“กฟผ.- จุฬาฯ” ถอดบทเรียนไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป แนะออกแบบระบบไฟฟ้ารองรับพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม

ผู้ชมทั้งหมด 148 

“กฟผ.” ร่วมกับ “จุฬาฯ” ถอดบทเรียนไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป ขณะที่นักวิชาการหนุนผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานหมุนเวียน มุ่งสู่พลังงานสะอาด พร้อมวางระบบรองรับ ขณะที่ กฟผ. ยัน 3 การไฟฟ้าพร้อมดูแบบระบบ รองรับผลิตไฟจาหพลังงานหมุนเวียนเพิ่ม หนุนใช้โรงไฟฟ้าหลักเสริมความมั่นคง พร้อมพิจารณาเทคโนโลยีผลิตไฟฟ้ารูปแบบใหม่มาหนุน ทั้ง โรงไฟฟ้าสูบกลับ และระบบกักเก็บพลังงาน 

วันนี้( 8 พ.ค.2568) คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับสถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย จัดเวทีการบรรยาย “ไฟดับครั้งใหญ่ในยุโรป: บทเรียนจากสเปน–โปรตุเกส 2025 และแนวทางรับมือและออกแบบระบบพลังงานอย่างสมดุล” เพื่อให้เข้าใจเชิงลึกถึงสาเหตุและผลกระทบของเหตุการณ์ไฟดับระดับประเทศทั้งจากแหล่งข้อมูลจริง กรณีศึกษา และการวิเคราะห์ โดยมีผู้เชี่ยวชาญ เรียนรู้จากกรณีศึกษาต่างประเทศเพื่อประยุกต์ใช้กับบริบทของไทยและอาเซียน ดังนี้

นายธวัชชัย สำราญวานิช รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ระบุว่า เหตุการณ์ไฟฟ้าดับทั่วประเทศในสเปนและโปรตุเกส เมื่อ 28 เม.ย. 2568 เป็นเวลาประมาณ 19-20 ชั่วโมง ถือเป็นบทเรียนครั้งสำคัญของทุกประเทศ รวมถึงไทยด้วย เนื่องจากปัจจุบันทั่วโลกกำลังมุ่งหน้าสู่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน(RE)มากขึ้น โดยเฉพาะพลังานแสงอาทิตย์และลม ดังนั้นจะต้องหาออกแบบระบบไฟฟ้าให้รองรับการเข้ามาของพลังงานหมุนเวียนที่จะเพิ่มมากขึ้นในอนาคต

อย่างไรก็ตาม 3 การไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. , การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ PEA และการไฟฟ้านครหลวง หรือ กฟน.) ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางรับมือไฟฟ้าดับ โดยใช้กรณีสเปนและโปรตุเกสเป็นบทเรียน ซึ่งยืนยันว่า 3 การไฟฟ้าจะดูแลความมั่นคงไฟฟ้าของไทย โดยหากอนาคตมีไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนเข้าระบบมากขึ้น จะต้องวางแผนรองรับเพิ่มเติม เช่น เรื่องของโรงไฟฟ้าหลักก็ยังมีความจำเป็น และต้องนำเทคโนโลยีใหม่ๆเข้ามาเสริม เช่น โรงไฟฟ้าแบบสูบกลับ และระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) เป็นต้น

“เมื่อ RE เข้ามาความพร้อมของระบบก็ต้องทันกัน และแน่นอนว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีต่างๆเพื่อรองรับการเข้ามาของ RE ย่อมมีผลต่ออัตราค่าไฟฟ้า ฉะนั้น การดำเนินการในเรื่องนี้ จะต้องทำให้เกิดความสมดุล ทั้งความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และราคาค่าไฟฟ้าต้องสมเหตุผล เพื่อให้ประชาชนได้ใช้ไฟฟ้าอย่างเป็นธรรม”  

