ผู้ชมทั้งหมด 10
ท่ามกลางการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานทั่วโลก ทั้งความไม่แน่นอนด้านภูมิรัฐศาสตร์ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในตลาดพลังงานสะอาด และการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของเทคโนโลยี ขณะที่นโยบายรับซื้อไฟฟ้าของประเทศไทยในช่วงหลายปีที่ผ่านมามีข้อจำกัด ผู้ประกอบการธุรกิจผลิตไฟฟ้าของไทย จึงต้องเร่งปรับตัวรับมือกับปัจจัยท้าทายดังกล่าว

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO Group ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) รายแรกของประเทศไทย ถือเป็นหนึ่งในภาคเอกชนไทยที่หันไปขยายการลงทุนธุรกิจไฟฟ้าในต่างประเทศ เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง โดยขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียนใน 7 ประเทศหลัก ได้แก่ ไทย ลาว ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย เกาหลีใต้ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา ส่งผลให้ ล่าสุด ปี2567 สัดส่วนกำไรจากธุรกิจในต่างประเทศเพิ่มขึ้นแตะระดับ 65% และกำไรจากธุรกิจในประเทศไทย อยู่ที่ 35%


จากศักยภาพการขยายการเติบโตในต่างประเทศของ EGCO Group ในช่วงหลายปีมานี้ ทำให้ EGCO Group เตรียมจัดทำแผนยุทธศาสตร์สู่ “โกลบอลคัมปะนี” (Global Company) บริษัทที่มีการดำเนินงานในหลายประเทศทั่วโลก หรือบริษัทที่มีการดำเนินธุรกิจในระดับนานาชาติ

ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เล่าว่า หลังจากเข้ารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ EGCO Group เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2567 ก็เล็งเห็นศักยภาพการเติบโตของบริษัทในต่างประเทศที่ยังไปได้อีกไกล จึงได้เร่งปรับทิศทางและกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ระยะ 3 ปี (ปี 2568-2570) ภายใต้กลยุทธ์ “Triple P” โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรอย่างต่อเนื่อง และได้มีการปรับเปลี่ยนองค์กรในทุกมิติ เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต
“ตอนนี้สัดส่วนกำไรจากต่างประเทศของ EGCO Group มากกว่า 60% เราต้องเทิร์นตัวเองไปสู่ Global Company ก็ต้องปรับตัวเตรียมรับมือเปลี่ยนจากการ Local Company สู่การเติบโต ด้วยธรรมชาติขององค์กรธุรกิจก็จะต้องจัดทำยุทธศาสตร์ซึ่งก็เริ่มปรับตามกลยุทธ์ “Triple P” ในช่วง 3 ปีนี้ คาดว่า ยุทธ์ศาสตร์ Global Company จะเข้มข้นและชัดเจนขึ้นในช่วงปลายปี 2568”

ทั้งนี้ การเตรียมพร้อมสู่ “Global Company” จะดำเนินการภายใต้กลยุทธ์ “Triple P” ได้แก่
• Profitability and Performance Energizing เพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้และผลกำไรให้ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งรักษาเสถียรภาพทางการเงิน เพื่อดูแลอัตราส่วนหนี้สิน (Debt to EBITDA) และรักษาอันดับความน่าเชื่อถือ (Credit Rating) ของบริษัท ตลอดจนให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ถือหุ้นด้วยนโยบายการจ่ายเงินปันผลอย่างสม่ำเสมอ
• Power and Energy-related Focus มุ่งเน้นลงทุนในธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจหลักของ EGCO Group ทั้งโรงไฟฟ้าที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งมีความสำคัญต่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าในยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อเป้าหมาย Net Zero Carbon ผ่านการลงทุนทั้งรูปแบบการควบรวมและซื้อกิจการ (Mergers and Acquisitions – M&A) และการลงทุนพัฒนาโครงการใหม่ (Greenfield) ตลอดจนแสวงหาโอกาสการลงทุนในธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง โดยต่อยอดและเน้นการลงทุนในประเทศที่มีฐานธุรกิจอยู่แล้ว 7 ประเทศ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และอเมริกาเหนือ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและในไทย เพราะเป็นตลาดที่มีโอกาสและมีศักยภาพสูง ด้วยงบลงทุนปีละ 30,000 ล้านบาท

