EGCO ผนึก กฟผ. ติดตั้งสถานีชาร์จรถEV ในอาคารเอ็กโก

ผู้ชมทั้งหมด 1,118 

เอ็กโก กรุ๊ป ติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าอาคารเอ็กโก สำนักงานใหญ่ ส่งเสริมใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในองค์กร มุ่งสู่สังคมคาร์บอนต่ำ

บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ร่วมขับเคลื่อนสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EGCO EV Charging Station) ที่อาคารเอ็กโก สำนักงานใหญ่ กรุงเทพฯ เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าภายในองค์กร ตลอดจนอำนวยความสะดวกในการใช้รถยนต์ไฟฟ้าให้แก่พนักงานเอ็กโก กรุ๊ป ได้ใช้บริการชาร์จไฟฟ้าที่มีประสิทธิภาพในอัตราค่าบริการที่เหมาะสม โดยได้รับเกียรติจาก นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป นายนัฐวุธ พิริยะจิตตะ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท อีแกท ไดมอนด์ เซอร์วิส จำกัด (EDS) และ นางณิศรา ธัมมะปาละ วิศวกรระดับ 11 ทำการแทนผู้อำนวยการฝ่ายจัดการธุรกิจนวัตกรรมพลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมทำพิธีเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อเร็ว ๆ นี้

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอ็กโก กรุ๊ป กล่าวว่า สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ติดตั้งภายในอาคารเอ็กโก สำนักงานใหญ่ ประกอบด้วย เครื่องอัดประจุไฟฟ้า (EV Charger) ทั้งหมด 6 เครื่อง ได้แก่ ประเภทการชาร์จไฟฟ้าแบบรวดเร็ว โดยใช้ไฟฟ้ากระแสตรง (DC EV Charger) ขนาดกำลังไฟฟ้า 60 กิโลวัตต์ ยี่ห้อ Flexx ผลิตโดย EDS จำนวน 1 เครื่อง 2 หัวชาร์จ และประเภทการชาร์จไฟฟ้าแบบปกติ โดยใช้ไฟฟ้ากระแสสลับ (AC EV Charger) ขนาดกำลังไฟฟ้า 22 กิโลวัตต์ ยี่ห้อ Wallbox จำนวน 5 เครื่อง โดยมี กฟผ. เป็นผู้ดำเนินการจัดหาและติดตั้งเครื่องอัดประจุไฟฟ้า รวมถึงบริหารจัดการสถานีอัดประจุไฟฟ้าทั้งหมดด้วยแอปพลิเคชัน EleXA ที่จะทำให้ผู้ใช้งานสามารถชาร์จ เช็คสถานะ และจ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์ ทำให้การเข้าถึงรถยนต์ไฟฟ้าง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น

สำหรับการติดตั้งและเปิดให้บริการสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่อาคารเอ็กโก สำนักงานใหญ่ จะช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในภาคขนส่ง ซึ่งไม่เพียงสอดคล้องกับเป้าหมายของเอ็กโก กรุ๊ป ในการบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ภายในปี 2040 และบรรลุการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2050 แต่ยังเป็นการสร้างผลกระทบเชิงบวกจากภายในองค์กรไปสู่สังคมภายนอกด้วย โดยเฉพาะการมีส่วนช่วยสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการบรรลุ Net Zero ภายในปี 2065