ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน Advanced Air Mobility Symposium (AAM) 2026 ครั้งแรกในเอเชีย

ผู้ชมทั้งหมด 113 

สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) หรือ CAAT ได้รับเลือกจากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) ให้เป็นเจ้าภาพในจัดการประชุมสัมมนานานาชาติว่าด้วยการเคลื่อนย้ายทางอากาศขั้นสูง หรือ Advanced Air Mobility Symposium (AAM 2026) ซึ่งจะจัดขึ้นในปี พ.ศ. 2569 นับเป็นครั้งแรกที่งานสำคัญนี้จะจัดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย โดย ICAO ได้ระบุว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและความพร้อมในการจัดงานอย่างโดดเด่น ทั้งด้านศักยภาพการบริหารจัดการ วิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของ AAM และการสนับสนุนจากภาครัฐในทุกมิติ ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยได้รับความไว้วางใจให้เป็นเจ้าภาพจัดงานระดับนานาชาติในครั้งนี้

การประชุม AAM ถือเป็นเวทีสำคัญที่รวบรวมผู้นำด้านการบินพลเรือนจากทั่วโลก เพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เทคโนโลยี และแนวทางกำกับดูแลเกี่ยวกับการเคลื่อนย้ายทางอากาศขั้นสูง อาทิ โดรนเพื่อการขนส่งทางอากาศ ระบบแท็กซี่บินไร้คนขับ (eVTOLs) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางอากาศในเมือง(Urban Air Mobility – UAM) และการจัดการโครงข่ายจราจรทางอากาศในเมือง (Unmanned aircraft system traffic management) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีแห่งอนาคตที่หลายประเทศกำลังเร่งผลักดันเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและการคมนาคมที่ยั่งยืน

พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการ CAAT กล่าวว่า “การที่ ICAO มอบความไว้วางใจให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงาน AAM 2026 ถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง และเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศไทยจะได้แสดงศักยภาพในฐานะผู้นำด้านการพัฒนาระบบการบินแห่งอนาคตในภูมิภาคเอเชีย การประชุมครั้งนี้ไม่เพียงแต่จะสร้างเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ระดับนานาชาติ แต่ยังจะจุดประกายความร่วมมือใหม่ ๆ ทั้งในเชิงเทคโนโลยี การลงทุน และนวัตกรรม เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในระยะยาว และ CAAT ในฐานะเจ้าภาพร่วมกับ ICAO ในการจัดงาน AAM 2026 จะทำหน้าที่เป็นแกนกลางในการวางแผน ประสานงาน และดำเนินการจัดงานร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในระดับประเทศและระดับนานาชาติ”

สำหรับงาน AAM Symposium ครั้งแรก จัดขึ้นที่สำนักงานใหญ่ ICAO ในเมืองมอนทรีออล ประเทศแคนาดา เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2567 โดยมีผู้เข้าร่วมกว่า 800 คนจากนานาประเทศ และมีหัวข้อสำคัญ เช่น กรอบการกำกับดูแล AAM ในระดับสากล ความท้าทายด้านความปลอดภัยและโครงสร้างพื้นฐาน โมเดลธุรกิจและการพาณิชย์ AAM ความร่วมมือระหว่างรัฐและภาคอุตสาหกรรม ฯลฯ

การที่ประเทศไทยได้รับเลือกให้เป็นเจ้าภาพในปี 2026 ถือเป็นการยกระดับบทบาทของไทยในเวทีการบินพลเรือนระดับโลก และยังแสดงถึงความพร้อมในการขับเคลื่อนนวัตกรรม AAM อย่างเป็นรูปธรรมในภูมิภาคเอเชีย