ผู้ชมทั้งหมด 146
ก้าวเข้าสู่ช่วงการดำเนินงานของภาคธุรกิจในช่วงไตรมาส 2 (เม.ย.-มิ.ย) ปี2568 ทำให้ภาคธุรกิจต่างต้องประเมินทิศทางการลงทุนในช่วงที่เหลือของปี2568 อีกครั้ง หลังจากผ่านพ้นการดำเนินงานในช่วงไตรมาส 1 (ม.ค.-มี.ค.) ปี2568 เพื่อให้ผลการดำเนินงานทั้งปี 2568 เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้
บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือPTT บริษัทพลังงานยักษ์ใหญ่ของไทย และเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศไทย ได้จัดทำ “PTT Group Guidance” เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของกลุ่ม ปตท. ภายใต้ปัจจัยความท้าทายข้างหน้า เพื่อมุ่งสู่การสร้างเสถียรภาพ ผ่านกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เริ่มด้วย การประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจและราคา ช่วงที่เหลือปี 2568 อ้างอิงข้อมูลจาด กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) ที่ คาดการณ์ อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก(GDP) ในปี 2568 จะเติบโต 2.8% จากปี 2567 ที่เติบโต 3.3% เนื่องจากสหรัฐฯ ระงับการขึ้นภาษีศุลกากรตอบโต้ประเทศคู่ค้าเป็นเวลา 90 วัน ทำให้ประเทศต่างๆคลายความกังวลลง และมีเวลาเจรจาต่อรองมากขึ้น ขณะที่การค้าการส่งออกโลกในระยะสั้นยังดีอยู่ เนื่องจากหลายประเทศจะเร่งนำเข้าสินค้าก่อนที่สหรัฐฯจะขึ้นภาษี ตลอดจนนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายลงของธนาคารกลางประเทศต่างๆที่มีแนวโน้มปรับลดอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยที่ต้องระวัง เช่น นโยบายของสรัฐฯ และมาตรการตอบโต้การค้าของจีนและสหรัฐฯ รวมถึงปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจจะกดดันเศรษฐกิจโลกต่อไปซึ่งต้องจับตาดู

ส่วนอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย(GDP) ในปี 2568 IMF คาดว่า จะเติบโต 1.8% จากปี2567 ที่เติบโต 2.5% จากส่งออกที่ยังเติบโต แรงกดดันอัตราเงินเฟ้อลดลง ตลอดจนการใช้จ่ายภาครัฐที่เพิ่มขึ้นและการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น
แต่ยังต้องระวังผลกระทบมาตรการตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯที่อาจจะรุนแรงขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ รวมถึงสินค้านำเข้าที่จะเข้ามาแข่งขันมากขึ้น รวมถึงหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้นจะกดดันเศรษฐกิจไทย
ด้านราคาพลังงาน ในส่วนของ ราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ตลาด Henry Hub คาดว่า จะปรับเพิ่มขึ้นจากการที่สหรัฐฯ ส่งออก LNG เพิ่มขึ้นทำให้ซัพพลายในประเทศลดลง ประกอบกับอุปสงค์ในสหรัฐฯเพิ่มขึ้น คาดว่า จะอยู่ที่ 4-4.5 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ คาดว่า จะอ่อนตัวลงโดยเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 65-75 ดอลลาร์ฯต่อบาร์เรล จากความตึงเครียดนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และคาดการณ์โอเปกพลัส น่าจะขยายกำลังการผลิตน้ำมันเข้าสู่ตลาดตั้งแต่เดือนพ.ค.เป็นต้นไป รวมถึงอุปทานจากนอนโอเปกที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าการกลั่น(GRM) ตลาดสิงคโปร์ จะย่อตัวลงเฉลี่ยอยู่ที่ 3.7-4.7 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นผลมาจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด)ของกลุ่มโรงกลั่น โดยเฉพาะเบนซินและดีเซล ที่มีซัพพลายจากการเพิ่มกำลังการผลิตของโรงกลั่นใหม่
ส่วนผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี ยังคงได้รับแรงกดดันเนื่องจากดีมานด์ของผลิตภัณฑ์ปลายทางยังฟื้นตัวช้า ประกอบกับมีแรงกดดันจากซัพพลายใหม่ๆโดยเฉพาะในจีน ที่ทยอยเปิดดำเนินการในช่วงครึ่งปีหลัง และความตึงเครียดจากมาตรการภาษี