โดยแผนการดำเนินงานในครึ่งหลังปี 2568 EGCO Group ยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนหรือซื้อกิจการ (M&A) 4-5 โครงการทั้งใน สหรัฐฯ,ตะวันออกกลาง และไต้หวัน คาดว่าจะเห็นการทยอยปิดดีลได้ โดยเฉพาะในไต้หวันที่อยู่ระหว่างการเจรจาทำ M&A โรงไฟฟ้าพลังงานลมที่ดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์แล้ว (COD) ซึ่งจะให้บริษัทสามารถรับรู้รายได้ทันทีอีกทั้ง การลงทุนของ EGCO Group จะต้องมีผลตอบแทนที่คุ้มค่า น่าสนใจ เพื่อส่งผ่านผลตอบแทนไปยังผู้ถือหุ้นซึ่งการรีเทิร์นที่อยากได้จะอยู่ระหว่าง 6-9%โดยมั่นใจว่า ปีนี้ จะสามารถบรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่เพิ่มขึ้นอีก 1,000 เมกะวัตต์ (MW) ได้ตามแผน
อย่างไรก็ตาม EGCO Group เล็งเห็นโอกาสการลงทุนโรงไฟฟ้าในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง ที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้า รวมถึงคำนึงความเสี่ยงการขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์แล้ว คาดว่าจะมีข้อสรุปในเร็วๆ นี้
ส่วนการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ ที่ปัจจุบัน EGCO Group เข้าไปลงทุนแล้วทั้งโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติและพลังงานหมุนเวียน รวมเกือบ 2 พันเมกะวัตต์ ทำให้รับรู้กำไรคิดเป็นสัดส่วนราว 16-17% ของกำไรรวม ถือว่าเติบโตขึ้นมาก และในอนาคต EGCO Group ยังมองหาโอกาสขยายการลงทุนเพิ่มเติมในสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน ตลาดซื้อขายไฟฟ้าในสหรัฐฯ น่าสนใจมาก เนื่องจากความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้นจากโครงการ Data Center ทำให้ค่าไฟฟ้าปรับตัวสูงขึ้นจากเดิม ราคาค่าไฟฟ้า 50-60 เซนต์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นเป็น 200 เซนต์ต่อหน่วย

นอกจากนี้ การลงทุนในโครงการลงทุนเพื่อผลิตและส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลวจากรัฐอะแลสกา (โครงการ Alaska LNG) สหรัฐฯ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาร่วมกันกับ กระทรวงพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ EGCO Group ถึงความเป็นไปได้ในโอกาสนำเข้า LNG การลงทุนท่อส่งก๊าซฯ และการสำรวจและผลิต LNG ในอะแลสกา
“ที่ผ่านมา EGCO Group ได้รับใบอนุญาตผู้จัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ(Shipper)จาก คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)แล้ว ดังนั้น มีความเป็นไปได้ที่ EGCO จะพิจารณาจัดซื้อ LNG จากโครงการอะแลสกาในอนาคต เพื่อนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าในไทย ฟิลิปปินส์ และเกาหลีใต้ เป็นต้น แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมต่อไป”
• Portfolio and People Management บริหารจัดการพอร์ตโฟลิโอให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยมุ่งเน้นการบริหารสินทรัพย์เชิงกลยุทธ์ (Asset Recycling) เพื่อนำรายได้ไปแสวงหาโอกาสการลงทุนใหม่ และให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นเลิศในกระบวนการดำเนินงาน (Operational Excellence) พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรและพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สอดคล้องกับกลยุทธ์ใหม่ เพื่อสร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องในระยะยาว ดังเห็นได้จาก การที่ EGCO Group ขายหุ้นในโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ RISEC สหรัฐอเมริกา และโรงไฟฟ้าพลังงานลม Boco Rock ออสเตรเลีย คิดเป็นมูลค่ารวมประมาณ 7,000 ล้านบาท เมื่อเดือนมกราคม 2568 โดยบริษัทจะนำเงินไปใช้ลงทุนในโครงการใหม่ที่มีศักยภาพการเติบโตสูงในอนาคตต่อไป

