ผู้ชมทั้งหมด 119
แม้ความขัดแย้งในตะวันออกกลางจะส่งแรงกระเพื่อมสู่ตลาดพลังงานโลกอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกรณีการตอบโต้ระหว่างอิสราเอลและอิหร่านในช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา จนราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ทะยานขึ้นอย่างรวดเร็ว แต่ประเทศไทยยังคงยืนยันว่า “ไม่มีผลกระทบต่อการจัดหาเชื้อเพลิง”
ทั้งนี้ล่าสุด ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในฐานะโฆษก กกพ. เปิดเผยหลังการประชุมครั้งที่ 22/2568 (ครั้งที่ 964) เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2568 ว่า กกพ.ได้ติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างใกล้ชิด และวิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับการจัดหา LNG ของประเทศไทย โดยเฉพาะช่วงระหว่างวันที่ 13–24 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันและ LNG ในตลาดโลกเกิดความผันผวนสูงขึ้นจากข้อมูลตลาดโลก ราคานำเข้า Spot LNG ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 13.444 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู (MMBTU) ในวันที่ 13 มิถุนายน 2568 เป็น 14.815 ดอลลาร์สหรัฐ/MMBTU ในวันที่ 23 มิถุนายน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10% ภายในระยะเวลาไม่ถึงสองสัปดาห์ ก่อนจะปรับลดลงทันทีในวันที่ 24 มิถุนายน เหลือเพียง 13.211 ดอลลาร์สหรัฐ/MMBTU หลังมีรายงานเกี่ยวกับการยุติความขัดแย้งชั่วคราวในภูมิภาค
ถึงจะมีความเปราะบางด้านความมั่นคง แต่ กกพ. ยืนยันว่า ขณะนี้ ผู้จัดส่ง (Shipper) ในกลุ่ม Regulated Market ทุกรายได้รายงานสถานการณ์การส่งมอบ LNG อย่างใกล้ชิด และยังไม่มีรายใดพบความล่าช้าหรือสะดุดในการดำเนินการ โดยมีการเปิด 3 แนวทางสำรอง หากวิกฤตรุนแรงขึ้น เพื่อความไม่ประมาท กกพ. ได้หารือแนวทางรองรับหากสถานการณ์เลวร้ายที่สุดเกิดขึ้น เช่น การปิดช่องแคบฮอร์มุซ หรือการไม่สามารถจัดหา LNG จากกาตาร์ได้ โดยมีแผนสำรอง ดังนี้ 1.เพิ่มการเรียกรับก๊าซในประเทศจากอ่าวไทย, แหล่ง JDA และเมียนมา รวมถึงบริหาร Swing Gas ให้เต็มศักยภาพตามสัญญา 2. จัดหา Spot LNG จากซัพพลายเออร์รายอื่น โดยให้ Shipper เจรจากับคู่ค้าล่วงหน้า และ 3.ใช้โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำมันชั่วคราว หากไม่สามารถจัดหา Spot LNG ได้เพียงพอ หรือมีต้นทุนสูงกว่าการใช้น้ำมัน โดยให้ ปตท. ตรวจสอบความพร้อมในการจัดส่งน้ำมันสำรอง
ปัจจุบันประเทศไทยมี LNG Inventory อยู่ในระดับสูง ขณะที่แผนการส่งมอบจาก Shipper ทุกรายยังคงเป็นไปตามกำหนดโดยไม่มีอุปสรรค พร้อมยืนยันว่า กกพ.จะติดตามสถานการณ์ในภูมิภาคอย่างใกล้ชิด และพร้อมปรับมาตรการให้สอดรับกับทุกความเคลื่อนไหวอย่างทันท่วงทีเพราะในยุคที่ความผันผวนของตลาดพลังงานโลกอาจเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ การเตรียมความพร้อมล่วงหน้าและบริหารความเสี่ยงอย่างมีระบบ คือเครื่องมือสำคัญที่ทำให้ประเทศไทยยังสามารถยืนอยู่บนพื้นฐานของ “ความมั่นคงทางพลังงาน” ได้อย่างมั่นใจและยั่งยืน