ผู้ชมทั้งหมด 256
“เจ้าท่า” มุ่งยกระดับท่าเรือโดยสารนำหลักออกแบบ “อารยสถาปัตย์” ท่าเรืออัจฉริยะ ตั้งเป้าแล้วเสร็จ 29 แห่งปี 69 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล เชื่อมระบบโครงข่าย ล้อ – ราง – เรือ อย่างไร้รอยต่อ

นายกริชเพชร ชัยช่วย อธิบดีกรมเจ้าท่า เปิดเผยว่า กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่า ในฐานะผู้กำกับดูแลและพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำและการพาณิชยนาวี ได้เร่งดำเนินการตามแผนพัฒนาท่าเรืออัจฉริยะ หรือ Smart Pier ทั้งหมด 29 แห่ง ทั้งในกรุงเทพฯ และปริมณฑล เพื่อเป็นไปตามนโยบายของ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมเจ้าท่าเร่งยกระดับท่าเรือให้เป็นสถานีเรือโดยสารที่มีการออกแบบตามหลักอารยสถาปัตย์ พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัย ความสวยงาม ปลอดภัยสูง สำหรับการใช้สัญจรในแม่น้ำเจ้าพระยาและคลองที่สำคัญ เพื่อรองรับการขยายตัวจำนวนผู้ใช้บริการสัญจรและการท่องเที่ยวทางน้ำ ที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงระบบขนส่งอื่นๆ ภายใต้โครงข่าย “ล้อ – ราง – เรือ อย่างไร้รอยต่อ
สำหรับแผนการปรับปรุงและแก้ไขท่าเรือโดยสารได้กำหนดแนวทางการพัฒนาให้เป็นทิศทางเดียวกัน โดยคำนึงถึงสิทธิความเท่าเทียมทางสังคม ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมทางน้ำ เพื่อรองรับประชาชนทุกกลุ่ม โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกให้กับกลุ่มผู้ทุพลภาพ ผู้สูงอายุ เด็ก และสตรีมีครรภ์ รวมถึงผู้ที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวทางร่างกาย ซึ่งการออกแบบ “อารยสถาปัตย์” หรือ (Friendly Design) ที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ประกอบด้วย ทางลาดชัน ห้องน้ำสำหรับผู้พิการ
รวมถึงป้ายสัญลักษณ์ต่างๆ เพื่อเกิดให้เข้าใจง่ายขึ้น และยังได้ปรับปรุงภูมิสถาปัตย์ให้ดูกลมกลืน และสอดคล้องกับบริบททางสังคมในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ เพื่อให้เกิดการเชื่อมต่อกับระบบรักษาความปลอดภัย รวมถึงการจัดเก็บข้อมูลต่างๆ ของผู้โดยสารที่เข้ามาใช้บริการ การนำพลังงานสะอาดมาใช้ เพื่อยกระดับเป็นท่าเรือที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล


ทั้งนี้ความก้าวหน้าในการดำเนินงาน ได้มีการปรับปรุงและแก้ไขท่าเรือโดยสารในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ในรูปแบบอารยสถาปัตย์แล้วเสร็จ 16 แห่ง อาทิ กรมเจ้าท่า สะพานพุทธ นนทบุรี ท่าช้าง สาทร ราชินี และบางโพ จากทั้งหมด 29 แห่ง และอีก 13 แห่งจะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในปี 2569 ตามแผนงานที่วางไว้ โดยเมื่อเร็วๆนี้ ยังได้มีการเปิดให้บริการท่าเรือพระราม 7 อย่างเป็นทางการ ด้วยแนวคิด “ท่าเรือยุคใหม่ สะดวกปลอดภัย เทคโนโลยีก้าวไกล ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” ซึ่งถือเป็นท่าเรือที่ได้ร่วมมือกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่มีการนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านพลังงาน ติดตั้งโซล่าร์รูฟท็อปบนหลังคาท่าเรือ พร้อมสถานีชาร์จรถไฟฟ้า (EV CHARGER) ให้เป็นท่าเรือ Smart Pier อย่างสมบูรณ์แบบ
สำหรับแผนการพัฒนาท่าเรือในต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดหัวเมืองท่องเที่ยวต่างๆ เช่น ท่าเรือเกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี และท่าเรือ ใน จ.ภูเก็ต ที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเป็นจำนวนมาก กรมเจ้าท่า ได้เข้าไปกำกับดูแลและขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ดำเนินการปรับปรุงและแก้ไขท่าเทียบเรือต่างๆ ให้เป็นรูปแบบอารยสถาปัตย์ เพื่อให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่มีมาตรฐานระดับสากล ทั้งในด้านการบริหารจัดการท่าเรือที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความปลอดภัย เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นต่อผู้ใช้บริการในประเทศ รวมถึงนักท่องเที่ยวและชาวต่างชาติ
“กรมเจ้าท่า คำนึงถึงความปลอดภัย และการอำนวยความสะดวกในการเดินทางโดยสารทางน้ำ เพื่อให้เกิดการกระตุ้น การพัฒนาระบบขนส่งในหลายมิติ และสามารถสร้างความเท่าเทียมของคนทุกกลุ่มในสังคม ดังนั้นทุกขั้นตอนของการออกแบบ เพื่อให้เข้าถึงทุกกลุ่ม ที่จะใช้บริการท่าเรือโดยสารได้อย่างมั่นใจมีความปลอดภัยสูงสุด” นายกริชเพชร กล่าวเพิ่มเติม
ทั้งนี้ แผนการพัฒนาท่าเรือจะสามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารที่มีการเติบโตมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีผู้ใช้บริการสัญจรทางน้ำเพิ่มสูงขึ้น ทำให้คาดกาณ์ว่าภายในปี 2570 จะมีผู้ปริมาณผู้ใช้บริการท่าเรือโดยสารเฉลี่ย 53,000 คนต่อวัน และยังสามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ประมาณ 280,230 ตัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อปี