ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้อาจฟื้นตัว เหตุการณ์เจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ สหรัฐฯ-อิหร่าน ยังไม่แน่นอน

ผู้ชมทั้งหมด 472 

ไทยออยล์ ชี้ราคาน้ำมันดิบสัปดาห์นี้มีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยจากความไม่แน่นอนเรื่องการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์สหรัฐฯ และอิหร่าน คาดเวสต์เท็กซัส เคลื่อนไหวที่กรอบ 58-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยบทวิเคราะห์สถานการณ์น้ำมันประจำสัปดาห์ 23 – 29 พ.ค. 68 พบว่า ราคาน้ำมันดิบมีแนวโน้มฟื้นตัวเล็กน้อยจากความไม่แน่นอนของการเจรจาข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่าน ขณะที่สถานการณ์ระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไร้ข้อสรุป แม้จะมีความพยายามทางการทูตและมาตรการคว่ำบาตรรอบใหม่จากสหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักร อย่างไรก็ดี ราคาน้ำมันยังเผชิญแรงกดดันจากแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนที่ยังจำกัด แม้มีการผ่อนคลายนโยบายการเงิน

ขณะเดียวกัน สหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงกดดันจากระดับหนี้สาธารณะที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งส่งผลต่อความเชื่อมั่นของตลาด ทั้งนี้ ตลาดยังจับตาการประชุมกลุ่มโอเปกพลัสในช่วงสัปดาห์หน้าที่จะมีการพิจารณาการปรับเพิ่มกำลังการผลิตในเดือน ก.ค.68

สำหรับปัจจัยสำคัญที่คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์นี้ ประกอบด้วย

  • ตลาดจับตาผลการเจรจาเกี่ยวกับข้อตกลงนิวเคลียร์ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านที่ยังไม่แน่นอน โดยรัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศโอมาน เผยว่าการเจรจานิวเคลียร์รอบใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และอิหร่านจะมีขึ้นในวันที่ 23 พ.ค.68  ณ กรุงโรม แม้ก่อนหน้านี้ สำนักข่าว CNN รายงานโดยอ้างอิงแหล่งข่าวจากเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ ว่าอิสราเอลกำลังเตรียมการโจมตีฐานปฏิบัติการนิวเคลียร์ของอิหร่าน ท่ามกลางการเจรจาทางการทูตกับอิหร่านภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ก็ตาม ทั้งนี้ ความเคลื่อนไหวดังกล่าวสะท้อนถึงความเสี่ยงที่อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่ลุกลามในภูมิภาคตะวันออกกลาง อย่างไรก็ดี ตลาดคาดว่าท่าทีของอิสราเอลอาจขึ้นอยู่กับมุมมองต่อข้อตกลงนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ กำลังเจรจากับอิหร่าน ทั้งนี้ อิหร่านถือเป็นผู้ผลิตน้ำมันดิบรายใหญ่อันดับ 3 ในกลุ่มโอเปกและมีกำลังการผลิตน้ำมันดิบราว 3.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน
  • ขณะเดียวกัน สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงหยุดยิง แม้ว่าสหรัฐฯ พยายามผลักดันให้เกิดข้อตกลงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรปและสหราชอาณาจักรได้ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย รวมถึงมีการเรียกร้องให้ปรับลดเพดานราคาน้ำมันดิบรัสเซียจากระดับปัจจุบันที่ 60 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ลงสู่ระดับ 50 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำมันดิบรัสเซียที่เข้าสู่ตลาดโลก
  • ตลาดยังติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากธนาคารกลางจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลูกค้าชั้นดีเป็นครั้งแรกในรอบ 7 เดือน โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ย LPR ประเภท 1 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.00% และประเภท 5 ปีลง 0.10% สู่ระดับ 3.50% เพื่อกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ท่ามกลางแรงกดดันจากความตึงเครียดทางการค้าระหว่างประเทศ ทั้งนี้ ดัชนียอดค้าปลีกเดือนเมษายนที่ผ่านมาของจีนยังปรับเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ สะท้อนถึงความเปราะบางของเศรษฐกิจภายในประเทศ
  • ตลาดยังคงมีความกังวลเกี่ยวกับแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แม้ว่าจะมีการผ่อนปรนมาตรการภาษีการค้ากับจีนก็ตาม ทั้งนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตมูดี้ส์ (Moody’s) ได้ปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของสหรัฐฯ ลง 1 ขั้น จากระดับ Aaa สู่ระดับ Aa1 โดยให้เหตุผลว่าอัตราหนี้สาธารณะของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากปัจจุบันที่อยู่ที่ระดับ 97% ของ GDP คาดว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 134% ของ GDP ภายในปี พ.ศ. 2578
  • ตลาดจับตาผลการประชุมของสมาชิกกลุ่มโอเปกพลัสที่จะจัดขึ้นในวันที่ 1 มิ.ย. 68 นี้เพื่อติดตามและประเมินผลการดำเนินงานตามแผนการผลิตน้ำมันดิบของแต่ละกลุ่มประเทศสมาชิกในช่วงเดือน มี.ค. และ เม.ย. ที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี ตลาดคาดกลุ่มโอเปกพลัสยังคงเดินหน้าเพิ่มกำลังการผลิตที่ระดับสูงต่อเนื่องตามแผนที่ได้เปิดเผยก่อนหน้า
  • ตัวเลขทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่น่าติดตามในสัปดาห์นี้ คือ ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของสหรัฐฯ ได้แก่ ดัชนีจีดีพีไตรมาส 1/68 รายงานความเชื่อมั่นผู้บริโภคจากซีบี เดือน พ.ค. 68 ดัชนีราคาด้านการบริโภคส่วนบุคคล เดือน เม.ย. 68 และดัชนีราคาการใช้จ่ายด้านการบริโภคส่วนบุคคลพื้นฐาน เดือน เม.ย. 68 ตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของยุโรป ได้แก่ ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรม เดือน พ.ค. 68 ดัชนีความเชื่อมั่นภาคบริการ เดือน พ.ค. 68 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค เดือน พ.ค. 68 และตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญของจีน ได้แก่ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิต เดือน พ.ค. 68 และดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อนอกภาคการผลิต เดือน พ.ค. 68