รศ.ดร.สุรชัย ชัยทัศนีย์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า วิกฤตไฟฟ้าดับครั้งใหญ่ (Blackout) ทั่วกรุงมาดริดและเมืองบาร์เซโลนาของประเทศสเปน และเมืองลิสบอน ประเทศโปรตุเกส รวมถึงบางส่วนทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศฝรั่งเศส ที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย.2568 เกิดขึ้นจากหลายสาเหตุประกอบกัน ซึ่งการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียน ก็เป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ดังกล่าว แต่การส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนก็เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะโลกกำลังมุ่งสู่เรื่องของพลังงานสะอาด ซึ่งเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนถือว่าตอบโจทย์ แต่ต้องยอมรับว่า การเข้ามาของพลังงานหมุนเวียน ย่อมมีส่งผลกระทบทางเทคนิคต่อระบบไฟฟ้า

ดังนั้น ประเทศไทย จะต้องเตรียมพร้อมแนวทางรองรับการเข้ามาของเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนในระบบไฟฟ้าที่จะมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้นในอนาคต ดังนี้

1.นำเทคโนโลยี Energy Storage เข้ามาใช้เพื่อช่วยเก็บพลังงานส่วนเกินจากพลังงานหมุนเวียน และจ่ายคืนเมื่อพลังงานหมุนเวียนลดลง

2.นำเทคโนโลยี Grid Modernization & Flexibility เข้ามาใช้เพื่อทำให้กริดรับมือกับพลังงานหมุนเวียนที่กระจายตัวและแปรปรวนได้ดีขึ้น เช่น ควบคุมแบบสองทางและอัตโนมัติ

3.ทำเรื่องForecasting & System Operation เพื่อพยากรณ์และวางแผนระบบไฟฟ้าล่วงหน้าได้แม่นยำขึ้น

4.พิจารณาเทคโนโลยี Flexible Generation ที่เข้ามาเสริมประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าที่สามารถจ่ายไฟฟ้าได้เร็วหรือยืดหยุ่น เข้ามารองรับช่วงที่พลังงานหมุนเวียนไม่เพียงพอ

5.พิจารณาเรื่อง Diverse & Distributed RE เพื่อกระจายแหล่งผลิตพลังงานหมุนเวียน ลดความเสี่ยงและเพิ่มความเสถียรให้กับระบบไฟฟ้า

6.นำเรื่อง Interconnection & Trading ที่จะเป็นการเชื่อมต่อโครงข่ายและการค้า เพื่อส่งไฟฟ้าระหว่างภูมิภาค เข้าช่วยรับมือกับความผันผวนของพลังงานหมุนเวียน

7.ส่งเสริม Regulatory & Market Mechanisms โดยวางกลไกกำกับดูแลที่สร้างแรงจูงใจและตลาดที่รองรับระบบไฟฟ้าที่มีพลังงานหมุนเวียนสูง

ดร.พิมพ์สุภา เกาะช้าง นักวิจัยชำนาญการ สถาบันวิจัยพลังงาน ระบุว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ไม่ได้เป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เกิดวิกฤตไฟฟ้าดับ แต่น่าจะเป็นผลมาจากระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ออกแบบรองรับเชื้อเพลิงพลังงานหมุนเวียนที่ยังไม่เพียงพอ ดังนั้น สถาบันวิจัยพลังงาน จุฬาฯ มีข้อเสนอแนะแนวทางเสริมความมั่นคงเพื่อการเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืน ดังนี้

1.จัดทำ Energy Resilience Roadmap ควบคู่กับ Roadmap สู่ Net Zero

2.ปรับนโยบายให้มีความยืดหยุ่น ทันต่อเทคโนโลยีและบริบทโลก เพื่อรองรับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว เช่น ภัยภูมิอากาศ หรือ ความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์

3.สื่อสารกับสาธารณะอย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความเข้าใจว่า พลังงานหมุนเวียนไม่ใช่ต้นเหตุของความเสี่ยง แต่ต้องมีระบบสนับสนุนที่เหมาะสม

4.ส่งเสริมงานวิจัยและพัฒนาฐานข้อมูลแบบเปิด (Open Data Infrastructure) เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจเชิงนโยบาย และเปิดพื้นที่ให้ภาคส่วนต่างๆเข้าถึงข้อมูลและมีส่วนร่วม