ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวระดับต่ำ เหตุกังวลมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ  ที่มีผล 1 ส.ค. นี้ 

ผู้ชมทั้งหมด 157 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้ทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ จากความกังวลต่อมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ  ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ส.ค. นี้ คาดเวสต์เท็กซัส จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผย บทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 25 – 31 ก.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มทรงตัวในระดับต่ำจากความไม่แน่นอนของมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและอุปสงค์น้ำมัน แม้ว่าล่าสุดการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปมีแนวโน้มใกล้บรรลุข้อตกลงมากขึ้น โดย เฟดคาดว่าจะคงอัตราดอกเบี้ยในเดือน ก.ค. ท่ามกลางความเสี่ยงเงินเฟ้อจากภาษีศุลกากรระดับสูง ขณะเดียวกันตลาดคาดโอเปกพลัสเตรียมเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตในระดับสูงต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ดี ตลาดคาดจีนมีแนวโน้มเพิ่มการนำเข้าน้ำมันจาก ค่าการกลั่นที่ดีขึ้น ขณะที่การเจรจานิวเคลียร์กับอิหร่านยังคงมีความไม่แน่นอนและอาจนำไปสู่มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมจากกลุ่มประเทศ E3 

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

· ตลาดจับตาผลกระทบมาตรการภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ที่ใกล้ครบกำหนดเส้นตายในวันที่ 1 ส.ค. 68 ที่อาจกดดันเศรษฐกิจทั่วโลกและกดดันความต้องการใช้น้ำมัน โดยล่าสุด ตลาดคาดการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใกล้บรรลุข้อตกลงทางการค้า และคาดว่าสหรัฐฯ จะลดกำแพงภาษีสินค้าจากยุโรปจากเดิมที่ 30% เหลือ 15% ทั้งนี้ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้าได้ คณะกรรมาธิการยุโรปมีแผนที่จะดำเนินมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ต่อสหรัฐฯ โดยอาจพิจารณาเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติมกับสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่ารวมกว่า 9.3 หมื่นล้านยูโร  

· ตลาดคาดธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 4.25-4.50% ในการประชุมวันที่ 29-30 ก.ค. 68 โดยข้อมูลจาก CME Fed Watch Tool คาดว่าเฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งในปีนี้ โดยคาดว่าจะลดลงครั้งละ 0.25% ในการประชุมเดือน ก.ย. 68 และ ธ.ค. 68 ตามลำดับ ทั้งนี้ นักวิเคราะห์หลายฝ่ายคาดว่าภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เงินเฟ้อปรับเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ Bank of America คาดว่าเฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับเดิมในปี 68 จากเงินเฟ้อที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นหลังได้รับผลกระทบเรื่องมาตรการภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ 

· กลุ่มโอเปกพลัสจะจัดการประชุมขึ้นในวันที่ 3 ส.ค. 68 โดยตลาดคาดว่าโอเปกพลัสจะเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตในระดับสูงที่ราว 550,000 บาร์เรลต่อวันในเดือน ก.ย. 68 ส่งผลให้โอเปกพลัสสามารถบรรลุแผนการปรับเพิ่มกำลังการผลิตจำนวน  2.2 ล้านบาร์เรลต่อวันได้ภายในเดือน ก.ย. 68 ซึ่งเร็วกว่ากำหนดการเดิมที่จะสิ้นสุดในเดือน ก.ย. 69 ทั้งนี้ อุปทานน้ำมันดิบที่ปรับเพิ่มต่อเนื่องในไตรมาส 3/68 และ 4/68 ท่ามกลางความไม่แน่นอนของอุปสงค์น้ำมันโลกจากมาตรการภาษีของสหรัฐฯ ยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดน้ำมันอย่างต่อเนื่อง 

· การเจรจานิวเคลียร์ระหว่างอิหร่านกับกลุ่มประเทศ E3 (อังกฤษ ฝรั่งเศส เยอรมนี) ยังคงมีความไม่แน่นอน แม้ว่าหลายฝ่ายได้เปิดฉากการเจรจาตั้งแต่เดือน ก.ย. 67 ที่ผ่านมาเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ อย่างไรก็ดี ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมากลุ่มประเทศ E3 ได้ออกมาขู่ว่าจะนำมาตรการคว่ำบาตรที่ยกเลิกไปก่อนหน้านี้กลับมาบังคับใช้อีกครั้งหากอิหร่านไม่ปฏิบัติตามข้อตกลง ขณะที่ฝั่งอิหร่านเองก็กล่าวว่าพร้อมจะตอบโต้หากมีการใช้มาตรการดังกล่าว 

· ตลาดคาดตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบของจีนมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น หลังโรงกลั่นในประเทศเพิ่มอัตราการผลิตจากค่าการกลั่นที่ปรับเพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยหน่วยงานศุลกากรของจีนเปิดเผยตัวเลขการนำเข้าน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 68 เพิ่มขึ้น 7.4% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ระดับ 12.14 ล้านบาร์เรลต่อวัน และตัวเลขนำเข้าน้ำมันดิบจากซาอุดีอาระเบียปรับเพิ่มขึ้นกว่า 16% เทียบปีก่อนหน้ามาอยู่ที่ราว  1.9  ล้านบาร์เรลต่อวัน

· ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2/68  ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล เดือน มิ.ย. 68 การเปลี่ยนแปลงในการจ้างงานภาคนอกการเกษตรจากเอดีพี เดือน ก.ค. 68 รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี เดือน ก.ค. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการภาคการผลิต เดือน ก.ค. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีจีดีพีไตรมาส 2/68 อัตราการว่างงาน เดือน มิ.ย. 68 ดัชนีผู้จัดการภาคการผลิต เดือน ก.ค. 68 และ ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ค. 68  

ทั้งนี้ ไทยออยล์คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 62-72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 64-74 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 18 – 24 ก.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 0.77 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 66.41 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 0.31 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 68.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล โดยราคาได้รับแรงกดดันหลังอินเดียเปิดเผยตัวเลขการนำน้ำมันดิบเข้ากลั่นใน เดือน มิ.ย. 68 ปรับลดลง 4.2% เมื่อเทียบ เดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 5.41 ล้านบาร์เรลต่อวันจากอุปสงค์ภายในประเทศลดลงในช่วงฤดูมรสุม ขณะเดียวกัน โอเปกเผยว่า อิหร่านผลิตน้ำมันดิบในเดือน มิ.ย. 68 ลดลง 62,000 บาร์เรลต่อวันเมื่อเทียบเดือนก่อนหน้ามาอยู่ที่ 3.24 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากเหตุการณ์อิสราเอลโจมตีอิหร่าน 

ขณะที่ฝั่งสหภาพยุโรปสามารถบรรลุข้อตกลงมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียครั้งที่ 18 พร้อมลดการจำกัดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียจากเดิมที่ 60 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ระดับ 45-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลหรือต่ำกว่าราคาตลาดประมาณ 15% โดยจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 3 ก.ย. 68 และห้ามนำเข้าน้ำมันสำเร็จรูปที่กลั่นจากน้ำมันดิบของรัสเซีย โดยกำหนดให้มีระยะเวลาการเปลี่ยนผ่าน 6 เดือน 

ทั้งนี้ ตลาดคาดมาตรการดังกล่าวมุ่งเป้าไปที่โรงกลั่น Nayara ของอินเดียซึ่งมีบริษัทน้ำมัน Rosneft ของรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นหลัก อีกทั้งคาดว่ามาตรการดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อตลาดไม่มากเนื่องจากเป็นการพุ่งเป้าไปที่โรงกลั่นแห่งหนึ่งในอินเดียเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีแรงหนุนจากค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่อ่อนตัวลงต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้น้ำมันดิบที่ซื้อขายด้วยสกุลเหรียญสหรัฐฯ มีความน่าสนใจสำหรับผู้ซื้อที่ถือสกุลอื่นมากขึ้น 

ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 18 ก.ค. 68 ปรับลดลง 3.2 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 419 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะปรับลดลง 1.66 ล้านบาร์เรล