“CEO ปตท.” มั่นใจผลการดำเนินงานปี 66 โตตามเป้า

ผู้ชมทั้งหมด 462 

“อรรถพล” ลั่น ปตท.พร้อมชำระคืนเงิน Shortfall ตามมติกกพ.วงเงิน 4,300 ล้านบาท งวดเดือน ม.ค.นี้ ขณะที่ปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ผลกระทบอาจต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์ 6,300 ล้านบาท ชี้ราคาLNGนำเข้าไม่ได้สูงมากนัก มั่นใจ ผลการดำเนินงานปี 2566 โตตามเป้า ลุยเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน แตะ 15,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 พร้อมลุ้น บอร์ด ปตท.วันนี้ เคาะเลือก CEO ปตท.คนใหม่

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ระบุว่า ปตท.พร้อมดำเนินการตามมติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ส่งหนังสือถึง ปตท. เพื่อให้คืนเงิน Shortfall หรือ เงินที่ผู้ขายผิดสัญญาไม่สามารถส่งก๊าซ ให้ผู้ซื้อได้ตามกำหนดให้ส่งก๊าซในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง ภายใต้สัญญา DCQ (Daily Contract Quantity) จะถูกลงโทษโดยส่งมอบก๊าซส่วนที่ขาดในภายหลังด้วยราคาที่ลดลง ซึ่งคิดเป็นมูลค่าจำนวน 4,300 ล้านบาท จากการขาดส่งก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยช่วงปลายปี 2564 มาจนถึงต้นปี 2565

โดย ปตท.จะดำเนินการชำระเงินดังกล่าวในงวดเดือนม.ค.นี้ ส่วนจะมีการฟ้องร้องสั่งของ กกพ.หรือไม่นั้น ก็เป็นเรื่องในอนาคตที่อาจจะพิจารณาต่อไป

ส่วนกรณีการปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯ ตามมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้า ส่งผลให้ต้นทุนของโรงแยกก๊าซฯ เปลี่ยนแปลงจากก๊าซฯ ในอ่าวไทยเป็นต้นทุนถัวเฉลี่ยก๊าซฯ จากทุกแหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย พม่า และก๊าซธรรมชาติเหลว (Liquefied Natural Gas: LNG) (“Pool Gas”) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการดำเนินงานของธุรกิจโรงแยกก๊าซฯ ที่จะปรับสูงขึ้น ยกเว้นก๊าซปิโตรเลียมเหลวที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงในประเทศ โดยมาตรการดังกล่าวเป็นมาตรการระยะสั้นจนกว่าจะมีการกำหนดโครงสร้างราคาก๊าซฯ อย่างเป็นทางการโดย กกพ.แล้วเสร็จนั้น ปตท.ประเมินว่า ผลกระทบจากมาตรการดังกล่าวเบื้องต้น จะสะท้อนผ่านผลการดำเนินงานโดยรวมของธุรกิจก๊าซฯของปตท. ปรับตัวลดลงประมาณ 6,500 ล้านบาทในช่วงเดือนม.ค. – เม.ย.2567

“การปรับโครงสร้างราคาก๊าซฯจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจในอนาคตอย่างไรนั้น ก็เป็นเรื่องที่ต้องศึกษารูปแบบ Pool Gas ที่จะเปลี่ยนไปในอนาคต แต่จากผลกระทบที่ประเมินออกมาในระยะสั้นนั้น อาจต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ก็เป็นได้ เพราะราคาLNG นำเข้าเป็นช่วงที่ราคาไม่ได้สูงขึ้นมากนัก ก็อาจช่วยให้ภาระส่วนต่างราคาลดลงได้บ้าง”

นายอรรถพล กล่าวออีกว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของ ปตท.ในปี 2566 ยังคงเติบโตตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยเฉพาะการเพิ่มกำลังการผลตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในกลุ่ม ปตท. ที่เดิม ตั้งเป้าจะมีกำลังผลิตไฟฟ้าแตะ 2,000 เมกะวัตต์ ในปี 2573 แต่ปัจจุบันดำเนินการได้เร็วกว่าเป้าหมาย มีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนอยู่ที่กว่า 4,000 เมกะวัตต์แล้ว ดังนั้น กลุ่มปตท.จึงได้ปรับเป้าหมายใหม่เพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแตะ 15,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573

ส่วนความคืบหน้าการสรรหา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทน นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.ที่จะครบวาระ 4 ปี ในเดือน พ.ค. 2567 นั้น

นายอรรถพล เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (บอร์ด ปตท.) ในวันที่ 25 ม.ค.นี้ จะมีการพิจารณาผลการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. คนที่ 11 ที่จะมาปฏิบัติหน้าที่แทนตนเอง ซึ่งการพิจารณาก็เป็นอำนาจหน้าที่ของบอร์ดฯ ที่จะตัดสินใจ

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 27 พ.ย. 2566 ปตท. ได้ออกประกาศเปิดรับสมัครบุคคลเพื่อรับการคัดเลือกเข้าดำรงตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” คนที่ 11 ตั้งแต่วันที่ 12 ธ.ค. 2566- 3 ม.ค. 2567 โดยมีผู้ยื่นสมัครจำนวน 5 คน ประกอบด้วย

1.นายบุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน ปตท.

2. ม.ล.ปีกทอง ทองใหญ่ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจก๊าซฯ ปตท.

3.นายพงษ์พันธุ์ อมรวิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่หน่วยธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ปตท.

4.นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC

5.นายวรวัฒน์ พิทยศิริ  ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC 

สำหรับ ผู้ที่สมัครฯต้องมีคุณสมบัติสำคัญ เช่น  1. มีสัญชาติไทย อายุไม่เกิน 58 ปีบริบูรณ์ในวันที่ยื่นใบสมัคร 2.มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์ รวมถึงมีวิสัยทัศน์ทางด้านธุรกิจพลังงาน ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี รวมถึงธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องมีความรอบรู้และประสบการณ์ในการบริหารองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งนี้ในกรณีที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารภาคเอกชนหรือรัฐวิสาหกิจต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้น ที่มีรายได้ไม่ต่ำกว่า 50,000 ล้านบาทต่อปี โดยมีงบการเงินและโครงสร้างองค์กร หรือรายงานประจำปีในขณะดำรงตำแหน่งมาแสดงด้วย หรือ ในกรณีที่เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารจากหน่วยงานภาครัฐระดับกรมหรือเทียบเท่าขึ้นไป ต้องดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าระดับรองผู้บริหารสูงสุดขององค์กรนั้น

3.มีความรอบรู้ ความสามารถสูงในการตัดสินใจ การสั่งการ การแก้ปัญหา และนำองค์กรไปในทิศทางและเป้าหมายตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท 4. มีความเป็นผู้นำ มีคุณธรรมและจริยธรรม ยึดมั่นในหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดี มีมนุษย์สัมพันธ์ดี สามารถติดต่อประสานงานได้เป็นอย่างดีทั้งในประเทศและต่างประเทศ 5. ต้องสำเร็จการศึกษาไม่ต่ำกว่าระดับปริญญาตรี

ทั้งนี้ ตำแหน่ง “ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)” จะมีวาระการดำรงตำแหน่งไม่เกิน 4 ปี หรือ จนถึงวันที่อายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ แล้วแต่วาระใดจะถึงก่อน