ทั้งนี้ ไทยออยล์ คาดราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์นี้จะเคลื่อนไหวที่กรอบ 58-68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวที่กรอบ 60-70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

ส่วนสรุปสถานการณ์ราคาน้ำมันในสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 16 – 22 พ.ค. 68 พบว่าราคาน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัสในสัปดาห์ที่ผ่านมาปรับลดลง 1.95 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรลมาอยู่ที่ 61.20 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ในขณะที่ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับลดลง 1.65 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล มาอยู่ที่ 64.44 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนราคาน้ำมันดิบดูไบปิดเฉลี่ยอยู่ที่ 63.89 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล เนื่องจากตลาดยังคงกังวลเกี่ยวกับสงครามการค้า หลังจากนายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐฯ กล่าวว่า ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ จะเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราที่เขาประกาศไว้เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 68 ต่อประเทศคู่ค้าที่ไม่เจรจาข้อตกลงการค้ากับสหรัฐฯ อย่างสุจริตใจ ด้านสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (NBS) เปิดเผยยอดค้าปลีกเดือนเม.ย. ปรับตัวขึ้น 5.1% เทียบปีก่อนหน้า ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ที่ระดับ 5.5% สะท้อนภาคการอุปโภคบริโภคของจีนยังคงซบเซา

ขณะที่ด้านสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยตัวเลขน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุด ณ วันที่ 16 พ.ค. 68 เพิ่มขึ้น 1.3 ล้านบาร์เรล สู่ระดับ 443.2 ล้านบาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะลดลง 1.3 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ดี ราคายังได้รับแรงหนุนจากการที่การเจรจาเพื่อบรรลุข้อตกลงนิวเคลียร์ครั้งใหม่ของอิหร่านยังไม่คืบหน้า โดยสหรัฐฯ ยืนกรานให้อิหร่านลดระดับการเสริมสมรรถนะยูเรเนียม ขณะเดียวกัน ราคายังได้รับแรงหนุนจากการที่สหภาพยุโรปและอังกฤษได้ประกาศเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียเพิ่มเติม