สำหรับ “Business outlook 2025” แนวโน้มผลการดำเนินงานรายธุรกิจของ ปตท. ปี2568 ประเมินว่า
กลุ่มธุรกิจ Upstream ประกอบด้วย
ธุรกิจสำรวจและผลิต(E&P) ของ ปตท.สผ. คาดว่าปริมาณการขายเฉลี่ยจะปรับเพิ่มขึ้น ตามปริมาณการขายในประเทศ หลังโครงการเอราวัณผลิตก๊าซฯเพิ่ม และการเข้าซื้อสัดส่วนในโครงการสินภูฮ่อมเพิ่มเติม รวมถึงการเพิ่มกำลังการผลิตของโครงการอาทิตย์ในช่วงเดือนมิ.ย.นี้ ขณะที่ต้นทุนต่อหน่วยของปตท.สผ.คาดว่าจะยังรักษาให้อยู่ในระดับที่แข่งขันได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่า ราคาเฉลี่ยจะปรับลดลงตามทิศทางราคาน้ำมันดิบและก๊าซฯในตลาดโลก
ธุรกิจก๊าซฯ คาดว่า กำลังการผลิตจะฟื้นตัวตามปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยที่เพิ่มขึ้นและการปรับเพิ่มปริมาณการขายให้กับลูกค้า ขณะที่ปริมาณจองท่อฯ และLNG terminal ก็น่าจะปรับเพิ่มขึ้นตามความต้องการในประเทศ แต่ยังมีสิ่งที่น่ากังวลจากผลกระทบการเปิดเสรีก๊าซฯ และการนำเข้า LNG ของชิปเปอร์รายใหม่จะส่งผลต่อปริมาณการขายก๊าซฯ

กลุ่มธุรกิจ Downstream ประกอบด้วย
ธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่า ซัพพลายใหม่ๆเพิ่มขึ้นขณะที่ดีมานด์อ่อนแอก็น่าจะกดดันราคา
ธุรกิจการกลั่น จะยังได้รับแรงกดดันจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคากลั่น(GRM) ย่อตัวลง และมีปัญหาขาดทุนสต็อก(Stock loss) เพิ่มขึ้น
ธุรกิจน้ำมัน คาดว่า ปริมาณขายจะปรับเพิ่มขึ้นตาม GDP ที่คาดว่าจะขยายตัว
ธุรกิจไฟฟ้า คาดว่า ความต้องการใช้ในประเทศน่าจะฟื้นตัวตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวดีขึ้น และมาร์จิ้นมีแนวโน้มดีขึ้นจากราคาถ่านหินที่ผลิตไฟฟ้ามีแนวโน้มลดลง
ธุรกิจ Life science คาดว่า จะรักษาการเติบโตจากขายการผลิตภัณฑ์ยาได้จากการจำหน่ายในเอเชียและสหรัฐฯ

