ผู้ชมทั้งหมด 93
“สำนักงาน กกพ.” ปลดล็อกข้อจำกัด ลดขั้นตอนกระบวนการจดแจ้งยกเว้นฯ ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า สำหรับกิจการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวมของแต่ละแหล่งผลิต ต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. 2568 เป็นต้นไป

ดร.พูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกพ. ได้ออกประกาศ “เรื่อง ขั้นตอนการรับแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า พ.ศ. 2568” โดยมีการปรับปรุงขั้นตอนเพื่อให้เกิดความชัดเจนในทางปฏิบัติและลดขั้นตอนการรับแจ้งให้เกิดความรวดเร็วและสะดวกยิ่งขึ้น สาระสำคัญของประกาศฉบับนี้ คือ การยกเว้นการขอรับใบอนุญาต สำหรับกิจการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวมของแต่ละแหล่งผลิต ต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ไฟฟ้าในกิจการของตนเอง หรือผลิตเพื่อจำหน่ายไฟฟ้า ซึ่งประกาศดังกล่าว มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2568 เป็นต้นไป
“กกพ. เดินหน้าสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีมติลดขั้นตอนในการยกเว้นการจดแจ้งโซลาร์เซลล์ทั้งผลิตเพื่อใช้เองและผลิตไว้เพื่อขาย คาดว่าจะทำให้ประชาชนและผู้ประกอบการได้รับความสะดวกอย่างเต็มที่ มีการใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอย่างแพร่หลาย โดยหวังว่าจะช่วยลดภาระค่าพลังงาน ค่าครองชีพ และยังจะเป็นการสนับสนุนการเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาดลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนได้อีกทางหนึ่งด้วย”
สำหรับประกาศดังกล่าว สำนักงาน กกพ. ได้ดำเนินการยกเลิกประกาศ เรื่อง ขั้นตอนการรับแจ้ง
การประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า (ลงวันที่ 28 กันยายน 2565) โดยให้กิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตการประกอบกิจการไฟฟ้า ซึ่งเป็นกิจการที่ต้องแจ้งต่อสำนักงาน กกพ. ให้ดำเนินการ ดังต่อไปนี้
1. กิจการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตต่ำกว่า 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ และไม่ต้องขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2)
สำหรับกรณีที่ 1 กรณีเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย
ผู้ประกอบกิจการพลังงานสามารถยื่นคำขอตรวจสอบแบบและระบบไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ผ่านระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (ถือว่าได้ยื่นคำขอแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตฯ) และการไฟฟ้าจะส่งข้อมูลเมื่อผ่านการพิจารณามายังสำนักงาน กกพ. เพื่อแจ้งผลการแจ้งยกเว้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการยกเว้นบนเว็บไซต์สำนักงาน www.erc.or.th

สำหรับกรณีที่ 2 กรณีเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้อื่นที่มิใช่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ผู้ประกอบกิจการพลังงานสามารถยื่นคำขอแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้น
ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตฯ พร้อมหนังสือรับพิจารณาการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดยทำผ่านระบบของสำนักงาน กกพ. www.erc.or.th และทางสำนักงาน กกพ. จะแจ้งผลเมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนภายใน 5 วันและประกาศรายชื่อบนเว็บไซต์ต่อไป

2. กิจการผลิตไฟฟ้าที่มีขนาดกำลังการผลิตรวมของแต่ละแหล่งผลิตตั้งแต่ 200 กิโลโวลต์แอมแปร์ ขึ้นไปแต่ต่ำกว่า 1,000 กิโลโวลต์แอมแปร์ และต้องขอรับใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2)
สำหรับกรณีที่ 1 กรณีเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ผู้ประกอบกิจการพลังงานสามารถยื่นคำขอตรวจสอบแบบและระบบไฟฟ้า เพื่อเชื่อมต่อเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ผ่านระบบของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (ให้ถือว่าได้ยื่นคำขอแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขอรับใบอนุญาตฯ) และการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะตรวจสอบการเชื่อมต่อระบบไฟฟ้า หากเชื่อมต่อระบบการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายได้ จะส่งข้อมูลมายังสำนักงาน กกพ. เพื่อแจ้งผลการแจ้งยกเว้นผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ และประกาศรายชื่อผู้ได้รับการยกเว้นบนเว็บไซต์สำนักงาน www.erc.or.thเมื่อผู้ประกอบการได้ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์แล้วเสร็จ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม (พค.1) มายังสำนักงาน กกพ. เพื่อใช้ประกอบเอกสารในการส่งต่อไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) สำหรับประกอบการอนุญาตของ กกพ. ต่อไป

สำหรับกรณีที่ 2 กรณีเชื่อมต่อระบบไฟฟ้ากับระบบโครงข่ายไฟฟ้าของผู้อื่นที่มิใช่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ผู้ประกอบกิจการพลังงานสามารถยื่นคำขอแจ้งการประกอบกิจการพลังงานที่ได้รับการยกเว้นฯ พร้อมหนังสือรับพิจารณาการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้า โดยทำผ่านระบบของสำนักงาน กกพ. www.erc.or.th และทางสำนักงาน กกพ. จะแจ้งผลเมื่อได้รับเอกสารครบถ้วนภายใน 5 วันและประกาศรายชื่อบนเว็บไซต์ต่อไป เมื่อผู้ประกอบการได้ติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์แล้วเสร็จ ให้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตผลิตพลังงานควบคุม (พค.1) มายังสำนักงาน กกพ. เพื่อใช้ประกอบเอกสารในการส่งต่อไปยังกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน เพื่อขอความเห็นประกอบการพิจารณาออกใบอนุญาตให้ผลิตพลังงานควบคุม (พค.2) สำหรับประกอบการอนุญาตของ กกพ. ต่อไป
