พ.ค.นี้ “คมนาคม” ชงครม. เคาะแนวทางเก็บค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระยะที่ 2

ผู้ชมทั้งหมด 75 

พ.ค.นี้ “คมนาคม” เตรียมชงครม. เคาะแนวทางเก็บค่ารถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ระยะที่ 2 เร่งเจรจาเอกชนแก้ไขสัญญา PPP มั่นใจ ก.ย. 68 ได้ใช้แน่นอน พร้อมเร่งผลักดัน พ.ร.บ. 3 ฉบับ หนุนนโยบายค่าโดยสาร 20 บาท

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายระยะที่ 2 ว่า ขณะนี้ ขร.ได้เสนอแนวทางแผนการดำเนินมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสาย ตามนโยบายรัฐบาลให้กับกระทรวงคมนาคมไปพิจารณาแล้ว คาดว่าจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนพฤษภาคม 2568

สำหรับแนวทางการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายระยะที่ 2 นั้นจะสามารถใช้ได้กับรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน รถไฟฟ้าสายสีเหลือง รถไฟฟ้าสายสีชมพู และรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งภายหลังจาก ครม.มีมติเห็นชอบแล้ว หน่วยงานกำกับสัญญาร่วมทุนของโครงการรถไฟฟ้าใฟฟ้าในเขตกรุงเทพมหานคร (กทม.) และปริมณฑล จะเร่งรัดดำเนินการเจรจากับคู่สัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า เพื่อปรับปรุงแก้ไขสัญญาสัมปทานหรือจัดทำบันทึกข้อตกลง (MOU) ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) มั่นใจว่าจะสามารถประกาศใช้ได้ภายในเดือนกันยายน 2568

ขณะเดียวกันทางสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) ก็ได้ดำเนินการพัฒนาระบบบริหารจัดการรายได้กลาง (Central Clearing House : CCH) ควบคู่กันไปด้วย เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงกับแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และจะเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์ค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายในช่วงเดือนสิงหาคม 2568 เพื่อให้สามารถดำเนินการได้ทันในเดือนกันยายน 2568

สำหรับการดำเนินการร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) 3 ฉบับ เพื่อสับสนุนมาตรการอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสูงสุด 20 บาทตลอดสายนั้น ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้กระทนวงคมนาคมอยู่ระหว่างเร่งดำเนินการ ซึ่งประกอบด้วย 1.ร่าง พ.ร.บ.การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม พ.ศ. …. (พ.ร.บ.ตั๋วร่วม) โดยขณะนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการสภาผู้แทนราษฎร (กมธ.ส.ส.) ครบทุกมาตราแล้ว คาดว่าจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมาธิการวุฒิสภา (กมธ.ส.ว.) และคาดว่า จะมีผลบังคับใช้ภายในเดือนสิงหาคม 2568

สำหรับสาระสำคัญของ พ.ร.บ.ตั๋วร่วม คือ การจัดตั้ง “กองทุนส่งเสริมระบบตั๋วร่วม” ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการชดเชยส่วนต่างของรายได้ค่าโดยสารให้แก่ผู้ให้บริการรถไฟฟ้าต่างๆ เพื่อให้สามารถเก็บค่าโดยสารในอัตรา 20 บาทตลอดสายได้จริง โดยไม่กระทบต่อเสถียรภาพทางการเงินของผู้ประกอบการ ในระหว่างนี้ สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ในฐานะหน่วยงานผู้รับผิดชอบหลัก ได้ดำเนินการเตรียมร่างกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้อง และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน ซึ่งกระบวนการเหล่านี้ คาดว่า จะแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2568

2.ร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. (พ.ร.บ.กรมรางฯ) สำหรับร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว มีบทบาทสำคัญในการกำกับดูแลและพัฒนาโครงข่ายระบบรางของประเทศ ได้ผ่านการพิจารณาจากคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การขนส่งทางราง พ.ศ. …. สภาผู้แทนราษฎรเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการพิจารณานำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร เพื่อพิจารณาในวาระที่ 2 และ 3 สู่การพิจารณาของสมาชิกวุฒิสภา คาดว่าจะสามารถประกาศบังคับใช้ในเดือนธันวาคม 2568

3.พ.ร.บ.การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2543 (พ.ร.บ.รฟม.) โดยรัฐบาลยังให้ความสำคัญกับการใช้กลไกที่มีอยู่เดิมตาม พระราชบัญญัติการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย พ.ศ.2543 โดยเฉพาะในหมวด 4 ว่าด้วยสัมปทาน มาตรา 57 ซึ่งเปิดโอกาสให้ ครม. สามารถเข้ามาดำเนินการเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ ในกรณีที่มีความจำเป็น รัฐบาลสามารถสั่งการให้ผู้รับสัมปทานดำเนินการแก้ไข หรือแม้กระทั่งเพิกถอนสัมปทานในกรณีที่มีเหตุสำคัญอันมิอาจหลีกเลี่ยงได้ โดยมีกระบวนการในการจ่ายเงินค่าทดแทนที่เป็นธรรม ทั้งนี้การนำมาตรา 57 ใน พ.ร.บ.รฟม. มาพิจารณา เป็นอีกหนึ่งแนวทางที่รัฐบาลจะใช้สนับสนุนนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการเจรจากับผู้รับสัมปทานปัจจุบัน