AOT โชว์กำไรครึ่งปีแรกกว่า 1 หมื่นล้าน โกยรายได้ 3.6 หมื่นล้าน

ผู้ชมทั้งหมด 112 

AOT โชว์กำไร 6 เดือนแรก กว่า 1 หมื่นล้าน รายได้รวมกว่า 3.6 หมื่นล้าน เพิ่ม 5.98% หลังจากผู้โดยสารโต 11.76% พร้อมเร่งพัฒนาสนามบินสุวรรณภูมิ – ดอนเมือง รองรับผู้โดยสารเพิ่มขึ้น

นางสาวปวีณา จริยฐิติพงศ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ สายงานวิศวกรรมและการก่อสร้าง รักษาการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จํากัด (มหาชน) หรือ AOT เปิดเผยว่า  6 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2568 (เดือนตุลาคม 2567 ถึงเดือนมีนาคม 2568) ท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่งของ AOT ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) ท่าอากาศยานดอนเมือง (ทดม.) ท่าอากาศยานเชียงใหม่ (ทชม.) ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวง เชียงราย (ทชร.) ท่าอากาศยานภูเก็ต (ทภก.) และท่าอากาศยานหาดใหญ่ (ทหญ.) มีจำนวนเที่ยวบินรวม 414,377 เที่ยวบิน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นร้อยละ 12.90 แบ่งเป็นเที่ยวบินระหว่างประเทศ 237,511 เที่ยวบิน และเที่ยวบินภายในประเทศ 176,866 เที่ยวบิน และมีผู้โดยสารใช้บริการรวม 68.42 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.76 แบ่งเป็น ผู้โดยสารระหว่างประเทศ 42.34 ล้านคน และผู้โดยสารภายในประเทศ 26.08 ล้านคน

โดยการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินและผู้โดยสาร ทำให้มีรายได้เกี่ยวกับกิจการการบิน 18,188.15 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้น 2,751.25 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 17.82  รายได้รวม 36,235.82 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.98 และมีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 10,397.57 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.48%

นางสาวปวีณา กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าในการขับเคลื่อนแผนยุทธศาสตร์เพื่อมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการบินของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผ่านกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เทคโนโลยี และการบริการ เพื่อมอบประสบการณ์การเดินทางที่สะดวกและปลอดภัยแก่ผู้ใช้บริการนั้น  AOT ได้ดำเนินโครงการกระตุ้นตลาด ด้านการบิน (Incentive Scheme) และโครงการสนับสนุนการตลาด (Marketing Fund) เพื่อให้สายการบินประกอบกิจการได้อย่างยั่งยืน และผู้โดยสารสามารถเดินทางเชื่อมต่อระหว่างภูมิภาคได้สะดวกมากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาซึ่งจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่มาใช้บริการมากขึ้น

ขณะเดียวกัน AOT ได้เร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในท่าอากาศยานหลักของประเทศทั้ง 6 แห่ง เพื่อรองรับจำนวนเที่ยวบินและผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นในอนาคต อาทิ โครงการพัฒนาท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพื่อให้มีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารเพิ่มอีก 15 ล้านคนต่อปีภายในปี 2573  โครงการพัฒนาท่าอากาศยานดอนเมืองเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารจาก 30 ล้านคนเป็น 50 ล้านคนต่อปีภายในปี 2576

นอกจากนี้ยังมีโครงการพัฒนาอาคารผู้โดยสารระหว่างประเทศที่ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ต พร้อมศึกษาแนวทางการก่อสร้างท่าอากาศยานเชียงใหม่ และท่าอากาศยานภูเก็ตแห่งที่ 2 ซึ่งจะส่งผลให้เกิดความเติบโตของการดำเนินธุรกิจและความมั่นคงของอุตสาหกรรมการบินโดยรวม

อย่างไรก็ตาม  AOT ได้นำนวัตกรรมและเทคโนโลยีในระดับสากลมาใช้ทุกขั้นตอนของการให้บริการในสนามบิน เช่น ระบบให้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการบิน (Airport Collaborative Decision Making (A-CDM) เพื่อยกระดับการบริหารจัดการเที่ยวบินให้สอดคล้องกับแผนการเดินทางอากาศสากล ลดความล่าช้าในการเดินทาง โดยได้เริ่มเปิดให้บริการระบบเช็กอินอัตโนมัติระบบโหลดกระเป๋าอัตโนมัติ ระบบสแกนใบหน้าขึ้นเครื่อง (Biometric) ที่ช่วยให้ผู้โดยสารสามารถเช็กอินและขึ้นเครื่องได้โดยไม่ต้องแสดงเอกสารซ้ำซ้อน เพิ่มความสะดวก รวดเร็ว และลดระยะเวลารอคอย รวมทั้งนำระบบตรวจหนังสือเดินทางอัตโนมัติ (Automated Border Control: ABC) มาใช้สำหรับผู้ถือ e-passport และใช้ Thailand Digital Arrival Card (TDAC) แทน ตม.6 แบบกระดาษเต็มรูปแบบ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2568 เพื่ออำนวยความสะดวก ลดเวลา รอคิว เพิ่มประสิทธิภาพการบริการของท่าอากาศยานไทยสู่การเดินทางแบบ “Smart Airport – Smart Immigration”

ทั้งนี้ AOT ยังเดินหน้าพัฒนาโครงการเพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนให้แก่ AOT และเศรษฐกิจภาพรวมของประเทศจากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์โดยรอบท่าอากาศยานทั้ง 6 แห่ง ผ่านโครงการ AOT Property Showcase โครงการร่วมทุนระหว่างภาครัฐ-เอกชน (Public Private Partnership: PPP) โครงการให้บริการลานจอดและอุปกรณ์ภาคพื้นโครงการให้บริการคลังสินค้า ซึ่งอยู่ระหว่างการคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุน โครงการก่อสร้างอาคาร Junction Building อาคารจอดรถ และศูนย์เชื่อมต่อการขนส่งระบบราง ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง

AOT เชื่อมั่นว่าด้วยนโยบายในการพัฒนาเชิงรุก ศักยภาพด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการยกระดับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย ตลอดจนการยึดมั่นในหลักการพัฒนาที่ยั่งยืน จะส่งผลให้ AOT ก้าวสู่การเป็นผู้ให้บริการท่าอากาศยานชั้นนำระดับสากลเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และอุตสาหกรรมการบินของประเทศไทยได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป