AOT เล็งผุดไพรเวทเจ็ท เทอร์มินัล ลั่นประมูลดอนเมืองเฟส 3 มีนาคมปีหน้า

ผู้ชมทั้งหมด 312 

AOT เล็งผุดไพรเวทเจ็ท เทอร์มินัล ดึงเอกชนร่วมลงทุน สัมปทาน 20 ปี คาดกวาดรายได้เพิ่มปีละ 3 พันล้าน ส่วนแผนลงทุนดอนเมืองเฟส 3 มูลค่ากว่า 3.6 หมื่นล้าน พร้อมประมูลมี.ค. 68 ลั่นมีสภาพคล่องกระแสเงินสดปีละ 5-8 พันล้าน   

เมื่อวันที่ 28 พ.ค. ณ ห้องอัศวิน แกรนด์ เอ โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน นายกีรติ กิจมานะวัฒน์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ AOT กล่าวตอนหนึ่งในการเป็นประธานเปิดการประชุมการรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 งานสำรวจและออกแบบโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ระยะที่ 3 เพื่อระดมความเห็นและ ข้อเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปประกอบการออกแบบโครงการให้มีความเหมาะสม โดยมีผู้แทนหน่วยงานจาก ภาครัฐ บริษัทสายการบิน ผู้ประกอบการให้บริการภาคพื้น ผู้ประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ และผู้ให้บริการด้านขนส่ง ทั้งภายในและภายนอก ทดม.เข้าร่วมกว่า 200 คนว่า โครงการพัฒนา ทดม. ระยะที่ 3 วงเงินลงทุนรวม 36,829 ล้านบาท เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่ง เพื่อส่งเสริมการเดินทางทั้งในและระหว่างประเทศ  ตามนโยบายการผลักดันประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางการบิน ของโลก (Aviation Hub) ของรัฐบาล

โดยปัจจุบันอาคารหลังเดิมมีความเก่า และใช้งานมาเป็นเวลาจึงจำเป็นต้องมีดำเนินพัฒนา ขณะนี้อยู่ระหว่างการจ้างศึกษาและออกแบบ รายละเอียดโครงการฯ คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนตุลาคม  2567 และจะเริ่มดำเนินงานก่อสร้างระหว่างปี 2568-2574 เมื่อแล้วเสร็จจะช่วยเพิ่มขีดความสามารถของทดม.ให้รองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนต่อปี เป็น 50 ล้านคนต่อปี โดยจะมีการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศหลังใหม่ (International Terminal) บริเวณ ด้านทิศใต้ของสนามบิน มีพื้นที่ใช้สอยประมาณกว่า 166,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้โดยสารระหว่างประเทศไต้ สูงสุด 23 ล้านคนต่อปี คาดว่าจะแล้วเสร็จสามารถเปิดให้บริการได้ประมาณปี 2572

หลังจากนั้นจะปรับปรุงอาคารผู้โดยสารหลังที่ 1 ซึ่งเป็นอาคารระหว่างประเทศหลังเดิมเป็นอาคาร ภายในประเทศ เพื่อขยายพื้นที่ให้บริการผู้โดยสารภายในประเทศ ร่วมกับอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 สามารถรองรับผู้โดยสาร ภายในประเทศได้สูงสุด 27 ล้านคนต่อปี รวมพื้นที่ใช้สอยมากถึง 240,000 ตารางเมตร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการ ได้ประมาณปี 2574 ซึ่งจะทำให้ ทดม.มีพื้นที่รองรับผู้โดยสารในประเทศ รวมกว่า 400,000 ตารางเมตร

อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังมีการปรับปรุงการจราจรเข้าออกสู่ ทดม. โดยจะดำเนินการก่อสร้างทางยกระดับขนาด 6 ช่องจราจรต่อจากทางยกระดับเดิม พร้อมปรับปรุงถนนภายในเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และเชื่อมต่อโดยตรงกับดอนเมืองโทลเวย์ ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจากับบริษัทดอนเมือง โทลเวย์ เบื้องต้น AOT จะลงทุนก่อสร้างในพื้นที่ของสนามบิน ส่วนดอนเมือง โทลเวย์ จะลงทุนในพื้นที่นอกสนามบิน ตลอดจนการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 1 และ 2 เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้า(คาร์โก้) รวมถึงขยายอาคารจอดรถยนต์ เพื่อให้รองรับได้ 4 พันคัน จากปัจจุบัน 2 พันคัน

