ผู้ชมทั้งหมด 129
สกนช. เตรียมจัดทำแผนวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงฉบับใหม่ (ปี 2568-2572) หลังแผนเดิมครบ 5 ปี แย้มต้องทบทวนกรอบดูแลราคาขายปลีก “ดีเซล”และ LPG ใหม่ ให้สอดคล้องกับเสถียรภาพกองทุนน้ำมันฯรวมถึงสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดจัดทำแผนเสร็จปลายปีนี้ ก่อนเสนอ ครม. อนุมัติต่อไป
แผนวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงเดิม(ปี2563-2567) ซึ่งครบกำหนด 5 ปี ทำให้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนวิกฤติการณ์ด้านน้ำมันเชื้อเพลิงใหม่ (ปี 2568-2572) คาดว่า แผนวิกฤติฯ ฉบับใหม่ จะเสร็จประมาณปลายปี 2568 ซึ่งตามขั้นตอนจะต้องนำเสนอที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) พร้อมด้วยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาก่อนจะประกาศใช้ต่อไป

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผน สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยว่า สาระสำคัญของแผนวิกฤติฯ ฉบับใหม่ จะมุ่งเน้นการพิจารณาด้านความเหมาะสมของการนำเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงไปช่วยเหลือในสถานการณ์เกิดวิกฤติราคาพลังงาน โดยจะต้องกำหนดก่อนว่าสถานการณ์ใดจะเข้าข่ายการเป็นวิกฤติด้านพลังงาน และกรอบการนำเงินกองทุนฯ ไปช่วยเหลืออย่างเหมาะสมควรอยู่ที่ระดับใด ซึ่ง
ปัจจุบันแผนวิกฤติฯ จะยึดหลักเกณฑ์กรณีราคาน้ำมันโลกเกิน 5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อสัปดาห์ และราคาน้ำมันขายปลีกขยับขึ้นเกิน 1 บาทต่อสัปดาห์ ถือว่าเข้าข่ายเกิดวิกฤตราคาพลังงานที่กองทุนฯ สามารถเข้าไปรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันได้
“ปัจจุบัน ยังยึดกรอบราคาขายน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ราคาปัจจุบันปรับขึ้นไปอยู่ที่ 31.94 บาทต่อลิตร ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันโลกที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นแผนวิกฤติฯ ฉบับใหม่จะต้องกลับมาทบทวนว่ากรอบราคาดีเซลที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับใด เพื่อให้สอดคล้องกับการนำเงินกองทุนน้ำมันฯ ไปช่วยพยุงราคา ทั้งนี้ประชาชนจะเกิดความรู้สึกว่าราคาดีเซลแพงเมื่อขยับเกิน 30 บาทต่อลิตร แต่ที่ผ่านมาภาครัฐเคยขยับราคาไปสูงสุดถึง 35 บาทต่อลิตรในช่วงวิกฤตราคาพลังงานที่ผ่านมา”
อย่างไรก็ตาม การกำหนดกรอบราคาดีเซลใหม่ จะมีหลากหลายแนวทาง โดยคำนึงถึงข้อดีและข้อเสียที่จะเกิดขึ้นกับความรู้สึกของประชาชน ภาวะเศรษฐกิจประเทศ และอัตราเงินเฟ้อ เป็นต้น
อีกทั้ง จะต้องพิจารณากำหนดราคาก๊าซหุงต้ม (LPG) ว่าควรตรึงราคาไว้ที่ 423 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัมต่อไปหรือไม่ และการช่วยเหลือควรเลือกเฉพาะกลุ่มครัวเรือน หรือควรช่วยทุกกลุ่มเหมือนในปัจจุบัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบันและฐานะเงินกองทุนฯ
อย่างไรก็ตาม บทเรียนในช่วงวิกฤติราคาพลังงาน 3 ปีที่ผ่านมา ส่งผลให้กองทุนฯ เข้าไปพยุงราคาดีเซลและ LPG จนกองทุนฯ เป็นหนี้สูงเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาท และต้องกู้เงินจากสถาบันการเงินถึง 105,333 ล้านบาท ขณะที่ล่าสุด ณ วันที่13 ก.ค. 2568 กองทุนฯ ติดลบรวม -31,588 ล้านบาท