ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวระดับต่ำ หลังโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ส.ค. 68 

ผู้ชมทั้งหมด 133 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ หลังโอเปกพลัสมีมติปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ส.ค. 68 และความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ ต่อนานาประเทศ คาด เวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 61-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 11 ก.ค. 68 – 17 ก.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำเนื่องจากตลาดยังเผชิญแรงกดดันจากโอเปกพลัสที่ประกาศเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 548,000 บาร์เรล/วันในเดือน ส.ค. 68 จากระดับ 411,000 บาร์เรล/วันในเดือน พ.ค. – ก.ค. 68 สะท้อนมุมมองเชิงบวกของโอเปกพลัสต่อเศรษฐกิจโลกและปัจจัยพื้นฐานของตลาดที่ยังคงแข็งแกร่ง โดยเฉพาะระดับสต็อกน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่นักวิเคราะห์คาดว่าโอเปกพลัสอาจปรับเพิ่มกำลังการผลิตอีก 550,000 บาร์เรล/วัน ในเดือน ก.ย. 68 เป็นการยกเลิกมาตรการ   ลดการผลิตแบบสมัครใจจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันทั้งหมด ในขณะที่ทางด้านสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ โดยเลื่อนการบังคับใช้มาตรการภาษีใหม่ไปเป็น 1 ส.ค.เพื่อเปิดโอกาสให้มีการเจรจาการค้าให้แล้วเสร็จ

ขณะเดียวกัน EIA ปรับลดคาดการณ์การผลิตน้ำมันของสหรัฐฯ ในปี 2568 เหลือ 13.37 ล้านบาร์เรล/วัน แต่ยังคาด  อุปสงค์น้ำมันโลกเติบโตต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงทวีความรุนแรงเนื่องจากเกิดเหตุโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดง ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรกในรอบปี

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

•ตลาดยังคงเผชิญแรงกดดันเนื่องจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน และชาติพันธมิตร หรือ โอเปกพลัสเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบที่ระดับ 548,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ส.ค. 68 ซึ่งสูงกว่าระดับเดิมที่ 411,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน พ.ค-ก.ค. ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ได้พิจารณาจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและปัจจัยพื้นฐานของตลาดในปัจจุบันที่ยังคงแข็งแกร่ง ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากสต็อกน้ำมันที่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ Goldman Sachs คาดการณ์ว่า โอเปกพลัสมีแนวโน้มที่จะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันอีก 550,000 บาร์เรลต่อวัน ในเดือน ก.ย.68 ซึ่งเป็นการยกเลิกมาตรการลดกำลังการผลิตแบบสมัครใจจำนวน 2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้ โอเปกพลัสระบุว่ากำลังดำเนินการปรับเปลี่ยนนโยบายการผลิต โดยมุ่งเน้นไปสู่การสร้างสมดุลในระยะยาวมากขึ้น ด้วยการปรับกำลังการผลิตสำรองและส่วนแบ่งทางการตลาดกลับสู่สภาวะปกติ และเพื่อรับมือกับการแข่งขันจากการผลิตน้ำมันจากชั้น shale oil ของสหรัฐฯ อีกด้วย

•ตลาดจับตาการดำเนินการเรียกเก็บภาษีของสหรัฐฯ อย่างใกล้ชิด โดย นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ยังคงเดินหน้าจัดเก็บภาษีนำเข้าตอบโต้กับประเทศคู่ค้าของสหรัฐฯ โดยให้เหตุผลว่าเพื่อฟื้นฟูภาคการผลิตภายในประเทศ สร้างรายได้ให้แก่รัฐผ่านการจัดเก็บภาษี และป้องกันการเอาเปรียบทางการค้าจากประเทศคู่ค้า โดยล่าสุด รัฐบาลสหรัฐฯ ได้ประกาศเลื่อนการบังคับใช้อัตราภาษีตอบโต้เป็นวันที่ 1 ส.ค. เนื่องจากเดิมกำหนดไว้วันที่ 9 ก.ค. โดยให้เหตุผลว่ากำลังเจรจาข้อตกลงการค้ากับประเทศคู่ค้าหลักอยู่ ขณะเดียวกัน โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศภาษีนำเข้าสินค้าอัตราใหม่ 14 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่ถูกเรียกเก็บภาษีที่อัตราร้อยละ 36 นอกจากนี้ ได้ประกาศว่า จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมในอัตราร้อยละ 10 ต่อประเทศใดก็ตามที่ดำเนินนโยบายสอดคล้องหรือมีท่าทีสนับสนุนกลุ่มประเทศ BRICS ซึ่งสหรัฐฯ มองว่าเป็นแนวทางที่เป็นปฏิปักษ์ต่อผลประโยชน์ของตนเอง

•สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) ได้ปรับลดคาดการณ์ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2568 มาอยู่ที่ระดับ 13.37 ล้านบาร์เรลต่อวัน ลดลงจากรายงานครั้งก่อนหน้าที่ระดับ 13.42 ล้านบาร์เรลต่อวันเนื่องจากผู้ผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ยังคงกังวลต่อการออกมาตรการภาษีครั้งใหม่ของสหรัฐฯ ประกอบกับทางด้านกลุ่มโอเปกพลัสที่มีการเร่งปรับเพิ่มกำลังการผลิตมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ ขณะเดียวกัน ในด้านอุปสงค์ ทาง EIA ยังคงคาดการณ์ว่าความต้องการใช้น้ำมันโลกในปี 2568 ปรับเพิ่มขึ้น 0.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 103.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน และปรับเพิ่มขึ้น 1.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน อยู่ที่ระดับ 104.6 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2569 โดยคงที่จากคาดการณ์ครั้งก่อน

•นอกจากนี้สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางยังคงมีความตึงเครียดเนื่องจากเกิดเหตุการโจมตีเรือพาณิชย์ในทะเลแดงติดต่อกันหลายวัน โดยล่าสุดมีรายงานผู้เสียชีวิตเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ มิ.ย. 67 โดยกลุ่มฮูตีในเยเมนได้ใช้โดรนทางทะเลและเรือเร็วติดอาวุธโจมตีเรือพาณิชย์ Eternity C ขณะแล่นอยู่บริเวณทะเลแดงใกล้ชายฝั่งเยเมน ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ

•ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานประจำเดือน มิ.ย. 68 ดัชนีการผลิตรัฐนิวยอร์กประจำเดือน ก.ค. 68 ดัชนีราคาผู้ผลิตพื้นฐานประจำเดือนมิ.ย. 68  ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ข้อมูลการส่งออกและนำเข้าของจีน เดือน มิ.ย. 68 ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ รายไตรมาสที่ 2 ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน มิ.ย. 68 ดัชนียอดค้าปลีก ประจำเดือนมิ.ย. 68  อัตราการว่างงาน ประจำเดือน มิ.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีการผลิตภาคอุตสาหกรรม ประจำเดือน พ.ค. 68 ดุลการค้าประจำเดือน พ.ค. 68 ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานประจำเดือน มิ.ย. 68

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 61-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 63-73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 4 – 10 ก.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.54 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 66.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.64 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้น้ำมันในสหรัฐฯ ปรับสูงขึ้นอย่างมากจากการเดินทางทั้งทางบกและทางอากาศที่ปรับสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ในการเฉลิมฉลองวันชาติสหรัฐฯ ในวันที่ 4 ก.ค. 68 ที่ผ่านมา อีกทั้งตลาดยังคงกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งในทะเลแดงที่ยังคงครุกรุ่นอย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันจันทร์ที่ 7 ก.ค. 68 กลุ่มกบฏฮูติอ้างว่าได้โจมตีเรือขนส่ง Magic seas ในทะเลแดง และมีรายงานว่าเรือดังกล่าวได้จมสู่ทะเลแดง อย่างไรก็ตาม ตลาดยังคงได้รับแรงกดดันหลังตลาดคาด OPEC+ จะปรับเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบ เดือน ส.ค. 68 และเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ทั้งนี้ กลุ่มจะมีการประชุมแผนการปรับน้ำมันดิบในวันเสาร์ที่ 5 ก.ค. 68 นี้ ซึ่งหากเป็นไปตามที่นักวิเคราะห์คาดการณ์จะส่งผลให้อุปทานน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น และกดดันราคาน้ำมันดิบ ขณะเดียวกัน เศรษฐกิจโลกยังคงเผชิญความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ซึ่งอาจกลับมาเรียกเก็บในระดับสูงอีกครั้งหลังสิ้นสุดช่วงระงับมาตรการเรียกเก็บภาษีในวันที่ 9 ก.ค. 68 โดยการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐฯ กับคู่ค้าหลักอย่างยุโรปและญี่ปุ่นยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลง ส่งผลให้ตลาดกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมันดิบที่จะชะลอตัวลงได้ นอกจากนี้ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 4 ก.ค. 68 ปรับเพิ่มขึ้น 7.07 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 426 ล้านบาร์เรล ซึ่งสวนทางจากที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 2.1 ล้านบาร์เรล