ARV ผนึก PTTEP ขนซูเปอร์เทคฯ ไฮไลต์ โชว์ศักยภาพ ศูนย์ PTIC

ผู้ชมทั้งหมด 815 

บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด หรือ เออาร์วี (ARV) ผู้นำด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ ภายใต้กลุ่มบริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. โชว์ศักยภาพความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม สร้างระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการครอบคลุมทั้ง ‘ทางน้ำ-ภาคพื้น-ทางอากาศ’ พร้อมขนนวัตกรรมสุดล้ำ 6 ผลงานไฮไลต์ ที่พัฒนาขึ้นเพื่อใช้งานจริงสร้างแรงบันดาลใจและสะท้อนความสำเร็จในการสร้างองค์กรที่มีวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovative Culture) โดยร่วมจัดแสดงพร้อมกับนวัตกรรมของ ปตท.สผ. ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

ดร.ธนา สราญเวทย์พันธุ์ ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) กล่าวว่า เออาร์วี ร่วมแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านปัญญาประดิษฐ์ (AI) และหุ่นยนต์ โดยส่งผลงานนวัตกรรมของเหล่านวัตกรเออาร์วีมาจัดแสดง ณ ศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม ปตท.สผ. หรือ PTIC (PTTEP Technology and Innovation Center) ร่วมกับนวัตกรรมของ ปตท.สผ. ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง ครอบคลุม 3 โซลูชัน ได้แก่ ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางน้ำ จากผลงาน XPLORER (เอ็กซ์พลอเรอร์) ยานยนต์ตรวจสอบท่อใต้น้ำอัตโนมัติไร้สาย ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการภาคพื้น ได้แก่ LAIKA (ไลก้า) หุ่นยนต์สี่ขาสำหรับการตรวจการและปฏิบัติการในพื้นที่อันตราย และ MARS (มาร์ส) หุ่นยนต์พร้อมแขนสำหรับการปฏิบัติการบนฐานปฏิบัติการนอกชายฝั่ง และ ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางอากาศ จากผลงาน HORRUS (ฮอรัส) โดรนขับเคลื่อนด้วยระบบอัตโนมัติ และระบบตรวจสอบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจก จาก VARUNA (วรุณา) และการจัดการเมืองอัจฉริยะ ของ BEDROCK (เบดร็อค)

โดยผลงานที่นำมาจัดแสดงนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการปฏิบัติงานของธุรกิจแม่อย่าง ปตท.สผ. และสอดคล้องกับโครงการพัฒนาเทคโนโลยีภายใต้กลยุทธ์ 3 ด้าน ของ ปตท.สผ. และเออาร์วี ได้แก่ 1. ด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม 2. ด้านเทคโนโลยีเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 3. ด้านเทคโนโลยีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานและธุรกิจใหม่

“การนำผลงานเข้าร่วมจัดแสดงในครั้งนี้ นอกเหนือจากเพื่อแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงความไม่หยุดนิ่งของ ARV ในการเรียนรู้และพัฒนา รวมถึงการเป็นองค์กรที่มีวัฒนธรรมทางนวัตกรรม (Innovation Culture) ที่ปัจจุบันยังมีจำนวนไม่มากในประเทศไทย ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการในแวดวงธุรกิจที่เกี่ยวข้องได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ของเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ที่สามารถเข้ามาช่วยสนับสนุน อำนวยความสะดวก และเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ลด Human Error และทำงานเสี่ยงอันตรายแทนมนุษย์ได้ รวมทั้งสร้างแรงบันดาลใจและจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้แก่ผู้มาเยี่ยมชม”

ดร.ธนา กล่าวเพิ่มเติมว่า การนำเสนอระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางน้ำ ยังเป็นการสร้างระบบนิเวศที่จะนำประเทศไทยให้สามารถสร้างมูลค่าจากเศรษฐกิจสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นแนวทางการขับเคลื่อนให้เกิดการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาระบบนิเวศอย่างยั่งยืน โดยปัจจุบันเศรษฐกิจสีน้ำเงินครอบคลุมกิจกรรมทางชายฝั่งที่สำคัญคือ การทำประมง การขุดเจาะน้ำมัน การขนส่งทางทะเล และการท่องเที่ยว ซึ่งการขุดเจาะน้ำมันเป็นการดำเนินงานที่สำคัญของ ปตท.สผ. ที่มุ่งสรรหาปิโตรเลียมเพื่อสนองความต้องการใช้พลังงานทั้งภายในประเทศ และประเทศที่ไปลงทุน ทั้งนี้มีการประมาณการณ์ว่า มูลค่าเศรษฐกิจทางทะเลอยู่ที่ประมาณ 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี มีการจ้างงานกว่า 350 ล้านตำแหน่งในภาคการดังกล่าว โดยการมีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนี้ยังสามารถช่วยได้ทั้งการลดการเผชิญวิกฤตทรัพยากรเสื่อมโทรม การใช้ทรัพยากรทางทะเลที่มีมูลค่าให้เกิดความยั่งยืน

ขณะที่ระบบนิเวศหุ่นยนต์ปฏิบัติการภาคพื้น เป็นอีกส่วนที่สำคัญต่อการทำงานในด้านการป้องกันความเสี่ยง ซึ่งในปัจจุบันจะพบว่าในเขตบริเวณก่อสร้าง การสำรวจพื้นที่ หรือทรัพยากรยังมีอันตรายหรือบางสภาวะที่มนุษย์ยังไม่สามารถเข้าถึงได้ ซึ่งในส่วนนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการจำแนกการใช้ศักยภาพของมนุษย์ และหุ่นยนต์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมหนัก – อุตสาหกรรมขั้นสูงซึ่งนับว่ามีบทบาทในด้านมูลค่ากับประเทศไทยในขณะนี้ ส่วนหุ่นยนต์ปฏิบัติการทางอากาศและระบบตรวจสอบการกักเก็บก๊าซเรือนกระจกและการจัดการเมืองอัจฉริยะ เป็นอีกก้าวสำคัญในการเตรียมประเทศไทยให้ก้าวทันเจตนารมณ์โลกกับนโยบายลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ และสอดรับกับตลาดการซื้อขายคาร์บอนที่เริ่มมีการดำเนินการกันอย่างจริงจังทั่วโลกในขณะนี้ด้วยเช่นเดียวกัน