ผู้ชมทั้งหมด 96
ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มฟื้นตัว หลังสหรัฐฯ และจีนบรรลุข้อตกลงลดกำแพงภาษี ท่ามกลางอุปทานที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกลุ่ม OPEC+ คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 58-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์ เคลื่อนไหวที่กรอบ 61-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 16 – 22 พ.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีน สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะลดกำแพงภาษีเป็นระยะเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 14 พ.ค.68 เป็นต้นไป ขณะที่กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรกว่า 20 บริษัท ที่ถูกกล่าวหาว่าทำงานร่วมกับอิหร่าน นอกจากนี้ ธนาคารกลางยุโรปคาดจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5% ภายในปี 2568
อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงไม่มีแผนปรับลดดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นทิศทางเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประเทศชัดเจนขึ้น ขณะที่กำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัสคาดจะปรับเพิ่มขึ้น 0.41 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือน มิ.ย. 68

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย
- เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น หลังสหรัฐฯ และจีน สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันที่จะลดกำแพงภาษีลงฝ่ายละ 115% เป็นระยะเวลา 90 วัน โดยมีผลตั้งแต่วันที่14 พ.ค.68 เป็นต้นไป สำหรับภาษีนำเข้าสินค้าจีนของสหรัฐฯ ลดเหลือ 30% จาก145% ขณะที่จีนลดภาษีนำเข้าสินค้าสหรัฐฯ เหลือ 10% จาก 125% หนุนความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจโลก
- อุปทานน้ำมันดิบมีแนวโน้มตึงตัวมากขึ้น หลังเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 68 กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรกว่า 20 บริษัทที่ถูกกล่าวหาว่าทำงานร่วมกับอิหร่าน เพื่อส่งออกน้ำมันดิบจากอิหร่านไปยังจีน นอกจากนี้ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศระหว่างการเยือนซาอุดีอาระเบียว่าพร้อมเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรหากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ใหม่ได้ โดยสหรัฐฯ ต้องการให้อิหร่านยุติการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม เพื่อไม่ให้พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ อย่างไรก็ดี อิหร่านจะพัฒนาโครงการนิวเคลียร์ในประเทศต่อไป ทั้งนี้ รมว.กระทรวงการต่างประเทศโอมาน นาย Badr Al Busaidi กล่าวว่าการเจรจารอบถัดไป จะมีขึ้นหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายได้หารือกับผู้นำประเทศ
- ธนาคารกลางยุโรปมีแนวโน้มจะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก 0.5% ภายในปี 2568 เนื่องจากคาดว่าเงินเฟ้อจะลดลงสู่ระดับเป้ามายที่ระดับ 2% ในปี 2568 และลดลงสู่ระดับ 1.7%-1.8% ในไตรมาส 1/69 อย่างไรก็ตาม ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ยังคงไม่มีแผนปรับลดดอกเบี้ย จนกว่าจะเห็นทิศทางเงินเฟ้อและนโยบายการค้าของประเทศชัดเจนขึ้น ปัจจุบันตลาดคาดการณ์ Fed จะลดดอกเบี้ย 2 ครั้งในปีนี้ จากเดิมที่คาดไว้ว่าจะลดดอกเบี้ย 3 ครั้ง โดยจะลดครั้งแรกในเดือน ก.ย. 68 แม้ว่ากระทรวงแรงงานสหรัฐฯ รายงานดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือน เม.ย. 68 เพิ่มขึ้น 2.3% น้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 2.4% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว
- ตลาดน้ำมันดิบมีแนวโน้มถูกกดดันจากแผนเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของกลุ่มโอเปคพลัสในเดือนพ.ค.และ มิ.ย. 68 โดยตลาดคาดการณ์ว่ากำลังการผลิตของกลุ่มโอเปคพลัสจะปรับเพิ่มขึ้น 0.41 ล้านบาร์เรลต่อวันในเดือน มิ.ย. 68 ทั้งนี้ Saudi Aramco ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดีอาระเบีย มีแผนจะส่งออกน้ำมันดิบไปยังจีนในเดือน พ.ค. และ มิ.ย. 68 เฉลี่ยอยู่ที่ 1.6 ล้านบาร์เรลต่อวัน สูงสุดในรอบกว่า 1 ปี ขณะที่อิรักคาดส่งออกน้ำมันดิบในเดือน พ.ค. 68 ลดลง 0.1 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับเดือน เม.ย. 68 อยู่ที่ระดับ 3.2 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยเป็นการจะลดลงติดต่อกัน 2 เดือน เนื่องจากอิรักพยายามปฏิบัติตามแผนชดเชยการลดปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ ที่ให้คำมั่นไว้กับกลุ่ม OPEC+
- ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ เดือน พ.ค. 68 ยอดขายบ้านปัจจุบัน เดือน เม.ย. 68 และยอดขายบ้านใหม่ เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ อัตราเงินเฟ้อ เดือน เม.ย. 68 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 68 ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 68 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคบริการ เดือน พ.ค. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีราคาบ้าน เดือน เม.ย. 68 ผลผลิตภาคอุตสาหกรรม เดือน เม.ย. 68 ยอดขายปลีก เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขการว่างงาน เดือน เม.ย. 68 และเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เดือน เม.ย. 68
ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 61-71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 9 – 15 พ.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับเพิ่มขึ้น 1.71 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 61.62 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับเพิ่มขึ้น 1.69 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.53 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 63.73 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล หลังอิสราเอลยืนยันยังไม่มีข้อตกลงหยุดยิง และประกาศเดินหน้าปฏิบัติการทางทหารต่อไป แม้ฮามาสเตรียมปล่อยตัวประกันชาวอเมริกัน ในวันที่ 12 พ.ค. 68 หลังการหารือร่วมกัน 4 ฝ่าย ระหว่างฮามาส สหรัฐฯ อียิปต์ และกาตาร์ นับเป็นสัญญาณที่ดีที่อาจนำไปสู่การเจรจาหยุดยิงอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม ไนจีเรียรายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบเดือน เม.ย. 68 เพิ่มขึ้น 0.08 ล้านบาร์เรลต่อวันเทียบกับเดือน มี.ค. 68 อยู่ที่ระดับ 1.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบ 3 ปีครึ่ง หลังบริษัท Seplat Energy ของไนจีเรียได้กลับมาดำเนินการหลุมน้ำมันที่เคยหยุดดำเนินการ 10 หลุม และมีแผนจะเปิดดำเนินการอีก 400 หลุมภายในปี 2568
ทั้งนี้ โควตาการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียภายใต้ข้อตกลง OPEC+ อยู่ที่ระดับ 1.50 ล้านบาร์เรลต่อวัน ขณะที่สำนักพลังงานแห่งชาติของอาร์เจนตินารายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในเดือน มี.ค. 68 เพิ่มขึ้น 10.3% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว มาอยู่ที่ระดับ 0.75 ล้านบาร์เรลต่อวัน หลังปริมาณการผลิตในแหล่ง Vaca Muerta ปัจจุบันมีกำลังการผลิตขนาด 0.44 ล้านบาร์เรลต่อวัน โดยคาดว่าจะเพิ่มกำลังการผลิตมาอยู่ที่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวันในปี 2573 ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 9 พ.ค. 68 เพิ่มขึ้น 3.5 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 441.8 ล้านบาร์เรลสวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง2.0 ล้านบาร์เรล ส่งผลให้นักลงทุนเกิดความกังวลต่อภาวะอุปทานส่วนเกิน