CAAT หารือ 19 หน่วยงานยกระดับ SAR เตรียมพร้อมก่อน ICAO มาตรวจ 27 ส.ค. 68

ผู้ชมทั้งหมด 554 

CAAT หารือ 19 หน่วยงาน ช่วยยกระดับระบบค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทยสู่มาตรฐานสากล เตรียมความพร้อมก่อน ICAO มาตรวจ 27 ส.ค. ถึง 8 ก.ย.68

พลอากาศเอก มนัท ชวนะประยูร ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) เปิดเผยภายหลังการประชุมความร่วมมือเพื่อพัฒนาการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยของประเทศไทยสู่มาตรฐาน ว่า องค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization) หรือ ICAO เตรียมจะเข้ามาตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยด้านการบินพลเรือนของประเทศไทย ซึ่งด้านการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัย (SAR) ก็เป็นหนึ่งด้านความปลอดภัยต้องตรวจสอบตามโปรแกรม USOAP CMA (Universal Safety Oversight Audit Programme Continuous Monitoring Approach) ระหว่างวันที่ 27 สิงหาคม ถึง 8 กันยายน 2568 และจะมีการตรวจสอบด้านรักษาความปลอดภัยการบินพลเรือน (USAP) ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2568

ดังนั้น CAAT ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลบริการการเดินอากาศได้จัดให้มีการประชุมในครั้งนี้ เพื่อสื่อสารสร้างความรู้ความเข้าใจในผลการดำเนินงานเชิงเทคนิคด้าน SAR เพื่อให้หน่วยงานในระบบการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติการเดินอากาศ พ.ศ. 2497 และที่แก้ไขเพิ่มเติมของประเทศไทย ซึ่งมีอยู่ 19 หน่วยงาน อาทิ สำนักงานคณะกรรมการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานและเรือที่ประสบภัย (สกชย.), กองทัพอากาศ (ทอ.), กองทัพเรือ (ทร.), สำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กรมอุตุนิยมวิทยา, ศูนย์อำนวยการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.), กรมท่าอากาศยาน, กระทรวงสาธารณสุข, และบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) รับทราบและเตรียมความพร้อมนำไปปฏิบัติดังนี้

1.ร่างแผนการค้นหาและช่วยเหลืออากาศยานประสบภัยแห่งชาติ (National SAR Plan) (ดำเนินการแล้วระหว่างวันที่ 10 – 14 มี.ค. 68) 2.ร่างแผนปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือฯ (SAR Plans of Operation) (ดำเนินการแล้วระหว่างวันที่ 19 – 21 มี.ค. 68) 3.ร่างคู่มือการฝึกอบรมและการซ้อมค้นหาและช่วยเหลือฯ (SAR Training and Exercise Manual) ดำเนินการแล้วระหว่างวันที่ 8 – 10 เม.ย. 68)

พร้อมกันนี้การประชุมผู้แทนจากแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังได้แลกเปลี่ยนข้อมูล และหารือแนวทางการเตรียมความพร้อม การปรับปรุงระบบการแจ้งเตือน การประสานงานระหว่างหน่วยงาน การจัดสรรทรัพยากร และการฝึกซ้อมร่วม เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินทางอากาศได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้เกิดความร่วมมือแบบบูรณาการในระดับชาติ เพื่อสร้างระบบ SAR ที่เข้มแข็ง ทันสมัย และเป็นที่ยอมรับในระดับสากล พร้อมทั้งแสดงความเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการยกระดับความปลอดภัยด้านการบินของประเทศไทยอย่างยั่งยืน