“ไทยสมายล์บัส” ทุ่ม 300 ล้าน เปิดศูนย์ควบคุมอัจฉริยะครบวงจรแห่งแรกของไทย

ผู้ชมทั้งหมด 125 

ไทยสมายล์บัส” ทุ่ม 300 ล้าน เปิดศูนย์ควบคุมอัจฉริยะครบวงจรแห่งแรกของไทย เทียบหอบังคับการบิน หวังยกระดับมาตรฐานรถเมล์ไทยสู่ระดับโลก ตั้งเป้าสิ้นปี 68 ผู้โดยสารแตะ 5.5 แสนคนต่อวัน รายได้ทะลุ 10 ล้านบาทต่อวัน เล็งขยายเส้นทางเดินรถไปต่างจังหวัด ขณะที่ขบ.แนะสร้างป้ายรถเมลล์อัจฉริยะอำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการ

เมื่อวันที่ 30 เม.ย.ที่ บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด สำนักงานใหญ่ ถ.เจริญนคร นายจิรุตม์ วิศาลจิตร อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน The Shift Hub: A New Era of Transport for All หรือ “ศูนย์กลางแห่งการเปลี่ยนผ่าน จุดเริ่มของระบบขนส่งมวลชนยุคใหม่เพื่อทุกคน” ที่รวบรวมเทคโนโลยีควบคุมการเดินรถ-เรือ อันล้ำสมัยเข้ามาอยู่ใน ศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ Transit Smart Hub หรือ TS-HUB เพื่อพัฒนาการบริการขนส่งมวลชนของ TSB ให้ได้รับการยกระดับอย่างแท้จริง ทั้งคุณภาพ ความปลอดภัย โดยมีนางสาวกุลพรภัสร์ วงศ์มาจารภิญญา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทย สมายล์ บัส จำกัด (TSB) คณะผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ TSB รวมถึงสื่อมวลชน และผู้เกี่ยวข้องเข้าร่วมงาน

นายจิรุตม์ กล่าวว่า ปัจจุบันภาครัฐมีระบบเทคโนโลยีในการกำกับ และบังคับใช้กฎหมายในรูปแบบ GPS ที่ติดตามตัวรถ ผู้ขับรถ และเส้นทางเดินรถอยู่แล้ว แต่ในส่วนของศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ TSB นั้นถือเป็นอีกก้าวสำคัญของระบบขนส่งมวลชนของไทย ที่มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และนำเทคโนโลยีมาใช้บริหารจัดการฟีดรถและผู้ขับรถ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของผู้ใช้บริการมากขึ้น ที่สำคัญที่ตัวรถยังมีการติดตั้งกล้องทุกมุมเพื่อป้องปรามการทำมิดีมิร้ายบนรถสาธารณะได้

นายจิรุตม์ กล่าวอีกว่า ได้ฝากให้ TSB พิจารณาเรื่องการเชื่อมโยงข้อมูลกับทางกรุงเทพมหานคร หรือป้ายรถเมลล์นอกเขต กรุงเทพฯ เช่น นนทบุรี หรือสมุทรปราการ เป็นต้น เพื่อดำเนินการเรื่องป้ายรถเมลล์อัจฉริยะ ที่จะแสดงถึงเวลาเข้าออกของรถเมล์ เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

ด้าน นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวว่า บริษัทฯได้ทุ่มงบประมาณ 300 ล้านบาท เพื่อวางระบบศูนย์กลางการควบคุมการเดินรถทั้งทางบกและทางน้ำครบวงจรแห่งแรกของประเทศไทย ที่จะกลายเป็นหัวใจสำคัญในการยกระดับการบริการ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ (AI) คอยมอนิเตอร์รวบรวมข้อมูลการเดินทางตลอด 24 ชม. ทำให้สามารถตรวจสอบ บริหารจัดการคุณภาพการให้บริการได้อย่างเรียลไทม์ เพื่อหวังยกระดับรถเมล์สาธารณะของคนไทยให้มีมาตรฐานเป็นหนึ่งในระดับโลกให้ได้

โดยศูนย์ดังกล่าวจะแสดงข้อมูลต่างๆ เช่น Bus Stop Distribution แสดงความหนาแน่นของจำนวนรถที่ผ่านป้าย, Passenger Flow Statistics การแสดงจำนวนผู้โดยสารตามป้ายต่างๆ , Dispatching การปล่อยรถแต่ละสาย แสดงตำแหน่งรถแต่ละคันในเส้นทาง, Alarm Report การแจ้งเตือนพฤติกรรมคนขับขณะให้บริการ , Realtime CCTV ตรวจสอบกล้องเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้บริการ และ Data Dashboard สามารถติดตามตัวชี้วัดสำคัญขององค์กรสร้างความโปร่งใสและวัดผลได้  เป็นต้น

