ผู้ชมทั้งหมด 1,260
ยุคของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) หน่วยงานต่างๆ ทั่วโลกต่างกำลังพยายามร่วมกันในการเปลี่ยนผ่านจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล มาสู่การใช้พลังงานสะอาดความก้าวหน้าของพลังงานสะอาดในรูปแบบที่หลากหลาย ถือเป็นเป้าหมายระดับโลกร่วมกัน ในขณะที่เอบีบีเป็นหนึ่งในบริษัทวิศวกรรมผู้ให้บริการระบบไฟฟ้า เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติ บริการเทคโนโลยีทางด้านพลังงานตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง เป็นบริษัทที่มีเครือข่ายใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลกก็มีการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อ ตอบสนองความต้องการในยุคการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน
มิสเตอร์แอนเดรียส มอลทิเซน ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานประจำภูมิภาคเอเชีย เอบีบี ระบุว่า ในขณะที่โลกเปลี่ยนไปสู่แหล่งพลังงานสะอาดเพิ่มสูงขึ้น การใช้เชื้อเพลิงพลังงานที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุดเพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจึงกลายเป็นสิ่งจำเป็น แนวทางนี้ช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ราบรื่นและยั่งยืนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่ความมั่นคงด้านพลังงานยังคงเป็นข้อกังวล ด้วยการมุ่งเน้นไปที่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของเชื้อเพลิงทั่วไปเอบีบีไม่เพียงแต่จัดการกับความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นในทันที แต่ยังปูทางไปสู่อนาคตด้านพลังงานที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นอีกด้วย การสร้างสมดุลระหว่างความต้องการความมั่นคงด้านพลังงานกับเป้าหมายด้านความยั่งยืนนั้นจำเป็นต้องมีการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในด้านเทคโนโลยีและโครงสร้างพื้นฐาน ควบคู่ไปกับกรอบนโยบายที่แข็งแกร่งที่จูงใจให้เกิดแนวปฏิบัติที่สร้างคาร์บอนต่ำ
เอบีบี ลงทุนในความร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในอุตสาหกรรมเพื่อลดอุปสรรคในการนำไปใช้งาน ในสหราชอาณาจักร บริษัทร่วมมือกับ Pace CCS ซึ่งใช้เทคโนโลยี ดิจิทัล ทวิน ของเอบีบี เพื่อจำลองขั้นตอนการออกแบบและสถานการณ์การทดสอบ เพื่อพิสูจน์แนวคิดและรับรองว่าการออกแบบนั้นเหมาะสมกับวัตถุประสงค์ เทคโนโลยีดังกล่าวจะแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าจะสามารถเปลี่ยนไปสู่การดำเนินงานของ CCS ได้อย่างไร
ทั้งนี้ไฮโดรเจนและแอมโมเนียมีศักยภาพที่สำคัญในฐานะแหล่งพลังงานที่นำไปสู่การ ลดคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ โดยการเพิ่มกำลังการผลิตถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการลดการปล่อยคาร์บอนในภาคส่วนต่างๆ ตัวอย่างเช่น ห่วงโซ่อุปทานพลังงานไฮโดรเจนของออสเตรเลีย (HESC) เป็นห่วงโซ่อุปทานไฮโดรเจนเหลวเชิงพาณิชย์แห่งแรกที่มีศักยภาพในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลกได้ 1.8 ล้านตันต่อปี ลักษณะการใช้งานที่หลากหลายของเชื้อเพลิงทั้งสองประเภทได้กระตุ้นให้ประเทศต่างๆ เช่น ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ สร้างเครือข่ายการจัดหาร่วมกันสำหรับเชื้อเพลิงคาร์บอนเป็นกลาง ในประเทศไทย ก็เช่นเดียวกัน รัฐบาลส่งเสริมให้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิงใหม่ในการผลิตไฟฟ้าควบคู่ไปกับก๊าซธรรมชาติ โดยมีเป้าหมายในการเพิ่มสัดส่วนของไฮโดรเจนมากกว่า 5% ของการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติอย่างมีนัยสำคัญภายในปี 2574
นอกจากนี้ ประเทศยังขอความช่วยเหลือทางเทคนิคจากศูนย์เทคโนโลยีและเครือข่ายสภาพภูมิอากาศ (CTCN) เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์ระดับชาติเกี่ยวกับไฮโดรเจนสีเขียว นอกจากนี้ ประเทศไทยยังได้ประกาศแผนการสร้างโครงการไฮโดรเจนสีเขียวเชิงพาณิชย์แห่งแรกร่วมกับจีนอีกด้วย
อย่างไรก็ตามการใช้ไฮโดรเจนและแอมโมเนีย มีข้อกังวลด้านความปลอดภัยและความท้าทายเกี่ยวกับการผลิต จากคุณสมบัติที่ติดไฟง่าย ดังนั้น การจัดเก็บ การขนส่ง และการใช้งานขั้นสุดท้ายของไฮโดรเจน จะต้องได้รับการรับรองว่ามีความปลอดภัยก่อนที่จะนำไปใช้งานอย่างแพร่หลาย นี่คือจุดที่เทคโนโลยี ดิจิทัล ทวิน สามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้
