ผู้ชมทั้งหมด 161
ในการเดินหน้าประเทศไทยไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี ค.ศ. 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ประกาศเอาไว้ในเวทีโลก พลังงานไฮโดรเจน ถูกจัดวางให้เป็นอีกหนึ่งพลังงานทางเลือกสำคัญที่จะช่วยตอบโจทย์เป้าหมายดังกล่าว โดยในร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ หรือ แผนพีดีพี ที่กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างการจัดทำนั้น มีการระบุไว้ให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงต้องผสมไฮโดรเจนสัดส่วน 5 % ในปริมาณที่ใช้ด้วย โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2030 เป็นต้นไป ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดความต้องการ (Demand) การใช้ไฮโดรเจนเชิงพาณิชย์ขึ้นภายในประเทศ
มาทำความรู้จักกับ “ไฮโดรเจน” กันก่อนว่า ไฮโดรเจน มีดีอย่างไร ภาครัฐจึงเตรียมความพร้อมที่จะมีนโยบายการส่งเสริมให้ใช้เชิงพาณิชย์ในอนาคต
ไฮโดรเจน ถือเป็นธาตุที่เบาที่สุดซึ่งมักรวมอยู่ในโมเลกุลของสารประกอบอื่นๆ เช่น สารประกอบจําพวกไฮโดรคาร์บอน (HC) มีคุณสมบัติทั่วไป คือ ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น ติดไฟง่าย ไม่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ จึงเป็นพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ โดยเป็นเชื้อเพลิงที่เผาไหม้และให้ความร้อนในโรงไฟฟ้าหรือนำไปใช้ในรูปแบบเซลล์เชื้อเพลิง (Fuel Cell) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้านั้น หลายประเทศทั่วโลก เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมนี อังกฤษ ญี่ปุ่น ฯลฯ ได้มีการวิจัยและพัฒนากันอย่างแพร่หลาย โดยหวังว่า ไฮโดรเจน จะเป็นพลังงานทางเลือกในอนาคตที่สำคัญที่จะมาทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ช่วยปลดล็อคปัญหาสภาวะโลกร้อนที่มีแนวโน้มจะทวีความรุนแรงมากขึ้นได้

และเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำถึงการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในทางสากลได้ จึงจำแนกไฮโดรเจนออกเป็นสีต่างๆ ตามกระบวนการในการผลิต ที่สำคัญคือ ไฮโดรเจนสีเทา (Grey Hydrogen) ที่เป็นการผลิตโดยใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติหรือถ่านหิน ซึ่งจุดด้อยของ ไฮโดรเจนสีเทาคือในกระบวนการผลิตจะมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ ถัดมาคือ ไฮโดรเจนสีน้ำเงิน (Blue Hydrogen) ซึ่งมีกระบวนการผลิตเช่นเดียวกับไฮโดรเจนสีเทา แต่แตกต่างกันตรงที่จะมีการกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ (CCS : Carbon Capture and Storage) ที่ถูกปล่อยออกมาเอาไว้ และ ไฮโดรเจนสีเขียว (Green Hydrogen) คือ ไฮโดรเจนที่ผลิตขึ้นโดยใช้ไฟฟ้าจากแหล่งพลังงานสะอาด เช่น พลังงานลม หรือ แสงอาทิตย์ โดยจะจ่ายกระแสไฟฟ้าในกระบวนการแยกน้ำ (H2O) เป็นไฮโดรเจน (H2) และออกซิเจน (O2) ที่เรียกว่า Electrolysis

สำหรับความคืบหน้าในการนำไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ในประเทศไทยนั้น ดร.นรินทร์ เผ่าวณิช รองผู้ว่าการเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงพลังงานไฮโดรเจนว่า เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับกับทิศทางการส่งเสริมพลังงานไฮโดรเจนในอนาคต ทาง กฟผ. มีโครงการนำร่องในการนำพลังงานไฮโดรเจนมาใช้ประโยชน์ 2 โครงการ คือ การผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานลม ที่ศูนย์การเรียนรู้ที่ลำตะคอง และการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ศูนย์การเรียนรู้พระนครเหนือ

ส่วนในร่างแผนพีดีพี (PDP2024) ที่มีการกำหนดให้ใช้ไฮโดรเจนผสมรวมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้านั้นได้มีการเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าของกฟผ. เอาไว้ 2 โรง คือ โรงไฟฟ้าวังน้อย ที่จะมีการขนส่งไฮโดรเจนด้วยรถบรรทุกมาผสมกับก๊าซธรรมชาติที่ขนส่งด้วยระบบท่อ ก่อนที่จะส่งป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้า และอีกโรงคือโรงไฟฟ้าน้ำพอง ที่ กฟผ. เป็นผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติเพียงรายเดียวในระบบท่อ ก็จะเป็นการฉีดไฮโดรเจนเข้าไปผสมกับก๊าซธรรมชาติในท่อที่ส่งเข้าที่โรงไฟฟ้าได้เลย
ดร.นรินทร์ แสดงความคิดเห็นถึงแนวทางการส่งเสริมให้มีการใช้ไฮโดรเจนในประเทศให้เพิ่มมากขึ้นในอนาคตด้วยว่า จะต้องเกิดความต้องการใช้ไฮโดรเจนและมีผู้จัดหาไฮโดรเจนรวมทั้งมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ในจุดที่คุ้มค่าต่อการลงทุน ซึ่งปัจจุบันประเด็นที่เป็นข้อจำกัดในการลงทุนคือ ต้นทุนราคาของไฮโดรเจนที่ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงประเภทอื่นๆ เช่น ก๊าซธรรมชาติ โดยหากเร่งส่งเสริมให้มีการผสมไฮโดรเจนในขณะที่ยังมีต้นทุนสูงก็จะส่งผลกระทบไปถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่กระทบต่อประชาชน
อย่างไรก็ตาม ดร.นรินทร์ เชื่อว่าหลังปี 2030 เป็นต้นไป ราคาไฮโดรเจนมีแนวโน้มจะปรับลดลง จนกระทั่งถึงจุดที่สามารถนำมาผสมรวมไปในเนื้อก๊าซธรรมชาติได้ โดยที่ไม่สร้างภาระให้ผู้ใช้ไฟฟ้ามากนัก ซึ่งจะสอดรับกับแผนพีดีพีฉบับใหม่ ที่กระทรวงพลังงานกำลังอยู่ในระหว่างการจัดทำ
ประเทศไทยกำลังอยู่ในช่วงแห่งการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน (Energy Transition) จากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่เราคุ้นเคยทั้งถ่านหิน น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ ไปสู่พลังงานสะอาดที่ไม่มีการปลดปล่อยคาร์บอน ตามเทรนด์โลก ดังนั้น เพื่อให้ประเทศก้าวทันต่อการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น ไฮโดรเจนจึงเป็นพลังงานแห่งอนาคต ที่จะต้องติดตามดูการพัฒนาเทคโนโลยีอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การกำหนดนโยบายการส่งเสริม และการกำกับดูแลให้มีการใช้ที่มีมาตรฐานความปลอดภัย ทำได้ในจังหวะที่เหมาะสม ทั้งในแง่ของต้นทุนราคาที่ไม่สร้างภาระต่อค่าไฟฟ้า และการเป็นแหล่งพลังงานสะอาดทางเลือกที่มาช่วยเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศให้ดียิ่งขึ้นในอนาคต
