GULF มั่นใจผลงานQ2/68 โตต่อเนื่อง ชี้ “ไทย” จำเป็นต้องมี LNG terminal แห่งที่ 3

ผู้ชมทั้งหมด 184 

GULF คาดผลงานไตรมาส 2/68 โตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/68 รับรู้ผลกำไรเต็มปีจากโรงไฟฟ้าก๊าซฯที่ COD ครบทั้ง 4 หน่วย พร้อมรับอัตราเงินปันผลจากการเข้าลงทุนใน KBANK ชี้ประเทศไทยจำเป็นต้องก่อสร้าง LNG terminal แห่งที่ 3 รองรับนำเข้าเสริมความมั่นคงทางพลังงาน เตรียมก่อสร้าง Q4/68 ขณะที่ นโยบายสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษี ไม่กระทบธุรกิจ

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2025 GULF วันที่ 15 พ.ค.2568 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงไตรมาส 2 ปี2568 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2568 ที่มีรายได้รวม (total revenue) อยู่ที่ 32,343 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จาก 4,152 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

โดยไตรมาส 2/68 จะได้รับปัจจัยหนุนจากการรับรู้กำไรเต็มปีจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568 ขณะที่ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงที่ ลมดี จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม

อีกทั้ง ในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัท จะรับรู้อัตราเงินปันผลตอบแทน(Dividend Yield) หลังจากบริษัท เข้ามาถือหุ้นในธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มเป็น 3.25% หรือ 77 ล้านหุ้น ทำให้กัลฟ์ ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นกสิกรไทย

ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานทั้งปี 2568 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 25% จากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้ง GULF1 ยังได้เปิดตัวโครงการ “วันอาทิตย์” ซึ่งมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยนำเสนอบริการติดตั้ง solar rooftop แบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

default

ส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4 – 5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน

สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569

ส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในไตรมาส 4 ปี 2568 คาดว่า จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ไตรมาส 2 ปี2572 ซึ่งจะรองรับการนำเข้า LNG ได้อีก 8 ล้านตันต่อปี

“LNG terminal แห่งที่ 3 มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย หากดูรายละเอียดการใช้ไฟฟ้าเป็นรายปี อาจดูเหมือนเพียงพอ แต่ถ้าดูการใช้รายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.จะเห็นว่าก๊าซฯ ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้น การก่อสร้าง LNG terminal แห่งที่ 3 มีความจำเป็น

อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปีนี้ 

ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3- 5 ปีข้างหน้า

ขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของ 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งภาครัฐและภาคองค์กร

นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงิน บริษัทฯ มีแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งก่อนการควบรวมกิจการ บริษัทฯ เคยได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 210,000 ล้านบาท โดยภายหลังการควบรวมแล้วเสร็จ มติดังกล่าวได้สิ้นผลบังคับลงตามกฎหมาย

ดังนั้น GULF จึงกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อขออนุมัติวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่จำนวนไม่เกิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มียอดหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอยู่จำนวน 185,550 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2568

นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าแผนควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) ขณะนี้บริษัทยังศึกษาโอกาสอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้

ขณะที่ นโยบายของสหรัฐ ขึ้นกำแพงภาษีกับทุกประเทศทั่วโลก ยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากการลงทุนของบริษัทจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะยาวกับภาครัฐ สัดส่วน 94% จะมีในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม เพียง 6% เท่านั้น ขณะเดียวกันการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ที่ลดลง ก็ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเช่นกัน

ส่วนแผนการขยายการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ เพิ่มเติมหรือไม่นั้น ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ อยู่ 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่แผนขยายการลงทุน แต่ก็ยังมองหาโอกาสทำธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับงบลงทุนในปี 2568 คาดว่าจะใช้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จะใช้ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ และพลังงานลมในไทย ประมาณกว่า 3,000 เมกะวัตต์ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว อีกประมาณ 3,112 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลมในอังกฤษ อีก 1,500 เมกะวัตต์ และใช้ลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ เช่น ใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (ประเทศไทย)​​ โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ในจ.ฉะเชิงเทรา

รวมถึง ธุรกิจดิจิตัลฯ ที่จะใช้ลงทุนในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) และธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จะใช้ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นต้น