ผู้ชมทั้งหมด 48
“มนพร” สั่งลุยพัฒนา “ท่าเรือกรุงเทพ” นำร่อง 520 ไร่ พร้อมจ่อจัดจ้างที่ปรึกษาเข้าศึกษาอย่างละเอียด หวังให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่าย คาดได้ข้อสรุป พ.ค. 69
นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ในวันนี้ (6 พฤษภาคม 2568 ) ได้มีการประชุมคณะกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) ให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ประชุมได้หารือถึงแนวทางต่าง ๆ เพื่อที่จะพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ขับเคลื่อนภาคเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน โดยไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนโดยรอบและการจราจรต้องไม่ติดขัด รวมถึงไม่สร้างมลภาวะทางด้านอากาศและสุขภาพจิตต่อประชาชนทั่วทุกบริเวณ



ทั้งนี้ทั้ง 4 คณะอนุกรรมการที่จัดตั้งขึ้น ประกอบด้วย 1) คณะอนุกรรมการพิจารณาแนวทางการใช้ประโยชน์พื้นที่บริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อขับเคลื่อนไปสู่การปฏิบัติ โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ประธานอนุกรรมการ และนายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นรองประธานอนุกรรมการ
2) คณะอนุกรรมการพิจารณาพัฒนาศักยภาพพื้นที่บริเวณชุมชนคลองเตยที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ปัจจุบัน โดยมีนายสรวุฒิ เนื่องจำนง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรรมการ และนายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านขนส่ง เป็นรองประธานอนุกรรมการ
3) คณะอนุกรรมการการจัดระเบียบด้านจราจรและสิ่งแวดล้อมบริเวณโดยรอบท่าเรือกรุงเทพ(คลองเตย) อย่างยั่งยืน โดยมี นายปัญญา ชูพานิช ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เป็นประธานอนุกรรมการ และ 4) คณะอนุกรรมการด้านการมีส่วนร่วมของพี่น้องประชาชนในบริเวณท่าเรือกรุงเทพ (คลองเตย) และการประชาสัมพันธ์ โดยมี นายกฤชนนท์ อัยยปัญญา ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานอนุกรรมการ
นางมนพร กล่าวต่อว่า สำหรับการประชุมในวันนี้ มีมติให้เริ่มพิจารณาแนวทางการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ โดยนำร่องแผนพัฒนาพื้นที่ 520 ไร่ ที่อยู่บริเวณหน้าท่าเรือ จากเดิมนั้นพื้นที่ดังกล่าวใช้งานได้ไม่เกิดประสิทธิภาพสูงสุด เบื้องต้นจะนำมาพัฒนาพื้นที่ในการจัดเรียงตู้คอนเทนเนอร์ให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม และพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ต รวมถึงเพิ่มโครงการมิกซ์ยูสต่าง ๆ ให้มีประโยชน์มากสุดต่อประเทศและประชาชนในภาพรวมอย่างแน่นอน
นางมนพร กล่าวต่อถึงการประชุมวันนี้โดยทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้มีมติอีกว่า การพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ ในพื้นที่ 520 ไร่นั้น ต้องมีการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อดำเนินการศึกษาพื้นที่โดยละเอียด เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและต้องไม่มีผลกระทบต่อชุมชน โดยกระบวนการศึกษารายละเอียดต่าง ๆ เพื่อนำมาประกอบการพิจารณานั้น คาดได้ข้อสรุปช่วงเดือนพฤษภาคม 2569 ส่วนภายหลังจากนั้นจะเริ่มแนวทางการพัฒนาต่อไป แต่ในส่วนพื้นที่ที่เหลืออีกประมาณ 1,833 ไร่ จาก 2,353 ไร่นั้น ยังคงอยู่ในแผนการพัฒนาเช่นกัน แต่จะเริ่มไปทีละระยะ หากมีความคืบหน้าจะแจ้งให้ประชาชนได้ทราบโดยทันที