ทั้งนี้ ศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ จะเป็นก้าวสำคัญในการวางรากฐานสู่ระบบขนส่งมวลชนอัจฉริยะ ที่สอดรับกับเป้าหมายด้านการลดคาร์บอนอย่างเป็นรูปธรรม และมีความพร้อมในการเชื่อมต่อกับโครงข่ายขนส่งสาธารณะรูปแบบอื่น ๆ เพื่อรองรับการเป็นสมาร์ทซิตี้ในอนาคต เพราะหากมี AI จะใช้บุคลากรน้อยลง จะตัดเวลาการแก้ปัญหาได้รวดเร็วและทันใจผู้ใช้บริการทุกคน และยังจะพัฒนาเทคโนโลยีไปอย่างไม่หยุดนิ่ง

“พื้นฐานจริงๆของการปฏิรูปและบูรณาการการทำงานไม่ได้แค่ใช้เม็ดเงินลงทุนเท่านั้น แต่คือการทุ่มเทและใส่ใจ ดังนั้นเป้าหมายของศูนย์ควบคุมอัจฉริยะ คือการนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์และมาแก้ปัญหาพร้อมๆกัน ร่วมกับประชาชนผู้ใช้บริการ รวมถึงรองรับเรื่องร้องเรียนก่อนนำมาประมวลและแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้นให้ได้”นางสาวกุลพรภัสร์ กล่าวและว่า ขอยืนยันว่าการลงทุนระบบ AIดังกล่าวจะไม่กระทบต่อค่าโดยสารของผู้ใช้บริการ และขอให้มั่นใจว่าไม่เคยติดที่จะเอาภาระไปบวกใส่กับค่าโดยสารแน่นอน

นอกจากนี้ ยังมีการเปิดตัวท่าเรือ “สยามเจริญนคร” เป็นจุดจอดเรือแห่งที่ 10 ให้บริการรับส่งผู้โดยสารในเส้นทาง สยามเจริญนคร – วัดวรจรรยาวาส – สาทร – ไอคอนสยาม – ราชวงศ์ – ราชินี – วัดอรุณฯ – ท่าช้าง – พรานนก – พระปิ่นเกล้า รองรับการเดินทางท่องเที่ยวของพี่น้องประชาชน ที่สามารถเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญริมน้ำเจ้าพระยาได้ แบบไม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวทางน้ำพร้อมกับลดปัญหามลพิษของกรุงเทพมหานครได้

ด้านนายวรวิทย์ ชาญชญานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ฝ่ายปฏิบัติการและกลยุทธ์ TSB กล่าวว่า ปัจจุบันผู้โดยสารที่ใช้บริการของ TSB เฉลี่ย 4 แสนคนต่อวัน รายได้อยู่ที่ประมาณ 7 ล้านบาทต่อวัน แต่ในสิ้นปี 68 นี้ตั้งเป้าว่าปริมาณผู้โดยสารจะไปแตะที่ 5 แสนคนหรือ 5.5 แสนคนต่อวัน รายได้จะไปอยู่ที่ประมาณ 10 ล้านบาทต่อวัน หรือประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือน ขณะที่พนักงานเดินรถมีประมาณ 5 พันคน ส่วนจำนวนรถนั้น มีในฟีดทั้งสิ้น 2,350 คัน วิ่งให้บริการอยู่จริงจำนวน 1,650 คัน ที่เหลือเป็นรถหมุนเวียน แต่ภายในสิ้นปีนี้วางแผนนำมาให้บริการเพิ่มในแต่ละเส้นทางเพื่อให้รถได้ใช้งานทั้งสิ้น 2,150 ค้นที่เหลืออีก 200 คันจะเป็นรถสำรอง

อย่างไรก็ตามเมื่อต้นเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้มีการปรับตารางค่าโดยสารใหม่ที่สะท้อนกับการเดินทางตามระยะทางจริง ส่งผลให้รายได้ของบริษัทฯหายไปประมาณ 7 ล้านบาทต่อเดือน บวกกับรายได้ของบัตร HOP ที่ต้องสูญไปจากส่วนลดประมาณ 8 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้รายได้ของบริษัทฯจะลดลงประมาณ 15 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาหาแนวทางกระตุ้นรายได้เพิ่มจากธุรกิจอื่น รวมถึงศึกษาโครงสร้างอัตราค่าโดยสารใหม่ เพื่อลดช่องว่างของราคาเดิมลง จากปัจจุบันเก็บค่าโดยสารในอัตรา 15 – 20-25 บาท อาจจะปรับเป็น 15-17-20-22-25 บาท ซึ่งจะมีการนำเสนอเรื่องนี้ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาอีกครั้ง

นอกจากนี้บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างการศึกษาการขยายเส้นทางให้บริการรถโดยสารสาธารณะไปต่างจังหวัด เบื้องต้นน่าจะนำร่องใน 3 จังหวัด ได้แก่  ลำพูน อยุธยา และปทุมธานี ส่วนรูปแบบการดำเนินงานน่าจะทำร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้คงต้องนำเสนอเส้นทางให้ขบ.พิจารณาอนุญาตต่อไป