BA ควงแขน THAI ยื่นข้อเสนอสร้าง MRO ก.ค.นี้ คาดผลงานปี 68 ต่ำกว่าเป้า

ผู้ชมทั้งหมด 102 

BA เตรียมควงแขน THAI ยื่นข้อเสนอสร้าง MRO ก.ค.นี้ สนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบิน  EEC เห็นชอบลดขนาดการลงทุนเฟส 1 รองรับผู้โดยสาร 3 ล้านคนต่อปี เริ่มก่อสร้างปี 69 ขณะที่ภาพรวมผลงานปี 68 คาดต่ำกว่าเป้าเล็กน้อย หลังได้รับผลกระทบนักท่องเที่ยวจีนลดลง

นายพุฒิพงศ์ ปราสาททองโอสถ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BA เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่วมมือกันพัฒนาธุรกิจศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (MRO) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ณ ท่าอากาศยานอู่ตะเภา ว่า ต้องเร่งเจรจากับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI เพื่อหาข้อสรุปรูปแบบการลงทุน ขอบเขตรายละเอียดในการบริหารงานโครงการ ซึ่งในเบื้องต้นรูปแบบการลงทุนอาจจะเป็นลักษณะของการรวมกันยื่นประมูลแล้วแบ่งพื้นที่กันลงทุน แยกกันบริหาร เพราะถ้ารวมลงทุนกันเลยบริหารอาจจะไม่คล่องตัว โดยรูปแบบการลงทุนคาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนกรกฎาคม 2568 พร้อมกับยื่นข้อเสนอให้กับทาง EEC ทันที

ทั้งนี้หากมีการตกลงกันว่าแบ่งพื้นที่กันลงทุน ทาง BA จะสร้าง Hangar ที่รองรับเครื่องบินขนาดเล็ก เช่น A320 ในขณะที่การบินไทยจะดูแลเครื่องบินขนาดใหญ่ (Wide Body) หรือเครื่องบินลำตัวกว้าง เช่น B777 A350 ซึ่งโมเดลนี้จะช่วยให้บริหารจัดการได้ง่ายกว่าการนำเงินมารวมกันลงทุน โดยในส่วนของ BA ได้เตรียมเงินลงทุนไว้ราว 1,000 – 2,000 ล้านบาท   

ส่วนความคืบหน้าโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก มูลค่า 2.9 แสนล้านบาทนั้นทางคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) ได้เห็นชอบกับแนวทางการปรับลดการลงทุนโครงการในระยะที่ 1 (เฟส 1) แล้ว หลังจากที่ บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด หรือ UTA ยื่นข้อเรียกร้องไปให้พิจารณา โดยแนวทางการลงทุนพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออกเฟส 1 จะดำเนินการลงทุนเริ่มต้นรองรับผู้โดยสารที่ 3 ล้านคนต่อปีก่อน จากนั้นหากจำนวนผู้โดยสารเติบโตขึ้นก็จะทยอยลงทุนให้รองรับได้ที่ 6 ล้านคนต่อปีและ 12 ล้านคนต่อปีตามลำดับ เพื่อให้เป็นไปตามตามแผนเดิม โดยคาดว่า สกพอ. จะส่งมอบหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed หรือ NTP) เพื่อดำเนินการก่อสร้างสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินได้ภายในปี 2569 โดยไม่รอให้รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (อู่ตะเภา – สุวรรณภูมิ – ดอนเมือง) เริ่มก่อสร้างก่อน

นายพุฒิพงศ์ กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในปี 2568 ว่า จากที่บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายจำนวนเที่ยวบินไว้ที่ 48,077 เที่ยวบิน อัตราบรรทุกผู้โดยสาร (Load Factor) เฉลี่ยเท่ากับ 82% ขนส่งผู้โดยสาร 4.7 ล้านคนนั้น  คาดจะทำได้ต่ำกว่าเป้าหมายเล็กน้อย เนื่องจากผู้โดยสารจากประเทศจีนลดลง แม้ผู้โดยสารจากเส้นทางบินยุโรปจะเติบโตขึ้นก็ตาม แต่ก็ไม่สามารถชดเชยกันได้