโตที่สามารถบริหารความเสี่ยงได้

ส่งผลให้ผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/2568 บ้านปู มีรายได้จากการขายรวม 1,284 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 43,584 ล้านบาท) กำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี และค่าเสื่อมราคา (EBITDA) รวม 268 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 9,100 ล้านบาท) อย่างไรก็ตาม บริษัทรายงานผลขาดทุนสุทธิ 14.2 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 483 ล้านบาท) ส่วนใหญ่เป็นการขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการแข็งค่าของเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ

นายสินนท์ ว่องกุศลกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) ระบุว่า ช่วงไตรมาส 1 ปี 2568 บ้านปู เดินหน้าลงทุนตามแผนของกลยุทธ์ Energy Symphonics เห็นได้จากความคืบหน้าของทุกกลุ่มธุรกิจที่มุ่งสร้างกระแสเงินสดและตอบโจทย์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แม้ความไม่แน่นอนของตลาดโลกจะส่งแรงกดดันต่อธุรกิจพลังงาน แต่ด้วยการบริหารธุรกิจด้วยความยืดหยุ่นทั่วทั้งองค์กร ทำให้เราสามารถประเมินสถานการณ์และปรับแผนตามสภาวะต่าง ๆ ได้อย่างราบรื่น

ประกอบกับการที่มีฐานธุรกิจในประเทศสำคัญในเอเชีย-แปซิฟิกและสหรัฐอเมริกา ทำให้มีข้อได้เปรียบในการเชื่อมโยงโอกาสจากตลาดแต่ละพื้นที่ บริหารความเสี่ยงได้ตรงจุด คุมต้นทุนได้รัดกุม เป้าหมายคือรักษากระแสเงินสดเและสร้างความมั่นคงทางการเงินอย่างต่อเนื่อง

สำหรับไฮไลท์ผลการดำเนินงานของ 3 กลุ่มธุรกิจหลักในไตรมาส 1/2568 มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

กลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน ธุรกิจเหมือง สามารถควบคุมต้นทุนอย่างต่อเนื่องและเข้มงวด และเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงาน แม้ราคาขายและปริมาณขายลดลงจากความต้องการถ่านหินที่ชะลอตัวในช่วงที่ผ่านมา ทั้งนี้ ธุรกิจเหมืองในมองโกเลียสามารถผลิตและจำหน่ายถ่านหินส่งออกไปที่จีนได้ 0.3 ล้านตัน เป็นครั้งแรกในไตรมาสนี้ ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เน้นการบริหารประสิทธิภาพการผลิตควบคู่กับการใช้เครื่องมือทางการเงินเพื่อบริหารความเสี่ยงด้านราคาเพื่อรักษาความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด BKV dCarbon Ventures ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ BKV ได้ประกาศจัดตั้งบริษัทร่วมทุนเชิงกลยุทธ์ (JV) ร่วมกับกองทุน CI Energy Transition Fund I ภายใต้การบริหารของ Copenhagen Infrastructure Partners (CIP) จากประเทศเดนมาร์ก เพื่อร่วมกันออกแบบ พัฒนา และดำเนินธุรกิจ CCUS ในสหรัฐอเมริกา เป็นก้าวสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งของธุรกิจ CCUS

กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน ธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อน โรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วมในจีนมีรายได้เพิ่มเติมจากการขาย Carbon Emission Allowance (CEA) สะท้อนถึงประสิทธิภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของโรงไฟฟ้าและยังทำกำไรด้วยแรงหนุนจากความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำตามฤดูกาล และการลดต้นทุนต่อเนื่อง ส่วนธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เริ่มก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งใหม่ Jinhu Qianfeng ในมณฑลเจียงซู ประเทศจีน มีกำลังผลิต 120  เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ภายในเดือนธันวาคม 2568

กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน ลงนามร่วมพัฒนาโครงการระบบกักเก็บพลังงาน ‘Kamigumi–Tokyo BESS’ โดย Banpu Japan K.K. ร่วมทุนกับ Kamigumi Co., Ltd. ขนาด 8 เมกะวัตต์ชั่วโมง คาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ภายในไตรมาส 2/2571 ด้านธุรกิจซื้อขายไฟฟ้าได้พัฒนาเทคโนโลยีวิเคราะห์การซื้อขายพลังงานด้วยระบบ AI และความร่วมมือกับแพลตฟอร์มชั้นนำอย่าง Enspired และ Global Engineering เพื่อเสริมแกร่งธุรกิจในระยะยาว

นอกจากนั้น ในประเทศเวียดนาม บ้านปู เน็กซ์ และ SolarBK ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนเพื่อเร่งขยายธุรกิจโซลาร์หลังคา เน้นลูกค้ากลุ่มโรงงาน นิคมอุตสาหกรรม และศูนย์ข้อมูล (Data Center) ด้าน e-Mobility ได้เปิดตัวบริษัทร่วมทุนแห่งใหม่ชื่อ “PrimeMobility” เพื่อให้บริการเช่ารถ EV เชิงพาณิชย์แบบครบวงจร โดยร่วมกับพันธมิตรจากประเทศญี่ปุ่น ได้แก่ Marubeni และ Fuyo Lease Group

สำหรับสถานะทางการเงินของบริษัทฯ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2568 มีสินทรัพย์รวม จำนวน 12,457 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 58 ล้านเหรียญสหรัฐ เมื่อเทียบกับสินทรัพย์รวม ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2567