ผู้ชมทั้งหมด 71
คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดราคาเป้าหมายสำหรับค่าไฟฟ้างวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย โดยมอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแลให้ คณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ร่วมกันดูแลกันดำเนินการกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อให้ปรับลดค่าไฟฟ้าตามราคาเป้าหมายให้ได้ภายใน 45 วันนับจากวันที่ 1 เมษายน 2568
ตามที่ครม. มีมติให้ลดค่าไฟฟ้าจาก 4.15 บาทให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยให้มีผลในทางปฏิบัติในรอบบิลเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 นั้นล่าสุด เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2568 ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราค่าไฟฟ้า งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2568 เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วย จากมติกกพ. วันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่มีการตรึงค่าไฟไว้ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยการปรับลดค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ เป็นไปตามมติ ครม. ที่กำหนดกรอบเป้าหมายค่าไฟฟ้าไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย
โดยการปรับลดค่าไฟฟ้าในครั้งนี้ทางกกพ.ให้นำเงินเรียกคืนของผลประโยชน์ส่วนเกิน (Claw Back) หรือ เงินที่เกิดจากการลงทุนที่ไม่เป็นไปตามแผนของ 3 การไฟฟ้า ที่มีอยู่ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่ให้นำมาใช้ลดค่าไฟฟ้า เพียง 12,200 ล้านบาท หรือ ลดค่าไฟฟ้าได้ 17 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตร 34 (2) กำหนดให้นำมาใช้ได้ในช่วงเกิดวิกฤต จึงเป็นช่วงที่เหมาะสม เพื่อลดภาระประชาชน
การที่กระทรวงพลังงานนำเงิน Claw Back ไปอุดหนุนราคาค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.98 บาทต่อหน่วยนั้นส่งผลให้เงิน Claw Back เหลือ 7,800 ล้านบาท หากค่าไฟฟ้าในงวดเดือนกันยายน – ธันวาคม 2568 ต้องใช้เงิน Claw Back ไปอุดหนุนค่าไฟฟ้าก็อาจจะทำให้มีเงินไม่เพียงพอมาช่วยแก้วิกฤตพลังงานที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ซึ่งการเรียกเก็บเงิน Claw Back ก็อาจจะต้องใช้ระยะเวลา 2 ปี ถึงมีเงินสะสมเพียงพอรองรับวิกฤต
สำหรับคนที่ได้ประโยชน์จากการปรับลดค่าไฟฟ้านั้น นอกจากประชาชน ภาคเอกชน แล้ว รัฐบาลการนำของพรรคเพื่อไทย และพรรครวมไทยสร้างชาติที่เป็นเจ้ากระทรวงพลังงานก็จะได้คะแนนนิยมไปเต็มๆ แต่หน่วยงานที่ปิดทองหลังพระ คือ กฟผ.ที่ต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าไฟฟ้า ซึ่งในขณะนี้กฟผ. แบกรับค่าไฟฟ้าแทนประชาชนอยู่ประมาณ 60,474 ล้านบาท ประชาชนหลายคนอาจจะยังไม่ทราบเรื่องนี้ ดังนั้นถ้าหากจะให้กฟผ. เป็นหน่วยงานหลักในการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าไทยนั้นรัฐบาลจะต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้สนับสนุนให้กฟผ.มีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าไม่ต่ำกว่า 51% จากปัจจุบันมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าเพียง 31.26%