นายธนพล ประภาพันธ์ ผู้จัดการฝ่ายผู้ลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ประเมินว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจ รวมถึงโอกาสที่จะเกิดเศรษฐกิจถดถอย จากนโยบายตั้งกำแพงภาษีของสหรัฐฯ ประกอบกับโอเปกพลัสกำลังพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มกำลังการผลิตหรือไม่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะกดดันราคาน้ำมันให้ปรับตัวลดลง
“แนวโน้มไตรมาส 2 และที่เหลือของปีนี้ มองว่า ธุรกิจจะได้รับแรงกดดันจากปัจจัยด้านราคาของโลกที่มีแนวโน้มอ่อนตัวลง ฉะนั้นกลุ่มธุรกิจที่แปรผันตรงกับราคาจะได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ดี ปตท.มีแผนที่จะ Diversified portfolio ซึ่งจะมีบางธุรกิจที่ได้รับประโยชน์จากต้นทุนราคาพลังงานที่ต่ำลง เช่น LNG ก็จะทำให้กลุ่มธุรกิจก๊าซฯ ได้ต้นทุนที่ต่ำลง โดย ปตท.ไม่ได้นิ่งนอนใจ ยังดำเนินโครงการต่างๆเพิ่มประสิทธิภาพโครงการเพื่อซัพพอร์ต ปรับลดต้นทุน เพื่อเพิ่มศักยภาพแข่งขัน และซัพพอร์ตผลการดำเนินงานของ ปตท.”
อย่างไรก็ตาม ปตท.ไม่ได้นิ่งนอนใจได้มีการจัดตั้งวอร์รูม เตรียมแผนรับมือเศรษฐกิจถดถอยครอบคลุมการดำเนินงานใน 5 ด้าน ได้แก่
1. Strategy ทบทวนกลยุทธ์เดิมพร้อมพิจารณาความท้าทายใหม่ที่จะเข้ามากระทบ พบว่ากลยุทธ์กลุ่ม ปตท. มาถูกทาง เหมาะสม สามารถรับมือกับปัจจัยภายนอกและความท้าทายจากเรื่องสงครามการค้าได้ เพียงแต่บางเรื่องต้องเร่งให้เร็วขึ้น เช่น การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท.
2. Financial Management รักษาวินัยการเงิน บริหารต้นทุนการเงิน เสริมสภาพคล่องกระแสเงินสด รักษาระดับ Credit Rating
3. Supply Chain & Customer ดูแลคู่ค้า ลูกค้า เพื่อสร้างความต่อเนื่องตลอด Supply Chain พร้อมเร่งดำเนินโครงการสร้างมูลค่าเพิ่ม
4. Project Management ทบทวนความเป็นไปได้ของโครงการและการลงทุน โดยต้องพิจารณาการลงทุนอย่างรอบคอบ รวมถึงการแปลงสินทรัพย์เป็นทุน (Asset Monetization) ของ flagship
5. Communication สื่อสารและสร้างความเข้าใจการดำเนินธุรกิจแก่ผู้มีส่วนได้เสียอย่างทั่วถึง

อีกทั้งได้มีการดำเนินงานต่างๆ เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลการดำเนินงานผ่านโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการ P1 และ D1 ซึ่งเป็น PTT Group Synergy บริหารงานแบบ Centralized Supply and Market Managementมีเป้าหมาย 3,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2571, โครงการ MissionX ยกระดับ Operational Excellence เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างมูลค่าทั้งกลุ่ม ปตท. ประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2570 มีแผนงานชัดเจนและเป้าหมายเป็นรูปธรรมซึ่งเริ่มดำเนินการแล้ว ,โครงการ Axis นำเทคโนโลยีดิจิทัลและ AI มาเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ซึ่งจะสร้างมูลค่าได้อีก 11,000 ล้านบาทต่อปี ภายในปี 2572
นอกจากนี้ ปตท.ยังเตรียมการรับมือด้วยการเตรียมกระแสเงินสดและสภาพคล่องให้เพียงพอ ซึ่งจากการดำเนินโครงการต่างๆดังกล่าว จะช่วยซัพพอร์ตผลกำไรและผลการดำเนินงานของปตท.ให้เติบโตตามเป้าหมาย และพยุงผลประกอบการให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี แม้ว่าสภาวะเศรษฐกิจจะผันผวน

ทั้งนี้ ปี 2568 ปตท.ตั้งงบลงทุนในส่วนของปตท.ไว้ประมาณ 2-3 หมื่นล้านบาท โดยจะมุ่งลงทุนในธุรกิจหลัก และธุรกิจที่สร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศ ทั้งธุรกิจท่อส่งก๊าซฯและธุรกิจก๊าซฯ อย่างไรก็ตาม ปตท. มีนโยบายที่จะควบคุมค่าใช้จ่ายและแสวงหาโอกาสเพื่อทำกำไรในสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีความผัวผวน และรักษาผลการดำเนินงานให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี
