AOT พร้อมรับสนามงู ระบุต้องใช้เวลาเจรจาให้มีความเหมาะสม

ผู้ชมทั้งหมด 371 

AOT พร้อมรับสนามงูมาปรับให้เกิดประโยชน์ทั้งด้านความปลอดภัย ความมั่นคงทางการบิน และสร้างประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ระบุต้องใช้เวลาเจรจาให้มีความเหมาะสมมากที่สุด

นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชนหรือ AOT เปิดเผยว่าจากกรณีที่กองทัพอากาศจะมอบสนามกอล์ฟ “กานตรัตน์” หรือ “สนามงู” ซึ่งอยู่ระหว่างทางวิ่ง (รันเวย์) ของท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ให้รัฐบาลใช้ประโยชน์ด้านการบินพลเรือน ว่า ขณะนี้คณะกรรมการร่วมระหว่างกองทัพอากาศ กับ AOT ซึ่งมีนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และผู้บัญชาการกองทัพอากาศ ร่วมด้วยนั้นอยู่ระหว่างการเจรจาหาแนวทางที่เหมาะสมที่สุด 

โดยเบื้องต้น ในส่วนของการใช้พื้นที่สนามงูนั้น  AOT ได้วิเคราะห์แล้วว่า มีความเหมาะสมในเรื่องใช้ประโยชน์ในการเดินทางทางอากาศ ซึ่งมี 2วัตถุประสงค์สำคัญ คือ 1.การปรับพื้นที่เพื่อลดความเสี่ยงในด้านความมั่นคงและความปลอดภัยในการบิน โดยไม่ให้มีผู้ใดเข้าไปบริเวณพื้นที่ เช่นเดียวกับท่าอากาศยานอื่นที่มีพื้นที่อยู่ใกล้ชิดรันเวย์ก็จัดให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย ดังนั้น AOTจะทำการปรับพื้นที่ไม่ให้มีสาธารณชนเข้าไปใช้ได้ ซึ่งจะมีความปลอดภัยมากขึ้น 

2.หลังจากปรับพื้นที่แล้วสามารถนำมาใช้ประโยชน์ด้านการบินได้ โดยจะใช้ก่อสร้างเป็นทางขับขนาน (Parallel Taxiway) ที่คู่ไปกับรันเวย์ เนื่องจากปัจจุบันท่าอากาศยานดอนเมือง(ทดม.)มี 2 รันวย์ ที่อยู่ใกล้ชิดกกันค่อนข้างมากและไม่มีพื้นที่หัวท้ายรันเวย์ในการให้เครื่องบินจอดรอก่อนทำการขึ้นและลงจอด ทำให้ไม่สามารถใช้ทั้ง 2 รันเวย์ที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากมี Parallel Taxiwayและ Rapid Exit Taxiway หรือทางขับออกด่วน ก็จะทำให้ขีดความสามารถในการบินเพิ่มขึ้น จากปัจจุบัน 50 เที่ยวบินต่อชั่วโมง ก็จะสามารถเพิ่มได้อีก 10 เที่ยวบินต่อชั่วโมงรวมเป็น 60 เที่ยวบินต่อชั่วโมงได้

“AOT มองว่าหากมีการปรับพื้นที่สนามงูแล้วจะเกิดประโยชน์ทั้งด้านความปลอดภัยและความมั่นคงทางการบิน และสร้างประโยชน์ในการบินเชิงพาณิชย์ได้ แต่เรื่องนี้ต้องใช้เวลาในการเจราจรร่วมกัน โดย AOT ก็พร้อมรับสนามงูตามนโยบายรัฐบาลอยู่แล้ว ส่วนทางกองทัพอากาศหากเห็นว่ามีเหตุผลความจำเป็นในการใช้ประโยชน์ รวมถึงอาจจำเป็นต้องดูแลพนักงานและค่าใช้จ่ายต่างๆที่จะเกิดจากการย้ายทาง AOT ก็ยินดีที่จะเจรจา”นายกีรติ กล่าวและว่าค่าใช้จ่ายในการย้ายจะเป็นตัวเลข 3 พันล้านบาทตามที่กองทัพอากาศคาดการณ์เบื้องต้นหรือไม่นั้น คงต้องเจรจาให้เกิดความเหมาะสมสูงสุดว่ามีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง ซึ่งทาง AOT ยังไม่ได้วิเคราะห์รายละเอียด ดังนั้นคงต้องพิจารณาให้ชัดเจนก่อน