“ปตท.” หนุน “ ก๊าซธรรมชาติ – CCS ” รับมือเปลี่ยนผ่านพลังงานโลก มุ่งเป้า Net Zero

ผู้ชมทั้งหมด 187 

ในช่วงที่โลกยังเผชิญกับความผันผวนของราคาพลังงาน ภาวะอุปทานยังตึงตัว รวมถึงความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์ ประเทศไทย ในฐานะผู้นำเข้าพลังงาน จึงจำเป็นต้องเร่งวางแผนเชิงรุก ทั้งในด้านความมั่นคงทางพลังงาน การกระจายแหล่งนำเข้าและการเดินหน้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) อย่างยั่งยืน

บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจของไทย ที่มีบทบาทสำคัญในการดูแลความมั่นคงทางพลังงานของประเทศ จึงต้องเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือต่อปัจจัยความท้าทายต่างๆ ของโลก

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. ร่วมบรรยายในหัวข้อ “ถอดรหัสสู่อนาคตพลังงานไทยที่ยั่งยืน” ในงานสัมมนาใหญ่กลางปี “Decode 2025 : The Mid-Year Signal ถอดสัญญาณเศรษฐกิจโลก พลิกอนาคตเศรษฐกิจไทย” ที่จัดขึ้นโดย iBusiness โดยระบุว่า ทิศทางพลังงานโลกในปัจจุบันมีปัจจัยที่เข้ามาเกี่ยวข้องทั้ง ปัจจัยระยะสั้น และระยะยาว ที่มีผลต่อราคาและความมั่นคงทางพลังงาน

โดยปัจจัยระยะสั้น ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์,ความไม่แน่นอนด้านนโยบายและกฎระเบียบ,ความมั่นคงทางเศรษฐกิจและแรงกดดันด้านเงินเฟ้อ และการขยายตัวทางดิจิทัล ส่วนปัจจัยระยะยาว ได้แก่ การลดคาร์บอนที่เป็นความท้าทายหลัก, การสร้างสมดุลระหว่างความั่นคงทางพลังงาน ความยั่งยืน และราคาที่เอื้อมถึง, ความจำเป็นของ Net Zero, นโยบายและการจัดการลงทุน ทั้งเชื้อเพลิงสะอาด เทคโนโลยีการกำจัดคาร์บอน และการเงินการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน

โดยสรุปแล้วการเปลี่ยนแปลงทางพลังงาน จะอยู่ภายใต้ความสมดุลใน 3 เรื่อง คือ ความมั่นคงทางพลังงาน, ความยั่งยืน และพลังงานมีใช้ในราคาที่เหมาะสม แม้ว่าวันนี้การเปลี่ยนแปลงของโลกจะมีความไม่แน่นอนสูง แต่จากการพูดคุยกับผู้นำบริษัทพลังงานในโลก ยังเห็นตรงกันว่า ทิศทางก้าวไปสู่ Net Zero ยังเหมือนเดิม แต่ระหว่างทางอาจมีความขรุขระ ช้า เร็วบ้าง แต่ต้องทำ

ดังนั้น การส่งเสริมการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานที่สมดุลและเท่าเทียมกัน จะอยู่ภายใต้หลักสำคัญ คือ ความปลอดภัย ที่จะเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานเพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจและความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะดำเนินการควบคู่ไปกับ ความสามารถในการแข่งขัน เพื่อให้เกิดการเข้าถึงพลังงานในราคาที่เหมาะสม และความยั่งยืน ที่จะเป็นช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางธุรกิจโดยเน้นความยั่งยืนแบบองค์รวม และมุ่งเติบโตทางเศรษฐกิจความคู่ไปกับการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งบริษัทพลังงานใหญ่ๆในโลก รวมถึง ปตท.ก็กลับมาทำเรื่องนี้ควบคู่ไปกับการลดคาร์บอน