นอกจากนี้ยังมีธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการบิน คือ อาคารผู้โดยสารอากาศยานส่วนบุคคล (ไพรเวทเจ็ท เทอร์มินัล)  โดยการปรับปรุงอาคารคลังสินค้า 4 ซึ่งจะอยู่บริเวณด้านทิศเหนือของ ทดม. จากเดิมที่จะพัฒนาเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์ เปลี่ยนเป็นก่อสร้างอาคารไพรเวทเจ็ท เทอร์มินัล เพื่อรองรับความต้องการของกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีกำลังซื้อสูง หรือสามารถจับจ่ายซื้อสินค้าทางการท่องเที่ยวได้ตามที่ต้องการ( High spender ) ซึ่งที่ผ่านมานักท่องเที่ยวมีความต้องการนำไพรเวทเจ็ท มาจอดที่ไทย แต่ยังไม่มีพื้นที่รองรับเพียงพอ ส่วนใหญ่จึงไปลงจอดที่สิงคโปร์ ซึ่งข้อมูลปัจจุบันมีไพรเวทเจ็ท ลงจอดที่สนามบินสิงคโปร์มากถึง 200 เที่ยวบินต่อวัน

ดังนั้นตั้งเป้าว่าการพัฒนาดังกล่าว จะส่งผลให้สนามบินดอนเมืองสามารถเพิ่มการรองรับไพรเวทเจ็ทได้ ประมาณ 60 เที่ยวบินต่อวัน จากปัจจุบันที่รองรับได้ 30 เที่ยวบินต่อวัน และคาดว่าจะสร้างรายได้เพิ่มให้ AOT อีกประมาณ 2-3 พันล้านบาทต่อปี  ทั้งนี้การก่อสร้างไพรเวทเจ็ท นั้นเดิม AOT จะใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่เวลานี้ปรับไปใช้รูปแบบให้เอกชนร่วมลงทุน ( PPP) และให้สัญญาสัมปทาน 15-20 ปี ส่วนงบประมาณที่ AOT ที่จะลงทุนเดิมนั้น จะนำไปใช้ในการขยายลานจอดที่ติดกับทางเชื่อมของอาคารผู้โดยสาร (Pier) เพื่ออำนวยความสะดวกผู้โดยสารมากขึ้น สำหรับการสร้างรถไฟฟ้าไร้คนขับ หรือ APM ในการเชื่อมทางเดินทางภายในสนามบินนั้น ไม่มี เพราะไม่ได้อยู่ในแผนการดำเนินงานตั้งแต่แรกแล้ว 

“ยืนยันว่า AOT มีความพร้อมทางการเงินในการลงทุนโครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมือง ระยะที่ 3 และมั่นใจว่าไม่มีปัญหา เพราะมีกระแสเงินสดเพียงพอ โดยไม่ต้องกู้เพิ่ม ซึ่งปัจจุบันรายได้ ช่วง2 ไตรมาสแรกของปี 2567 อยู่ที่ประมาณ 1 แสนล้านบาทแล้ว ส่วนการลงทุนนั้นจะทยอยลงทุนปีละ 5-8 พันล้าน ระยะเวลา 5 ปี คาดว่าในเดือนมีนาคม 2568 จะเปิดประมูลหาผู้รับเหมาแบบแพ็คเกจเดียว เพราะมีหลายโครงการ และมีความซับซ้อนในการก่อสร้างจึงไม่ต้องการให้เกิดปัญหา” นายกีรติ กล่าวและว่า สำหรับแนวโน้มปริมาณผู้โดยสารนั้น ในครึ่งปีแรกสูงกว่าที่คาดการณ์ไว้เล็กน้อย ส่วนช่วงครึ่งปีหลังก็น่าจะเป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ปริมาณผู้โดยสารทั้งปี 2567 อยู่ที่ 120 ล้านคน ส่วนปี 2568 ตั้งเป้าไว้ที่ 140 ล้านคนต่อปี ซึ่งจะเทียบเท่าปีกับ 2562 ช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19