ผู้ชมทั้งหมด 117
“พีระพันธุ์” เร่งเครื่องรื้อกฎหมายดูสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต้องเป็นธรรม ตรวจสอบได้ เพิ่มความแข็งแกร่งให้ กฟผ. แก้ปัญหาราคาแพงอย่างยั่งยืน พร้อมหนุนประชาชนติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป ประหยัดค่าไฟ
นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยผ่าน Facebook Page: โอกาส Chance เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2568 Live สด “Behind The Bill”เจาะลึกโครงสร้างค่าไฟ ที่ซ่อนอะไรไว้หลังบิลที่คุณจ่าย! ทำไมไฟฟ้าผลิตล้น…แต่ยังแพง? โดยระบุว่า ค่าไฟของประเทศไทยจะปรับทุก 4 เดือน ซึ่งในปี 2567 ตรึงไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และในปี2568 งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.68 ได้ปรับลดลงมาเหลือ 4.15 บาทต่อหน่วย และงวดปัจจุบันอยู่ที่ 3.98 บาทต่อหน่วย ขณะที่แนวโน้มงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค.68 ตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) กำหนดว่าจะต้องไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ตอนนี้อยู่ระหว่างบริหารจัดการ จะพยายามปรับลดลงให้ต่ำกว่า 3.98 บาทต่อหน่วย
สำหรับต้นทุนการผลิตไฟฟ้ามาจากหลายส่วน โดยหน่วยงานหลักที่รับซื้อไฟฟ้าจากภาคเอกชน คือ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ปัจจุบันพบว่ารูปแบบการรับซื้อไฟฟ้าเปลี่ยนไป แต่กฎหมายยังไม่เปลี่ยน เป็นอีกส่วนหนึ่งที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งการรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนในอดีตที่ผ่านมาเป็นปัญหาที่สุด เพราะเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) ไปแล้ว ไม่สามารถตรวจดูได้ โดยอ้างว่าเป็นความลับ
ดังนั้น กระทรวงฯ อยู่ระหว่างการแก้กฎหมายดังกล่าว เพื่อความโปร่งใส จำเป็นจะต้องเปิดเผยต่อประชาชน ซึ่งในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในการขอดูสัญญาเหล่านี้ ก็ทำไม่ได้ เนื่องจากในสัญญาระบุว่าเป็นคนนอก และไม่มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการสั่งการลดค่าไฟโดยตรง มีความซับซ้อนในระบบ รวมถึงสัญญาที่ผูกมัดจากอดีต ซึ่งเป็นปัญหาที่พยายามแก้ไขมาโดยตลอด
ปัจจุบัน มีสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) ทำหน้าที่รับผิดชอบในการดูแลไฟฟ้า กระทรวงพลังงานไม่ได้มีอำนาจ ซึ่ง กกพ.ดูแล มีสูตรคำนวณไฟฟ้า ส่วน กฟผ. เซ็นสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากเอกชน ขณะที่สัญญา Take or Pay เป็นเงื่อนไขการรับซื้อไฟ ดังนั้นสัญญาจำเป็นจะต้องมีกฎเกณฑ์ให้มากกว่านี้ ซึ่ง กฟผ.และเอกชนไปตกลงกัน มองว่าสิ่งที่ขาดอยู่ในประเทศไทยจะต้องมีสัญญาหน่วยงานของรัฐ จะทำสัญญาต้องอยู่บนมาตรฐานของหลักกฎหมายกลาง แต่วันนี้ยังไม่มี ซึ่งต่างคนก็ต่างเขียน ต่างคนก็ต่างไปทำ
ขณะที่การซื้อขายไฟฟ้าจะเป็นหน้าที่ของ 3 การไฟฟ้า ได้แก่ กฟผ. การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) แต่กระทรวงพลังงานดูแล กฟผ. เท่านั้น ส่วน กฟน. และกฟภ. อยู่ที่กระทรวงมหาดไทย โดย ณ สิ้นปี 2567 ทั้ง 3 การไฟฟ้าฯ มีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมอยู่ที่ 54,000-55,000 เมกะวัตต์ เทียบกับความต้องการใช้ไฟฟ้าช่วงสูงสุดอยู่ที่ประมาณ 36,000 เมกะวัตต์ หรือเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 25,000 เมกะวัตต์ เท่ากับมีไฟส่วนเกินประมาณ 30,000 เมกะวัตต์ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อภาคประชาชน ทั้งนี้ในส่วนของการผลิตไฟฟ้าภาคเอกชน จะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระยะยาว 20-25 ปี โดยกระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างหาช่องทางในการแก้ไขสัญญา ทั้งนี้โครงสร้างไฟฟ้าประกอบด้วยหลายส่วน ซึ่งจะต้องมีการปรับแก้แต่ละชั้นที่เป็นองค์ประกอบในค่าไฟ
อย่างไรก็ตามสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าควรเป็นของภาครัฐมากขึ้น เชื่อว่าค่าไฟจะลดลง เพราะสามารถควบคุมต้นทุนได้มากขึ้น สามารถกำหนดส่วนต่าง หรือกำไรให้อยู่ในกรอบที่สามารถที่ทำให้ราคาค่าไฟถูกลงมากกว่านี้ได้ โดยขณะนี้กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างจัดทำแผน PDP ฉบับใหม่ ซึ่งเป็นแผนสำคัญกำหนดทิศทางพลังงานของไทย ล่าสุด กพช. ได้มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการชุดใหม่เข้ามาทำแผนดังกล่าว เพื่อให้เป็นไปตามทิศทางของรัฐบาล ที่ต้องการทำให้ไฟฟ้าถูกลง เพิ่มความแข็งแกร่งให้ กฟผ. และประชาชนมีส่วนร่วมในการใช้ไฟฟ้าของตัวเอง รวมถึงการใช้พลังงานหมุนเวียนเข้ามาผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นเพื่อลดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยเฉพาะ Pool Gas ที่นำก๊าซจากหลายแหล่งมารวมกัน ทั้งๆที่ กฟผ.สามารถจัดหาก๊าซในราคาถูกได้ ขณะที่เอกชนบางรายนำเข้าก๊าซในราคาแพง และขายเข้ามาในระบบ pool gas ทำให้ต้นทุน กฟผ. เพิ่มขึ้น โดยไปบวกในต้นทุนค่าไฟของประชาชน
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานส่งเสริมการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปในบ้านอยู่อาศัยด้วยมาตรการทางภาษี โดยสามารถหักลดหย่อนภาษีได้ถึง 200,000 บาท นอกจากนี้กระทรวงพลังงานยังเตรียมนำร่างพระราชบัญญัติส่งเสริมการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เข้าสู่การประชุม ครม. คาดว่าในวันที่ 20 ก.ค.นี้ ทำให้เปลี่ยนระบบการขออนุญาตเป็นการแจ้งเพื่อทราบหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปได้เลย นอกจากการติดตั้งง่ายแล้วกระทรวงฯ ยังมองว่าค่าใช้จ่ายการติดตั้งอยู่ในระดับสูง 1.5-1.7 แสนบาท ดังนั้นได้ขอความร่วมมือจากบริษัทที่ผลิตโซลาร์ นำมาจำหน่ายให้คนไทยในราคาพิเศษ ประกอบกับการพัฒนาเครื่อง Inverter ของคนไทย ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในการติดตั้งระบบโซลาร์ ปัจจุบันเครื่องต้นแบบได้ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจาก สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สวทช.) แล้ว เชื่อว่าจะสามารถทำให้ราคาลงมาได้ รวมค่าติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปจะลงมาอยู่ที่ประมาณ 85,000-90,000 บาท