ผู้ชมทั้งหมด 95
กรมการขนส่งทางราง ขับเคลื่อนการขนส่งทุเรียนทางราง มาบตาพุด–หนองคาย–จีน คาดช่วยหนุนส่งออกทุเรียนปีนี้โต 37% พร้อมเร่งจัดหาโบกี้บรรทุกสินค้า 946 คัน กรอบวงเงินรวม 2,459 ล้านบาท รอเสนอครม. รับส่งมอบกลางปี 69 กว่า 200 คัน

นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง กล่าวภายหลังเป็นประธานในพิธีปล่อยขบวนรถไฟขนส่งทุเรียนไปยังสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง ว่า ในระยะหลังประเทศไทยหันมาปรับเปลี่ยนการขนส่งผลไม้และทุเรียนผ่านทางราง แทนการขนส่งทางถนนมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยในปี 2566 นั้นปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางระหว่างไทยไปยัง สปป.ลาว มีปริมาณการขนส่งมากถึง 708 ตู้คอนเทนเนอร์หรือประมาณ 17,700 ตัน และในปี 2567 มีปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางจำนวน 1,108 ตู้คอนเทนเนอร์หรือประมาณ 27,700 ตัน ซึ่งถือได้ว่าปริมาณการขนส่งผลไม้ทางรางนั้นเพิ่มขึ้นในทุก ๆ ปี และไม่เพียงทุเรียนเท่านั้น แต่ยังรวมถึง มังคุด ลองกอง ลำไย และผลไม้เน่าเสียง่ายอื่นๆ ที่สามารถใช้ประโยชน์จากระบบรางในการลดระยะเวลาการขนส่งและรักษาคุณภาพสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับการขนส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนทางรถไฟนั้นจุดรับส่ง 2 แห่ง คือ จากสถานีรถไฟแหลมฉบัง สถานีรถไฟมาบตาพุด–หนองคาย–จีน รวมระยะทางกว่า 1,750 กิโลเมตร ซึ่งในช่วงฤดูกาลทุเรียนของภาคตะวันออกในปีนี้มีการใช้บริการขนส่งทุเรียนทางรถไฟจากแหลมฉบัง 5 ตู้สินค้าต่อวันหรือใช้โบกี้บรรทุกสินค้า 25 คันต่อวันจากที่มีโบกี้บรรทุกสินค้ารองรับ 50 คัน ส่วนโบกี้บรรทุกสินค้าที่เหลือใช้รองรับขนสินค้าประเภทอื่น ดังนั้นจึงได้เปิดจุดรองรับการขนส่งทุเรียนทางรถไฟเพิ่มอีก 1 จุด คือ สถานีรถไฟมาบตาพุด ซึ่งจุดนี้มีโบกี้บรรทุกสินค้าเพียง 25 คันไว้รองรับขนส่งสินค้า
นายพิเชฐ กล่าวว่า ทุเรียน ถือเป็นผลไม้ส่งออกที่มีมูลค่าสูงที่สุดของประเทศไทยและเป็นผลไม้ที่มีความต้องการสูงในตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศจีน ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการส่งออกถึง 97% โดยในปี 2567 มีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งรวมกว่า 157,506 ล้านบาท โดยเฉพาะทุเรียนสดที่มีมูลค่าสูงสุดในเดือนพฤษภาคม 2567 ถึงกว่า 4.3 หมื่นล้านบาท ส่วนในปี 2568 คาดว่าจะมีมูลค่าส่งออกทุเรียนสดและแช่แข็งรวมกว่า 2 แสนล้านบาท หรือ เติบโตขึ้น 37%



ทั้งนี้คาดการณ์ว่าในปี 2568 ผลผลิตทุเรียนทั่วประเทศจะเพิ่มขึ้นกว่า 37% จากปีก่อนหน้า คิดเป็นปริมาณรวมราว 1.767 ล้านตัน โดยแหล่งผลิตหลักอยู่ในภาคตะวันออก เช่น จังหวัดระยอง จันทบุรี และชุมพร ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อ GDP ภาคเกษตรและการจ้างงานในห่วงโซ่อุปทานทุเรียน โดยที่ผ่านมานั้นการขนส่งทุเรียนของไทยได้พึ่งพาการขนส่งทางถนนเป็นหลัก ทั้งที่การขนส่งทางถนนนั้นมีข้อจำกัดด้านต้นทุน เวลา และความเสี่ยงต่อคุณภาพของผลไม้
“ไทยมีการส่งออกทุเรียนราว 1 แสนตันต่อปี ในจำนวนนี้เป็นการขนส่งทางรถไฟราว 3 หมื่นตันต่อปี ที่เหลือเป็นการขนส่งทางรถบรรทุก แต่ปัจจุบันความต้องการขนส่งสินค้าทางรถไฟมีมากขึ้น เพราะใช้ระยะเวลาเร็วและตรงเวลากว่าการขนส่งทางรถยนต์ จากมาบตาพุด–หนองคาย–ลาว-จีนใช้ระยะเวลาประมาณ 3-4 วัน แต่ปัญหาการขนส่งทางรถไฟ คือ มีโบกี้บรรทุกสินค้าไม่เพียงทำให้ขาดโอกาสในการสร้างรายได้จากการขนสินค้าทางราง” นายพิเชฐ
นายพิเชฐ กล่าวว่า จากความต้องการขนส่งสินค้ารางรถไฟที่เพิ่มขึ้นการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ดำเนินการจัดหาโบกี้บรรทุกสินค้า 946 คัน กรอบวงเงินรวม 2,459 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ รอเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) คาดว่าจะเสนอให้ครม.อนุมัติได้ภายในปีนี้ แล้วดำเนินการจัดหาโบกี้บรรทุกสินค้าได้ปลายปี 2568 และคาดว่าจะเริ่มทยอยรับมอบได้กลางปี 2569 ประมาณ 200-300 คัน ซึ่งจะช่วยเสริมศักยภาพในการขนส่งสินค้าทางรางได้เป็นอย่างดี เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ของรฟท.

นอกจากนี้ ในส่วนของการขนส่งทางรางจากการศึกษาเปรียบเทียบการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการขนส่งสินค้าทางถนนและทางราง พบว่า การขนส่งสินค้าทางถนนปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ย 2.71 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อตู้คอนเทนเนอร์ ขณะที่การขนส่งทางรางปล่อยเพียง 0.96 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ลดลงได้มากกว่า 64.6% ซึ่งแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ระบบรางเป็นทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่า
หากเป้าหมายการขนส่งทุเรียนทางรางจำนวน 23,000 ตันในปี 2568 บรรลุผลสำเร็จ จะสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 1,610 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ใหม่เพื่อดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนกว่า 26,680 ตัน ซึ่งถือเป็นผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
“การส่งเสริมการขนส่งสินค้าทางราง โดยเฉพาะสินค้าเกษตรมูลค่าสูงอย่างทุเรียน ถือเป็นภารกิจสำคัญของ ขร. ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยตามข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) และแนวนโยบาย Net Zero Emissions ที่ประเทศได้ประกาศต่อประชาคมโลก โครงการนี้เป็นตัวอย่างของการนำผลการศึกษาทางวิชาการมาสู่การปฏิบัติจริง พร้อมกันนี้ ขร. ยังอยู่ระหว่างการพัฒนามาตรการส่งเสริมและแรงจูงใจเพิ่มเติม เพื่อสนับสนุนให้เกิดการเปลี่ยนรูปแบบการขนส่ง (Modal Shift) จากถนนมาสู่ระบบรางในวงกว้างมากขึ้นในอนาคต”นายพิเชฐ กล่าว