การปรับเปลี่ยนสู่ดิจิทัลเพื่อการจัดการพลังงานที่ยั่งยืนนั้นภาคพลังงานกำลังนำเทคโนโลยีดิจิทัลทวินมาใช้มากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกในการบูรณาการพลังงานหมุนเวียนเข้ากับโครงข่ายไฟฟ้า และลดความเสี่ยงในตลาดพลังงานใหม่ ดิจิทัล ทวิน เป็นเทคโนโลยีที่ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางข้อมูล โดยให้ข้อมูลเชิงลึกเพื่อการตัดสินใจที่ดีขึ้น นำไปสู่ประสิทธิภาพและความยั่งยืนที่เพิ่มขึ้น เช่น การลดการใช้พลังงานและผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
เอบีบี กำลังพัฒนาโซลูชันระบบอัตโนมัติ การใช้พลังงานไฟฟ้า และเทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความยั่งยืนของภาคส่วนเชื้อเพลิงฟอสซิล ซึ่งรวมถึงการดำเนินงานด้วยไฟฟ้า การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยเครื่องวิเคราะห์ และการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยียุคถัดไป เช่น CCS
นอกจากนี้เอบีบียังได้พัฒนาเทคโนโลยีรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่สำคัญในประเทศไทย ปัจจุบันกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 3.3 กิกะวัตต์ (GW) คิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 60% ของกำลังการผลิตติดตั้งทั้งหมดในภูมิภาคอาเซียน พลังงานแสงอาทิตย์ลอยน้ำที่ใหญ่ที่สุดในโลกอยู่ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุดรราชธานี เอบีบี นำเสนอโซลูชันการจัดการพลังงานเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพการใช้พลังงานและความยืดหยุ่นในการดำเนินงานสำหรับโครงการพลังน้ำ
สำหรับประเทศไทยพลังงานแสงอาทิตย์เป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพมากที่สุดและเหมาะสมที่สุด เนื่องจากประเทศที่อยู่ในแถบเส้นศูนย์สูตร ทั้งนี้จากที่ได้ศึกษามาเอบีบีสามารถที่จะทำให้ประสิทธิภาพของการใช้แผงโซล่าเซลล์เพิ่มขึ้นได้ 20-28% และอีกพลังงานที่มีศักยภาพสำหรับประเทศไทย คือ พลังงานน้ำขนาดเล็ก แต่การพัฒนาพลังงานน้ำขนาดเล็กในประเทศไทยยังมีไม่มาก
เทคโนโลยีอีกอย่างที่เอบีบีมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คือ เทคโนโลยีระบบโครงข่ายไฟฟ้า หรือระบบกริด เอบีบีมีการพัฒนาระบบกริดที่มีประสิทธิภาพที่สามารถรองรับการเชื่อมกริดระหว่างประเทศหากในอนาคตใน อาเซียนจะมีการเชื่อมโยงระบบกริด และยังสามารถรองรับการใช้พลังงานทดแทน เพื่อประสิทธิภาพของการใช้พลังงานได้เป็นอย่างดี
นอกจากนี้เอบีบียังได้พัฒนาโซลูชันดิจิทัลที่หลากหลาย เพื่อช่วยให้ทั่วโลกและประเทศไทยบรรลุเป้าหมายการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงาน แพลตฟอร์มโซลูชันเพิ่มประสิทธิภาพโครงข่ายไฟฟ้า ปรับปรุงประสิทธิภาพ และช่วยให้สามารถบูรณาการแหล่งพลังงานหมุนเวียนได้อย่างราบรื่น เทคโนโลยีระบบอัตโนมัติช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการ ดำเนินงานของโรงงาน ซึ่งช่วยลดการใช้พลังงานได้ และเมื่อเร็วๆ นี้ เอบีบีได้รับสัญญาเพื่อทำให้โรงงานพลาสติกชีวภาพแห่งใหม่ในประเทศไทยเปลี่ยนอ้อยเป็นโพลีเมอร์ชีวภาพ คือ Ingeo™ โดยอัตโนมัติ โรงงานแห่งนี้ตั้งเป้าที่จะผลิตพลาสติกที่ยั่งยืนได้ 75,000 ตันต่อปี
สำหรับกลุ่มลูกค้าในประเทศไทยของเอบีบีนั้นโดยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท สตาร์ ปิโตรเลียม รีไฟน์นิ่ง จำกัด (มหาชน) บริษัท บางกอกอินดัสเทรียลแก๊ส จำกัด หรือ บีไอจี เป็นต้น
ทั้งนี้ในยุคการเปลี่ยนผ่านพลังงาน เอบีบี ตั้งเป้าหมายปล่อยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้ถึง 80% ภายในปี 2030 โดยปัจจุบันทำได้ไปแล้ว 72% แต่อีก 8% ที่เหลือน่าจะเป็นส่วนที่ยากที่สุด และเอบีบีตั้งเป้าหมายที่จะใหญ่กว่านั้นคือภายในปี 2050 ต้องการทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เหลือ 0 ซึ่งนั่นหมายความว่า เอบีบีต้องลดลงให้ได้ถึง 100% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าแม้แต่เอบีบีเองก็มีกระบวนการต่างๆ มากมายในการที่จะพยายามลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์