โดยจะเห็นว่า การบริโภคพลังงานของโลกจากนี้ไปจนถึงปี 2593 (ค.ศ.2050) เพิ่มสูงขึ้น และแม้ว่าการใช้พลังงานหมุนเวียนจะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้น แต่ไม่ถึง 20% เนื่องจากยังมีข้อจำกัดเรื่องความเสถียรและราคา แต่การเติบโตของเศรษฐกิจโลกยังต้องสร้างสมดุลทางพลังงานในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน

ดังนั้น “ก๊าซธรรมชาติ” ที่เป็นเชื้อเพลิงฟอสซิลที่จัดว่าสะอาดจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลัก และสอดคล้องกับการสร้างสมดุลทางพลังงานใน 3 เรื่อง คือ ความปลอดภัย, ความสามารถในการแข่งขัน และความยั่งยืน ซึ่งประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างก็เห็นตรงกันว่า ก๊าซฯจะยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของโลกใน 20-30 ปีข้างหน้า แม้ว่าประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะยังผลิตก๊าซฯไม่เพียงพอ แต่ก็ยังสามารถผลิตเองได้ เช่น ไทย,เมียนมา,มาเลเซีย,อินโดนีเซีย ก็มีก๊าซฯที่ผลิตได้เองอยู่พอสมควรซึ่งตอบโจทย์ความมั่นคงทางพลังงาน ขณะเดียวกันก็ยังจำเป็นต้องนำเข้ามาในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ฉะนั้นความมั่นคงทางพลังงานในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ก็คือต้องมีก๊าซฯใช่เป็นพลังงานหลักควบคู่กับการลดก๊าซเรือนกระจก

ขณะเดียวกันโลกยังให้ความสำคัญกับความพยายามลดคาร์บอน ผ่าน 5 แนวทาง ดังนี้ การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน, การใช้พลังงานสะอาด, การดักจับและการจัดเก็บคาร์บอน, การปลูกป่า และการใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ

แม้ว่าทิศทางการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนของโลกอาจจะดูช้ากว่าเป้าหมาย แต่จะเห็นว่า การพัฒนา โครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) ของโลกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยใน 5 ปีข้างหน้า คาดว่าจะเกิดขึ้นประมาณ 500 โครงการ รวมถึงการพัฒนาของเทคโนโลยีไฮโดรเจน ที่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งพลังงานสะอาดที่สำคัญ แม้ว่าปัจจุบันต้นทุนจะยังแพงอยู่แต่เชื่อว่าในอนาคตจะเกิดการนำมาใช้มากขึ้น ซึ่งจะเริ่มจากการใช้ในภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ การใช้ในโรงไฟฟ้าผสมกับเชื้อเพลิงก๊าซฯบางส่วน

สำหรับทิศทางพลังงานไทย ยังมีทั้งโอกาสและความท้าทาย ทั้งจากอัตราภาษี, ความต้องการใช้พลังงาน, ปริมาณสำรองที่มีจำนวนจำกัด, สิ่งแวดล้อม, เทคโนโลยี และนโยบาย/กฎหมายและข้อบังคับต่างๆ ขณะที่นโยบายด้านพลังงานของไทย ที่กำหนดโดยภาครัฐ คือ กระทรวงพลังงาน ก็วางทิศทางส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่ยังต้องใช้เวลาเนื่องจากยังมีข้อจำกัดทั้งความเสถียรในการผลิต ต้นทุนราคายังสูง และสะท้อนผ่านไปยังอัตราค่าไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น ซึ่งการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นของไทยเป็นเรื่องที่ดี แต่ยังต้องใช้เวลา ฉะนั้นในระยะยาว ก๊าซฯ จึงยังมีบทบาทสำคัญและมีสัดส่วนการใช้ไม่ได้ลดลง หรืออยู่ที่ราว 30%ของเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของไทย โดยประเทศไทยมีแหล่งผลิตก๊าซฯในประเทศ แต่ยังคงพึ่งพาการนำเข้า LNG ถึง 31% ผลิตเองจากในประเทศ ราว 50% และอีกประมาณ 15% นำเข้าจากเมียนมา

ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกิดการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งในประเทศเพิ่มขึ้น เพราะมีราคาถูก และช่วยลดความเสี่ยงจากการนำเข้าLNG ในช่วงที่เกิดสงครามจากต่างประเทศที่มีราคาสูง

