ไม่นานเกินรอ! “คีรี” ลั่นเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เต็มรูปแบบต้นปี 67  

ผู้ชมทั้งหมด 429 

“พลเอกประยุทธ์” ลุยทดสอบเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพู “คีรี กาญจนพาสน์” ลั่นเตรียมทดสอบเดินรถเสมือนจริงช่วง พ.ย. – ธ.ค. 2566 เปิดเต็มรูปแบบต้นปี 67 คาดเก็บอัตราค่าโดยสารที่ 15-45 บาท ประเมินผู้โดยสารหลังเปิดครบ 1 ปีที่ 1.8 – 1.9 แสนเที่ยว-คนต่อวัน

เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมความพร้อม โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี ก่อนเปิดทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) โดยมีกลุ่มตัวแทนจากภาครัฐที่นำโดย พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย, นายธนกร วังบุญคงชนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี, นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

พร้อมด้วยผู้บริหารสำนักนายกรัฐมนตรี และกระทรวงคมนาคม ร่วมตรวจเยี่ยมในครั้งนี้ ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย นำโดย นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และผู้รับสัมปทานนำโดย นายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) พร้อมด้วยคณะกรรมการ และฝ่ายบริหาร บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน), บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ร่วมให้การต้อนรับ

นายคีรี เปิดเผยว่า การทดสอบระบบการเดินรถ และตรวจเยี่ยมสถานีในวันนี้เป็นไปด้วยความราบรื่น โดยเป้าหมาย ณ ขณะนี้คือการเปิดทดสอบเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ช่วง พ.ย. – ธ.ค. 2566 และคาดว่าน่าจะเปิดให้บริการได้อย่างเต็มรูปแบบช่วงต้นปี 2567 ซึ่งภาพรวมความคืบหน้าการก่อสร้างทั้งหมดของโครงการอยู่ที่ 97.15% แบ่งเป็น ความคืบหน้างานโยธา 96.97% และงานระบบรถไฟฟ้า 97.34%

สำหรับรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู เป็นรถไฟฟ้าโมโนเรลสายที่สอง ที่จะเปิดให้เปิดบริการในประเทศไทย ซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีเหลือง เพราะเป็นโครงการที่อยู่ในแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล (M-MAP) มีจุดประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการเดินทาง ระหว่างเขตมีนบุรี และจังหวัดนนทบุรี มีระยะทางให้บริการ 34.5 กิโลเมตร รวมทั้งหมด 30 สถานี

ทั้งนี้เพื่อให้เส้นทางมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ในช่วงก่อนหน้านี้ทาง NBM ได้มีการขยายเส้นทางเพิ่มขึ้นอีก 2 สถานี ระยะทาง 3 กิโลเมตร ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับประชาชน ที่อยู่อาศัย และทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมถึงผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้า และการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปี 2568

นอกจากนี้รถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ยังเชื่อมต่อโครงข่ายระบบรางที่สำคัญอีกหลายเส้นทาง ได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางใหญ่ – บางซื่อ ที่สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี (PK01), รถไฟชานเมืองสายสีแดง ที่สถานีหลักสี่ (PK14), รถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต – สะพานใหม่ – คูคต ที่สถานีวัดพระศรีมหาธาตุ (PK16) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงตลิ่งชัน – มีนบุรี ที่สถานีมีนบุรี (PK30)

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC และกรรมการ NBM กล่าวว่า ปัจจุบันรถไฟฟ้าสายสีชมพูอยู่ในขั้นตอนการทดสอบระบบเดินรถ ดำเนินการควบคู่กับการเร่งรัดงานก่อสร้าง ซึ่งยังติดปัญหาไม่สามารถทำทางขึ้น-ลงสถานีได้ 3 สถานีได้แก่ สถานีแจ้งวัฒนะ 14 (PK11), สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ (PK12) และ สถานีโทรคมนาคมแห่งชาติ (PK13) เนื่องจากต้องรอการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) นำสายไฟลงใต้ดิน และโครงการฟลัดเวย์ของกรมทางหลวง (ทล.) ดำเนินการให้แล้วเสร็จก่อน ดังนั้นจะสามารถเปิดเดินรถไฟฟ้าสายสีชมพูได้ตามกำหนดหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการนำสายไฟลงใต้ดิน โครงการฟลัดเวย์

ขณะที่โครงการส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี ช่วงศรีรัช – เมืองทองธานี คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ปประมาณปลายปี 2567 เร็วกว่าแผนกำหนดเปิดบริการกลางปี 2568 ส่วนอัตราค่าโดยสารที่จะเปิดให้บริการตลอดทั้งเส้นทางของรถไฟฟ้าสายสีชมพูต้องพิจารณาจากดัชนีผู้บริโภค (CPI) ก่อนเปิดให้บริการ 3 เดือน แต่จากการประเมินในเบื้องต้นคาดว่าจะใกล้กับอัตราค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเหลืองที่ 15-45 บาท และหลังจากเปิดให้บริการเดินรถครบปีคาดว่าจะมีผู้โดยสารเฉลี่ยประมาณ 180,000 – 190,000 เที่ยว-คนต่อวัน

นายภคพงศ์ กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพู ช่วงแคราย – มีนบุรี เป็นโครงการฯ ตามแผนแม่บทระบบขนส่งมวลชนทางรางในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล โดยที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559 มีมติเห็นชอบให้กระทรวงคมนาคม โดย รฟม. เป็นผู้กำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ เป็นระบบรถไฟฟ้ารางเดี่ยว (Monorail) ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 รฟม. ได้ลงนามในสัญญาร่วมลงทุน การออกแบบและก่อสร้างงานโยธา การจัดหาระบบรถไฟฟ้า การให้บริการการเดินรถไฟฟ้า และซ่อมบำรุงรักษาโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู กับ NBM ผู้รับสัมปทาน และได้เริ่มงานในระยะที่ 1 การดำเนินงานออกแบบและก่อสร้างงานโยธา พร้อมติดตั้งระบบและขบวนรถไฟฟ้า ตั้งแต่วันที่ 29 มิถุนายน 2561 เป็นต้นมา

โดย รฟม. ได้กำกับดูแลการดำเนินงานของผู้รับสัมปทานอย่างใกล้ชิด รวมถึงการทดสอบการเดินรถในแต่ละระยะ เพื่อเตรียมความพร้อมของงานระบบรถไฟฟ้า ทั้งนี้ คาดว่าจะเปิดให้ประชาชนเข้าร่วมทดสอบการเดินรถเสมือนจริง (Trial Run) ได้ช่วงปลายปี 2566 โดยพิจารณาดำเนินการตามความพร้อมของแต่ละสถานีจนครบ 30 สถานี โดยยึดถือหลักความพร้อมของงานและความปลอดภัยต่อประชาชนที่จะเข้ามาใช้บริการในระบบรถไฟฟ้าเป็นหัวใจสำคัญสูงสุด ทั้งนี้ ตามแผนงานโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายสีชมพูฯ จะเปิดให้บริการอย่างเต็มรูปแบบเชิงพาณิชย์ได้ภายในเดือนมิถุนายน 2567