ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป บทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส ไทยต้องเรียนรู้อะไร …?

ผู้ชมทั้งหมด 86 

เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่ผ่านมาเกิดวิกฤตไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ (Blackout) ทั่วกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาของประเทศสเปน และเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รวมถึงบางส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ซึ่งบริษัท Redes Energéticas Nacionais (REN) ผู้ดูแลโครงข่ายไฟฟ้าของโปรตุเกส และบริษัท Red Eléctrica de España (REE) เป็นผู้ดูแลโครงข่ายไฟฟ้าของสเปน ระบุเหตุการณ์ไฟฟ้าดับนั้นเกิดจากบรรยากาศผิดปกติ ซึ่งมีต้นเหตุมาจากความแปรปรวนของอุณหภูมิ (Temperature Fluctuation) อย่างรวดเร็วในพื้นที่ประเทศสเปนทำให้สายส่งไฟฟ้าที่เชื่อมโยงระหว่างสเปนและฝรั่งเศสขัดข้องไม่สามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ ส่งผลให้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าในสเปนไม่มีเสถียรภาพ และลุกลามบานปลายไปยังสายส่งเชื่อมโยงระหว่างสเปน-โปรตุเกสจนเกิดเหตุขัดข้องจ่ายกระแสไฟฟ้าไม่ได้ตามไปอีก เมื่อระบบไฟฟ้าขาดความเสถียรจึงเป็นเหตุให้โรงไฟฟ้าปลดตัวเองออกจากระบบผลิต เกิดไฟฟ้าดับเป็นบริเวณกว้าง

ทั้งนี้จากเหตุการณ์ไฟฟ้าดับครั้งใหญ่นั้นส่งผลกระทบต่อการใช้ไฟฟ้าของบ้านเรือนและสำนักงาน ระบบขนส่งสาธารณะต้องหยุดให้บริการ เที่ยวบินถูกยกเลิก โรงพยาบาลยกเลิกการผ่าตัด การสื่อสารทางอินเทอร์เน็ตและโทรศัพท์มือถือถูกรบกวนอย่างรุนแรง และแม้แต่การแข่งขันเทนนิสมาดริดโอเพ่นต้องหยุดชะงักสร้างความโกลาหลให้กับประชาชนหลายล้านคน และความเสียหายทางเศรษฐกิจมหาศาล แต่สิ่งที่มากไปกว่านั้นก็คือ บทเรียนราคาแพงที่หลายประเทศต้องตระหนักถึงสาเหตุสำคัญของการเกิดไฟฟ้าดับ

โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหนุนความมั่นคงระบบไฟฟ้าไทย

อย่างไรก็ตามจากข้อมูลสถิติของ European Network of Transmission System Operators for Electricity (ENTSO-e) ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้ควบคุมระบบส่งไฟฟ้าแห่งยุโรป แสดงให้เห็นว่าจากความแปรปรวนของอุณหภูมิทำให้มีการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอย่างมากจาก 9,544 เมกะวัตต์ ในวันที่ 17 มีนาคม 2568 เพิ่มเป็น 19,060 เมกะวัตต์ ในวันที่ 28 เมษายน 2568 ที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับ คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 76.5% ของความต้องการใช้ไฟฟ้า ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงเดินเครื่องอยู่เพียง 7.3% ของกำลังผลิตติดตั้ง (สเปนมีกำลังผลิตติดตั้งของโรงไฟฟ้าประเภทก๊าซธรรมชาติ 29,943 เมกะวัตต์)

โดยในช่วงที่เกิดเหตุไฟฟ้าดับในสเปนพบว่า กำลังการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมหายไปจากระบบอย่างเฉียบพลัน 14,280 เมกะวัตต์ ภายใน 5 วินาที หรือเทียบเท่า 60% ของความต้องการใช้พลังงานทั้งประเทศ ซึ่งเป็นปริมาณไฟฟ้าที่มากเกินกว่าจะกู้คืนระบบได้ในระยะเวลาที่รวดเร็ว เมื่อระบบไฟฟ้าในสเปนล้มจึงส่งผลกระทบไปยังประเทศข้างเคียงเพราะสเปนมีการส่งไฟฟ้าไปยังโปรตุเกสมากถึง 2,119 เมกะวัตต์ และฝรั่งเศส 761 เมกะวัตต์ ซึ่งจากข้อมูลนี้แสดงให้เห็นว่าการพึ่งพาพลังงานทดแทนมากเกินไปก็เป็นปัจจัยเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านไฟฟ้า