ดร.จิราพร มองว่า แม้ว่าทิศทางธุรกิจในช่วงครึ่งหลังปี 2568 ยังต้องเผชิญกับปัจจัยความไม่แน่นอนต่างๆ เช่น ปัญหาสงครามจากตะวันออกกลาง และนโยบายตั้งกำแพงภาษีของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา (นายโดนัลด์ ทรัมป์) ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นเรื่องที่ทุกบริษัทที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศต้องเผชิญ แต่อย่างไรก็ตาม พลังงานถือเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นตลาดพลังงานยังเป็นสิ่งจำเป็นและมีการเติบโตต่อไปได้ ฉะนั้นทุกการเติบโตของเศรษฐกิจก็จำเป็นต้องขับเคลื่อนด้วยพลังงาน จึงเชื่อว่าการลงทุนธุรกิจพลังงานในต่างประเทศจะสร้างกำไรต่อไปได้ อย่างไรก็ตาม EGCO Group มีการติดตามความเสี่ยงด้านการลงทุนในต่างประเทศ ผ่านการประชุมคณะกรรมการกำกับความเสี่ยงของบริษัท ประจำทุกเดือนอยู่แล้ว และจะพิจารณาการลงทุนอย่างระมัดระวัง รวมถึงประเทศที่ตัดสินใจเข้าไปลงทุนจะจัดอยู่ในกลุ่มประเทศอินเวสต์เมนต์เกรดที่มีความเสี่ยงต่ำและมีศักยภาพการเติบโตสูง
ส่วนแผนขยายการลงทุนในประเทศไทย ECGO อยู่ระหว่างรอความชัดเจนการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศ RE Biglot รอบที่ 2 ในรูปแบบ Feed-in Tarff (FiT) ปี 2565-2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงในส่วนพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน ซึ่ง บริษัทได้รับการคัดเลือกจำนวน 11 โครงการ กำลังผลิตติดตั้งรวม 448 เมกะวัตต์ คาดว่า จะมีความชัดเจนในเร็วๆนี้

ปัจจุบัน (ณ 4 กรกฎาคม 2568) EGCO Group มีกำลังผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้นรวม 6,653 เมกะวัตต์ (รวมโรงไฟฟ้าที่เดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้วและโครงการที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยมีกำลังผลิตจากพลังงานหมุนเวียนรวม 1,450 เมกะวัตต์ (คิดเป็น 22% ของกำลังผลิตทั้งหมด) ทั้งจากชีวมวล พลังน้ำ พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลมทั้งบนบกและนอกชายฝั่ง เซลล์เชื้อเพลิง และระบบกักเก็บพลังงานด้วยแบตเตอรี่
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจพลังงานที่เกี่ยวเนื่อง ได้แก่ บริษัท เอ็กโก เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ เซอร์วิส จำกัด “ESCO” ให้บริการงานเดินเครื่อง บำรุงรักษา วิศวกรรม ก่อสร้าง อนุรักษ์พลังงาน และ การฝึกอบรมแก่โรงไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมประเภทต่าง ๆ บริษัทโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค “CDI” ในอินโดนีเซีย ระบบขนส่งน้ำมันทางท่อไปยังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ “TPN” โครงการนิคมอุตสาหกรรมเอ็กโกระยอง “ERIE” บริษัทด้านการวิจัยเพื่อพัฒนานวัตกรรม “Innopower” และบริษัทเทคโนโลยีด้านการเงิน “Peer Power”