“มนพร” ชูวิสัยทัศน์รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เร่งออก พ.ร.บ. SEC หนุนแลนด์บริดจ์

ผู้ชมทั้งหมด 79 

มนพร” ร่วมเสวนา “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก” ชูวิสัยทัศน์รถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ครอบคลุม 13 เส้นทาง รวมระยะทาง 276 กิโลเมตร พร้อมเร่งเดินหน้าพัฒนาแลนด์บริดจ์ ลุยเพิ่มประสิทธิภาพระบบราง

นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวในงานเสวนา “ปลดล็อกอนาคตประเทศไทย สู้วิกฤติโลก” (Unlock Thailand’s Future) ว่า กระทรวงคมนาคมให้ความสำคัญกับการพัฒนาระบบคมนาคมขนส่งของประเทศให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน เพิ่มโอกาสการจ้างงานให้กับประชาชน พร้อมทั้งเพิ่มโอกาสการเข้าถึงบริการสาธารณะของรัฐที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

นางมนพร กล่าวต่อว่า กระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายการเดินทางให้กับประชาชน ซึ่งจากที่ได้ดำเนินการในระยะแรก 2 เส้นทาง คือ สายสีม่วง ช่วงเตาปูน – คลองบางไผ่ และสายสีแดง ช่วงบางซื่อ – รังสิต และบางซื่อ – ตลิ่งชัน พบว่า มีจำนวนผู้โดยสารมากขึ้นจากเดิมเกือบ 30% สามารถแบ่งเบาค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้ประชาชนที่ต้องเดินทางมาทำงานในเขตเมืองได้เป็นอย่างดี สำหรับการดำเนินการระยะที่ 2 ครอบคลุมโครงข่ายรถไฟฟ้าทุกสายในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่เปิดให้บริการแล้วทั้ง 13 เส้นทาง ระยะทางรวม 276 กิโลเมตร ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการแล้วเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2568

สำหรับมาตรการค่าโดยสารรถไฟฟ้าไม่เกิน 20 บาท จะให้สิทธิเฉพาะผู้โดยสารคนไทยที่ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” และเดินทางด้วยบัตรโดยสาร EMV ในโครงข่ายรถไฟฟ้าของกระทรวงฯ และบัตร Rabbit ผู้โดยสารที่ไม่ได้ลงทะเบียนจะต้องชำระค่าโดยสารในราคาปกติ ในส่วนของร่าง พ.ร.บ. การบริหารจัดการระบบตั๋วร่วม ร่าง พ.ร.บ. การขนส่งทางราง และร่าง พ.ร.บ. การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้การดำเนินงานประสบสำเร็จ คาดว่าจะผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎรได้ในเดือนสิงหาคมนี้

นางมนพร กล่าวอีกว่า กระทรวงคมนาคมอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ด้วยการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกฝั่งทะเลอ่าวไทยและอันดามันที่จังหวัดชุมพรและระนอง เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างท่าเรือทั้ง 2 แห่ง ด้วยรถไฟทางคู่และมอเตอร์เวย์ ระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร ซึ่งจะยกระดับประเทศไทยสู่การเป็นศูนย์กลางการขนส่งทางน้ำของภูมิภาค เนื่องจากสามารถลดระยะเวลาการขนส่งระหว่างมหาสมุทรแปซิฟิกและมหาสมุทรอินเดียได้ 4 – 5 วัน และลดต้นทุนการขนส่งได้ 15 – 20% เมื่อเทียบกับการขนส่งผ่านช่องแคบมะละกา

ทั้งนี้ สิ่งสำคัญที่จะทำให้การพัฒนาโครงการแลนด์บริดจ์ประสบความสำเร็จ คือ การจัดตั้งเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคใต้ (Southern Economic Corridor : SEC) ครอบคลุมพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช โดยรัฐบาลจะออกกฎหมายพิเศษ เช่น พ.ร.บ. SEC เพื่อสนับสนุนการลงทุน รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักลงทุนมาจัดตั้งโรงงานหรือประกอบธุรกิจในประเทศไทย ซึ่งจากการศึกษาของสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร คาดการณ์ว่าจะมีการจ้างงานในพื้นที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 280,000 อัตรา

นางมนพร กล่าวในตอนท้ายถึงการพัฒนาระบบรางของประเทศว่า กระทรวงคมนาคม มีนโยบายเพิ่มประสิทธิภาพระบบรางด้วยการพัฒนาโครงการรถไฟทางคู่ เพื่อให้การเดินทางและขนส่งสินค้าเป็นไปอย่างสะดวก รวดเร็ว โดยในระยะแรกก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว 5 เส้นทาง จากทั้งหมด 7 เส้นทาง ส่วนระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง ลงนามสัญญาก่อสร้างแล้ว 1 เส้นทาง และอยู่ระหว่างขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี 6 เส้นทาง

นอกจากนี้ ยังมีโครงการรถไฟเส้นทางใหม่อีก 2 เส้นทาง ได้แก่ เด่นชัย – เชียงราย – เชียงของ และบ้านไผ่ – มุกดาหาร – นครพนม รวมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ – นครราชสีมา ได้เร่งรัดให้แล้วเสร็จและเปิดให้บริการในปี 2571 ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง ส่วนต่อขยายจากนครราชสีมา – หนองคาย คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติแล้วเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2568 และโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน อยู่ระหว่างเตรียมลงนามในสัญญาเพื่อเริ่มก่อสร้าง คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2573