ดังนั้นหากมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนปริมาณมากก็จำเป็นต้องมีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงที่เดินเครื่องเป็นกำลังผลิตสำรองพร้อมจ่าย (Spinning Reserve) รองรับให้มากพอเช่นกัน เพราะโรงไฟฟ้าที่เป็น Spinning Reserve สามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้ในเวลารวดเร็วเพื่อช่วยรักษาความถี่ของระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้อยู่ในเกณฑ์ หากมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทยจะเห็นได้ว่า ร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย หรือ แผน PDP 2024 กำหนดให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนค่อย ๆ เพิ่มขึ้นเป็น 51% ในช่วงปลายแผนในปี 2580 เพื่อส่งเสริมให้มีระบบกักเก็บพลังงานเพียงพอ ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าหลักเพื่อดูแลระบบไฟฟ้าให้มีความมั่นคง และไม่ให้เกิดความเสี่ยงแบบสเปน

กฟผ.ชัวร์เรื่องความมั่นคงระบบไฟฟ้า

สำหรับไทยนั้นมีหน่วยงานอย่าง การไฟฟ้าผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นหน่วยงานหลักในการกำกับดูแลความมั่นคงระบบไฟฟ้าไม่ว่าจะเป็นการผลิตไฟฟ้า การให้บริการระบบส่งจ่ายไฟฟ้า รวมถึงศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (System Operator: SO) ซึ่งเป็น 3 เรื่องหลักที่กฟผ. ต้องกำกับดูแลให้เกิดความมั่นคง ดังนั้นรัฐบาลจะต้องสนับสนุนอย่างจริงจังให้กฟผ.ได้ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานหลักด้านความมั่นคงไฟฟ้า รวมทั้งพัฒนาระบบไฟฟ้าให้เกิดความยั่งยืน สิ่งสำคัญต้องไม่ให้บริษัทเอกชนรายใหญ่มาแทรกแซงได้ เพื่อรักษาความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ กฟผ. ยังมีการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างต่อเนื่อง เพื่อเสริมประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้า เสริมความมั่นคงไฟฟ้า ซึ่งจากเหตุการณ์ข้างต้นจะเห็นว่าเสถียรภาพของระบบไฟฟ้ากำลังมีความสำคัญมาก กรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน ซึ่งกฟผ. จะมีระบบป้องกันพิเศษที่สามารถปลดโรงไฟฟ้าหรือโหลดที่จุดสำคัญ มีการควบคุมโรงไฟฟ้าที่เป็น Spinning Reserve ให้อยู่ในเกณฑ์ เหมาะสมและเพียงพอกับสัดส่วนของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน รวมถึงมีโรงไฟฟ้าที่เป็นกำลังผลิตสำรองของระบบผลิตไฟฟ้า (Operation Reserve-Standby) ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าในระยะเวลาอันสั้น (Quick Start) และมีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงกระแสตรง (High Voltage Direct Current : HVDC) ที่เป็นเครื่องมือในการรักษาเสถียรภาพของระบบโครงข่ายไฟฟ้า

พร้อมกันนี้ กฟผ. ยังมีการปรับปรุงโรงไฟฟ้าที่มีอยู่เดิมให้มีความยืดหยุ่น (Flexible Power Plant) สามารถเร่งหรือลดการผลิตไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็วเพื่อให้กำลังผลิตไฟฟ้าเพียงพอตามความต้องการในทุกช่วงเวลา ควบคู่กับการพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นระบบกักเก็บพลังงานขนาดใหญ่ มีต้นทุนการผลิตไฟฟ้าต่อหน่วยต่ำ ช่วยลดความผันผวนและรักษาเสถียรภาพของระบบไฟฟ้า โดยสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำตอนล่างไปกักเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำตอนบน และปล่อยกลับมาผลิตไฟฟ้าในเวลาที่ต้องการ โดยปัจจุบัน กฟผ. มีโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ 3 แห่ง คือ เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เขื่อนภูมิพล จ.ตาก และโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จ.นครราชสีมา โดยมีแผนดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับเขื่อนจุฬาภรณ์ จ.ชัยภูมิ กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในกระบวนการที่เกี่ยวข้องก่อนเสนอเสนอ ครม. เพื่อขออนุมัติโครงการต่อไป