ผู้ชมทั้งหมด 1,218
เสริมมั่นคงไฟฟ้าเกาะสมุย! ปลัดกระทรวงพลังงาน เร่งกฟผ. เปิดประมูลเคเบิ้ลใต้ทะเล ขนอม-สมุย กรอบวงเงินรวม 11,230 ล้านบาท คาดได้ตัวผู้รับเหมา พ.ย. 68 เริ่มก่อสร้างต้นปี 69

นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน ในฐานะประธานกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการก่อสร้างระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 KV (กิโลโวลต์) ขนอม–เกาะสมุย (SPSS-L-01) ว่า โครงการเคเบิ้ลใต้ทะเล ขนอม–เกาะสมุย นั้นทางกฟผ.ได้จัดทำร่างขอบเขตของงาน (Terms of Reference: TOR) เรียบร้อยแล้ว เตรียมเสนอเข้าที่ประชุมบอร์ดกฟผ.ในช่วงเดือนมีนาคม 2568 เพื่อพิจารณาเห็นชอบร่าง TOR หลังจากนั้นก็จะดำเนินการในขั้นตอนของการประกาศร่าง TOR บนเว็บไซต์ของกฟผ. และดำเนินการประกวดราคาต่อไป
สำหรับโครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล 230 กิโลโวลต์ ขนอม–เกาะสมุยนั้น คณะรัฐมนตรี (ครม.)ได้อนุมัติให้กฟผ.พัฒนาโครงการเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2566 กรอบวงเงินลงทุนรวม 11,230 ล้านบาท เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าบนเกาะสมุย อย่างไรก็ตามในปัจจุบันกฟผ.ได้เตรียมพื้นที่สำหรับสร้างสถานีไฟฟ้าแรงสูง และกำหนดเส้นทางวางระบบสายเคเบิ้ลแล้ว
“เกาะสมุยเป็นแหล่งท่องเที่ยวหนึ่งที่นักท่องเที่ยวชอบมา ซึ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซั่น) ส่งผลให้การใช้ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น และเริ่มเกินกำลังของระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลในปัจจุบันมีอยู่ 4 วงจร เป็นของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งในช่วงไฮซีซั่น เพื่อเสริมกำลังการผลิตไฟฟ้าทางกฟผ. และกฟภ. จะสนับสนุนเครื่องกำเนิดไฟฟ้าแบบเคลื่อนที่ หรือ Mobile Generators ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงมาช่วยเสริมกำลังความต้องการใช้ไฟฟ้าบนเกาะสมุย ขณะเดียวกันก็ต้องขอความร่วงมือผู้ประกอบการโรงแรม รีสอร์ทบนเกาะสมุย อาจจะมีมาตรการประหยัดไฟฟ้าด้วย” นายประเสริฐ กล่าว
นายประเสริฐ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลงทุนระบบเคเบิ้ลใต้ทะเล ขนอม–เกาะสมุย ของกฟผ. นั้นจะไม่ทำให้อัตราค่าไฟฟ้าของภาคประชาชนแพงขึ้น ซึ่งประชาชนจะยังคงได้ใช้ไฟฟ้าในราคาปกติ ส่วนผู้ประกอบการอาจจะต้องมีการเจรจา เพื่อจัดเก็บอัตราค่าไฟฟ้าในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่ทางกฟผ.ได้ลงทุน ตนเชื่อว่าอัตราค่าไฟฟ้าที่ส่งผ่านระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลจะถูกกว่าการผลิตไฟฟ้าจาก Mobile Generators ที่ใช้น้ำมันดีเซล ซึ่งอัตราค่าไฟฟ้าที่ต้องเรียกเก็บกับผู้ประกอบการจะเป็นเท่าไหร่นั้นทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กฟผ.และกฟภ. ต้องหารือกัน


นายธีรวุฒิ เวทะธรรม รองผู้ว่าการพัฒนาระบบส่ง กฟผ. กล่าวว่า โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลของ กฟผ. หากบอร์ด กฟผ. อนุมัติร่าง TOR ในเดือนมีนาคม 2568 คาดว่าจะสามารถเริ่มขั้นตอนการประกวดราคาได้ในเดือนกรกฎาคม 2568 และคาดว่าจะสามารถประกาศผลได้ตัวผู้ชนะการประกวดราคาได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568 จากนั้นคาดว่าจะเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ต้นปี 2569 โดยการดำเนินการก่อสร้างนั้นหากเป็นไปตามแผนวงจรที่ 1 จะแล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2571 วงจรที่ 2 แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายน 2572
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาระบบเคเบิ้ลใต้ทะเลของ กฟผ.นั้นมีจุดเชื่อมสถานีไฟฟ้าย่อยบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม แล้ววางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลระยะทางช่วงใต้ทะเลประมาณ 48 กิโลเมตร เชื่อมกับสถานีไฟฟ้าย่อยบนเกาะสมุย ซึ่งกฟผ.ดำเนินการจัดซื้อที่ดินบนเกาะสมุยไว้เรียบร้อยแล้ว โดยการวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลระหว่างจุดขึ้นบริเวณโรงไฟฟ้าขนอม เชื่อมจุดขึ้นที่สถานีไฟฟ้าบนเกาะสมุยนั้นจากที่ได้สำรวจแนวเส้นทางแล้วจะไม่กระทบต่อปะการัง
ดร.จิราพร ศิริคำ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน ) หรือ EGCO กล่าวว่า EGCO ทางโรงไฟฟ้าขนอมพร้อมดูแลช่วยดำเนินการของการวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลของกฟผ. ซึ่งไฟฟ้าที่ส่งผ่านเคเบิ้ลใต้ทะเล ก็จะมาจากสถานีไฟฟ้าแรงสูงของกฟผ. เป็นหลัก แต่ในอนาคตข้างหน้าโรงไฟฟ้าขนอมมีกำลังการผลิตเพิ่มเติมก็จะสามารถจ่ายไฟจากโรงไฟฟ้าขนอมมาที่เกาะสมุยได้ ซึ่งโรงไฟฟ้าขนอมก็มีความพร้อมที่จะเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP 2024) เพื่อเสริมความมั่นคงไฟฟ้าภาคใต้