“เราต้องให้ความสำคัญกับก๊าซฯ เพราะเป็นเชื้อเพลิงที่เรามีมากที่สุด มีใช้เอง นำเข้าบ้าง และใช้แล้วยังควบคู่ไปกับการลดการเรือนกระจก เพราะด้วยธุรกิจที่เรามีไม่ว่าไกลตัวหรือใกล้ตัว ถึงจุดหนึ่งจะมีการกีดกันทางการค้า มีภาษีต่างๆที่เกิดจากการปล่อยคาร์บอน ถ้าเรามีความเชื่อว่า มันจะไม่มีต้นทุนเลยในการลดคาร์บอน หมายความว่าเราสามารถปล่อยคาร์บอนได้ไม่จำกัด ก็ใช้ไปเลย ไม่ต้องลดคาร์บอน แต่มันเป็นไปไม่ได้ เพราะว่าการค้าขายกับประเทศต่างๆ ก็มักจะใช้เป็นเครื่องมือกีดกันทางการค้า”

ดังนั้น ปัจจัยสำคัญในการส่งเสริมความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย ควรจะต้องส่งเสริมและเร่งการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งใหม่ๆ, Unlock ข้อจำกัดด้านกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้องกับไฮโดรเจน และCCS, การสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization)

ด้านบทบาทของ ปตท.ซึ่งเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ที่มีการจะเจริญเติบโตจากในประเทศก็ไม่ถึง 20% ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ปตท.สผ.ซึ่งเป็นบริษัทลูก แม้จะมีการลงทุนในประเทศส่วนหนึ่ง แต่ก็มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อทำกำไรและสร้างความมั่นคงทางพลังงานในกับประเทศ ฉะนั้น ปตท.ก็มี 2 บทบาทสำคัญ คือ เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงทางพลังงาน ส่งภาษีและรายได้ให้กกับประเทศ อีกด้านก็เป็น บริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ที่จะต้องสร้างการเจริญเติบโตทางธุรกิจและดูแลผู้ถือหุ้น ก็เป็นบทบาทที่จะต้องสร้างสมดุล ภายใต้วิสัยทัศน์ ปตท.”แข็งแรงร่วมกับสังคมไทย” และ “เติบโตในระดับโลก”อย่างยั่งยืน

ปัจจุบัน ปตท.มีการดำเนินธุรกิจที่หลักผ่าน ธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียม(E&P), ธุรกิจก๊าซฯและLNG , ธุรกิจเทรดดิ้ง, ธุรกิจปิโตรเคมีและโรงกลั่น, ธุรกิจค่าปลีกน้ำมัน, ธุรกิจไฟฟ้า และการมองหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ โดยบูรณาการธุรกิจไฮโดรเจนและคาร์บอน

โดยในประเทศไทยการวางโครงสร้างพื้นฐานทางท่อ และ คลัง รองรับธุรกิจน้ำมันและก๊าซฯ เป็นเรื่องสำคัญ และปตท.มีหน้าที่ในการเข้าไปลงทุนตามนโยบายของรัฐ เช่น LNG ที่ไทยจำเป็นต้องนำเข้าในสัดส่วนราว 30% ของความต้องการใช้ในประเทศ ปตท.ก็ได้ลงทุนสร้างคลังรับ-จ่ายLNG ปัจจุบันมี 3 Terminal ได้แก่

1.LNG MTP Terminal แห่งที่ 1 ซึ่ง ปตท.เป็นเจ้าของ รองรับ LNG ได้ 11.5 ล้านตันต่อปี

2. LNG MTP Terminal แห่งที่ 2 ซึ่ง ปตท.ลงทุนร่วมกับ กฟผ. รองรับ LNG ได้ 7.5 ล้านตันต่อปี

3.Gulf MTP Terminal แห่งที่ 3 ซึ่งปตท.ร่วมลงทุนกับกัลฟ์ฯ รองรับLNGได้ 10.8 ล้านตันต่อปี ปัจจุบัน Terminal แห่งที่ 3 ยังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง

นอกจากนี้ ปตท.ยังให้ความสำคัญกับกระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ซึ่งประเทศไทยจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ในปี ค.ศ.2050 ได้หากไม่มีเทคโนโลยี CCS ฉะนั้น CCS เป็นเทคโนโลยีเดียวที่สามารถเก็บกักคาร์บอนได้ในระดับประมาณ 10 ล้านตันต่อปีหรือมากกว่านั้น แต่ยังต้องใช้เวลาในการพัฒนา 5-7 ปี ที่สำคัญคือเรื่องกฎระเบียบต่างๆยังไม่มีรองรับ ฉะนั้นภาครัฐและเอกชนจะต้องร่วมมือกันดำเนินการในเรื่องนี้

โดย ปตท.มีการดำเนินการใน 3 เรื่องเพื่อลดคาร์บอน คือ 1.ปรับพอร์ตการลงทุนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2.ปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงานต่างๆ ซึ่งทั้ง 2 ข้อนี้รวมกันก็ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 50% ของการปล่อย ดังนั้นจึงต้องดำเนินการ ข้อ 3. ลดคาร์บอนด้วยการใช้ CCS และไฮโดรเจน  

“ในอนาคตต้นทุนของการลดคาร์บอนจะค่อยๆลดลงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น การปรับปรุงประสิทธิภาพโรงงาน ,การติดตั้งโซลาร์ เป็นต้น โดยเฉพาะ CCS จะเห็นว่าต้นทุนจะเริ่มถูกลงชัดเจนในปี ค.ศ.2035 ดังนั้น วันนี้ก็ต้องเริ่มทำในเรื่องนี้ ทั้งการสำรวจพื้นที่ กฎหมายต่างๆ เพื่อที่วันข้างหน้าเราจะยังสามารถใช้ก๊าซฯ และน้ำมันที่ยังมีคงเหลืออยู่บนโลกควบคู่กับการลดคาร์บอนไปด้วย ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องไปพิจารณาว่า แนวทางใดจะคุ้มค่าต่อต้นทุนการเสียภาษีคาร์บอนที่ต้องจ่ายในอนาคต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือตั้งแต่วันนี้

ดังนั้น CCS เป็นเทคโนโลยีที่ไม่ได้ยาก แต่ต้องใช้เวลา และวันนี้ กลุ่มปตท. ได้เริ่มต้นดำเนินการแล้ว ซึ่งในช่วงแรกจะเริ่มดำเนินการในต่างประเทศก่อน เพื่อศึกษาเทคโนโลยี ทำความเข้าใจระบบ และในอนาคตจะขยายบทบาทการลงทุน CCS ออกไปนอกกลุ่ม ปตท.ที่มีความต้องการกักเก็บคาร์บอน โดยการนำคาร์บอนมาเก็บในอ่าวไทยจะมี 2 ทางเลือก คือ เก็บในหลุมก๊าซฯที่ใช้หมดแล้ว และใต้ชั้นหินในทะเล

อีกทั้ง ปตท.ยังมีบทบาทสำคัญในการช่วยเหลือสังคมในการลดต้นทุนค่าครองชีพด้านพลังงาน เช่น การจัดหาน้ำมันดิบเพื่อเพิ่มเติมในยามวิกฤต,ตรึงราคาขายปลีกNGV,ส่วนลดค่าเชื้อเพลิงก๊าซLPG แก่ผู้มีรายได้น้อย,OR ช่วยตรึงราคาขายปลีกน้ำมันในช่วงเวลาต่างๆ,ตรึงราคาค่าก๊าซฯสำหรับโรงไฟฟ้าเพื่อช่วยลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน และสนับสนุนเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเป็นกรณีพิเศษเพื่อช่วยแบ่งเบาภาระประชาชน

ปัจจัยสู่ความสำเร็จ: สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืน จะต้องมีแหล่งพลังงานที่เพียงพอและเชื่อถือได้,ต้นทุนการแข่งขันและราคาที่เอื้อมถึง,ความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชนแบบบูรณาการ,ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี,การใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และกฎระเบียบที่ทันสมัย