ผู้ชมทั้งหมด 1,174
มาตรการการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า (EV) นั้นเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิให้เป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ภายในปี ค.ศ. 2065 ซึ่งผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันแบรนด์ไทยไม่ว่าจะเป็น บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP บริษัท พีทีจี เอ็นเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ PTG ต่างก็ได้เริ่มลงทุนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า (สถานีชาร์จรถ EV) ในสถานีบริการน้ำมัน ขณะที่ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันแบรนด์ต่างชาติอย่าง ESSO ยังไม่มีแผนขยายแท่นชาร์จ EV ในตอนนี้
ดร.อดิศักดิ์ แจ้งกมลกุลชัย ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เอสโซ่ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ ESSO และผู้จัดการใหญ่ บริษัทในเครือเอ็ดซอนโมบิลในประเทศไทย กล่าวว่า ต้องยอมรับว่ากระแสโลกาภิวัตน์เริ่มให้ความสำคัญกับรถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ก็ต้องดูว่าประเทศไทยจะไปได้เร็วขนาดไหน ซึ่งการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้านั้น ระบบโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับอย่างสถานีชาร์จยังมีจำกัด และยังต้องอาศัยระยะเวลากว่าจะมีสถานีชาร์จครอบคลุมในการเดินทางที่สามารถสนับสนุนให้เกิดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึง
ทั้งนี้ ESSO เชื่อว่าในระยะยาวปี 2035 – 2040 ปริมาณต้องการน้ำมันยังเติบโตอยู่อย่างต่อเนื่อง อาจจะมีจุดหนึ่งที่มันจะเริ่มลดลง แต่ก็คิดว่าคงใช้ระยะเวลาอีกหลายปีข้างหน้ารถยนต์ไฟฟ้าถึงจะมีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นในระยะยาวความต้องการใช้น้ำมันยังเติบโตอยู่ เพราะเศรษฐกิจยังอาศัยพลังงานอยู่ พลังงานที่เป็นฟอสซิลยังมีส่วนสำคัญของการเติบโตของเศรษฐกิจ ESSO ยังเดินหน้าที่จะขยายสถานีบริการน้ำมันอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งลงทุนเพิ่มประสิทธิภาพโรงกลั่น
ดังนั้นแผนการลงทุนในปัจจุบัน ESSO ยังไม่มีแผนที่จะขยายสถานีชาร์รถ EV แม้ผู้ประกอบการค้าปลีกน้ำมันแบรนด์ไทยได้เริ่มขยายการลงทุนกันแล้วก็ตาม เนื่องจากต้องรอดูมาตรการที่ภาครัฐออกมาส่งเสริมว่าจะช่วยผลักดันให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโตเพิ่มขึ้นนั้นเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหนจากเป้าหมายของภาครัฐที่กำหนดการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะสม ในปี 2568 อยู่ที่ 1.05 ล้านคัน และปี 2578 จะมีการใช้รถยนต์ไฟฟ้าสะสม 15.58 ล้านคัน และตั้งเป้าให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า 100% ในปี 2578
“การลงทุนขยายสถานีชาร์จรถยนต์ EV ของ ESSO คงต้องรอให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้าในประเทศเติบโตมากขึ้น และมีปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญก่อนถึงจะตัดสินลงทุน อย่างไรก็ตาม ESSO ก็ได้เตรียมความพร้อมด้านเทคโนโลยีไว้เรียนร้อยแล้วถ้าถึงวันที่จะต้องลงทุนก็พร้อมทันที เพราะไม่ต้องใช้เทคโนโลยีอะไรที่ซับซ้อน ด้านพื้นที่ตั้งก็มีความพร้อม”
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาก็มีพันธมิตรหลายรายที่ให้ความสนใจอยากร่วมลงทุนกับ ESSO ในการสร้างสถานีชาร์จรถ EV ในสถานีบริการน้ำมัน ซึ่งการลงทุนสร้างสถานีชาร์จรถ EV ก็ต้องดูว่าหากลงทุนตอนนี้เลยจะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ซึ่งส่วนใหญ่คนที่ลงทุนไปแล้วก็ไม่ค่อยมีคนไปใช้งาน ผลตอบแทนจากการลงทุนก็ไม่เกิดขึ้น จึงยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องลงทุนตอนนี้ ทั้งนี้ปัจจุบัน ESSO มีการติดตั้งสถานีชาร์จรถ EV ในสถานีบริการน้ำมันเพียง 5-6 แห่ง เพื่อทำการทดลองระบบ เก็บข้อมูล ศึกษาว่าพฤติกรรมของผู้ใช้เป็นอย่างไร แล้วนำไปพัฒนาต่อยอด
พัฒนาเทคโนโลยีการจัดเก็บ คาร์บอนไดออกไซด์
ดร.อดิศักดิ์ กล่าวว่า ESSO ก็อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการจัดเก็บ คาร์บอนไดออกไซด์ หรือ Carbon Capture and Storage (CCS) มาใช้กับการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากเทคโนโลยีนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของแผนงาน (Road Map) ของรัฐบาลที่จะนำไปสู่เป้าหมาย Carbon neutrality และ Net Zero Emission ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยถ้าไม่มีเทคโนโลยีการจัดเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ โดยในเบื้องต้นทาง ESSO ก็ได้เข้าไปหารือกับทางรัฐบาลบ้างแล้ว
ทั้งนี้การไปสู่เป้าหมาย Carbon neutrality ภายในปี ค.ศ. 2050 และ Net Zero Emission ในปี 2065 ของรัฐบาลนั้นจะต้องมีแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน ซึ่งแผนงานในปัจจุบันของรัฐบาลยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง หลายหน่วยงานของรัฐบาล รวมถึงการจัดตั้งองค์กรต่างๆ ที่จะมาสนับสนุนตรงนี้ช่วยให้มีแผนงานที่ชัดเจน ซึ่งแผนงานต่างๆ ที่นำไปสู่ Net Zero Emission หน่วยงานภาครัฐก็ดำเนินการอยู่ ซึ่งแน่นอนว่าการส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้าจะมีส่วนสำคัญในการที่จะลดคาร์บอนไดออกไซด์