GPSCคิกออฟโรงงานผลิตแบตเตอรี่-วางเป้าผลิต10กิกะวัตต์

ผู้ชมทั้งหมด 857 

GPSC คิกออฟโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานเฟสแรก 30 MWh ลุยเจาะกลุ่มลูกค้าผลิตรถยนต์ไฟฟ้า กลุ่มลูกค้าเอนเนอร์จี พร้อมขยายกำลังการผลิตเป็น 1 กิกะวัตต์ภายใน 2 ปี วางเป้าเพิ่มเป็น 10 กิกะวัตต์ภายในปี 2030 คาดใช้เงิน 3 หมื่นล้าน

นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC กล่าวว่า GPSC ได้เปิดโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานภายใต้แบรนด์ G-Cell โดยใช้เทคโนโลยี SemiSolid แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) ด้วยกำลังการผลิตเริ่มต้น 30 MWh (เมกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง  

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมการผลิตแบตเตอรี่ SemiSolid นั้นเป็นเทคโนโลยีการผลิตของบริษัท 24M Technologies Incorporation หรือ 24M จากประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งบริษัทฯ ได้รับสิทธิ License ในการดำเนินการผลิตและจัดจำหน่ายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  

ทั้งนี้การผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานแบรนด์ G-Cell แบบ LFP (Lithium Iron Phosphate) หรือ ลิเธียมไอรอนฟอสเฟตที่มีจุดเด่นในเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานสูง และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานกว่า จึงเหมาะสมกับแอพพลิเคชั่นที่หลากหลาย รวมทั้งยังสามารถรีไซเคิล (Recycle) ได้ง่าย เมื่อแบตเตอรี่หมดอายุการใช้งาน จึงเป็นแบตเตอรี่ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยกำลังการผลิต 30 MWh ต่อปี ซึ่งสามารถขยายกำลังการผลิตของโรงงานนี้เพิ่มเป็น 100 MWh ต่อปี

พร้อมกันนี้ยังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนขยายกำลังการผลิตเชิงพาณิชย์ขนาด 1 GWh (กิกะวัตต์ชั่วโมง) ต่อปี คาดว่าจะได้ข้อสรุปและเริ่มขยายการลงทุนได้ภายใน 2 ปี โดยในปี 2565 จะสรุปพื้นที่ตั้งโรงงาน เบื้องต้นศึกษาพื้นที่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เนื่องจากใกล้กับโรงงานผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งจะสามารถลดต้นทุนด้านโลจิกติกส์ได้

ขณะเดียวกันนี้บริษัทฯ ได้ตั้งเป้าหมายขยายกำลังการผลิตสู่ระดับ 10 กะวัตต์ชั่วโมงต่อปี ในปี 2030 หรือภายใน 10 ปี คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต (S-CURVE) โดยเฉพาะยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) การเพิ่มขึ้นของการผลิตและใช้ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ (Smart City)

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังอยู่ระหว่างศึกษาและพิจารณาแผนการลงทุนในโรงงานผลิตแบตเตอรี่ขนาด Giga-scale ซึ่งจะต่อยอดให้ GPSC เป็นผู้นำทางด้านการให้บริการด้านแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้พัฒนาโซลูชั่นเพื่อบริหารจัดการพลังงานชั้นนำ (Energy Management Solution Provider) ของประเทศ

อย่างไรก็ตามโรงงานผลิตหน่วยกักเก็บพลังงานแห่งนี้สามารถผลิตแบตเตอรี่ และระบบกักเก็บพลังงานได้ใน 3 ระดับ คือ 1. G-Cell ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ขั้นพื้นฐานในรูปแบบ Battery Pouch Cell 2. ผลิตภัณฑ์ G-Pack ที่มีการนำ Battery Pouch Cell มาเชื่อมต่อกันในรูปแบบ Battery Module และ Pack พร้อมทั้งติดตั้งระบบบริหารจัดการแบตเตอรี่ หรือ Battery Management System (BMS) ร่วมด้วย

3. กลุ่ม G-Box ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พร้อมใช้งานสำหรับระบบสำรองไฟฟ้า (Uninterruptible Power Supply  หรือ  UPS) และระบบกักเก็บพลังงาน  (Energy Storage System หรือ ESS) ที่มีขนาดตั้งแต่ 10-1,000 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh) ขึ้นไป ซึ่งสามารถนำเทคโนโลยี  IoT (Internet of Things) AI (ระบบปัญญาประดิษฐ์) และ  Block-chain เข้ามาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มการให้บริการกับกลุ่มลูกค้าตามขนาดของความต้องการใช้ไฟฟ้า

สำหรับกลุ่มลูกค้านั้นในเบื้องต้นจะเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ (Mobility Application – Light Duty and Heavy Duty) อาทิเช่น รถบัสไฟฟ้า เรือไฟฟ้า รถตุ๊กต๊กไฟฟ้า รถไฟฟ้าสี่ล้อขนาดเล็ก รถมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้า และกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตระบบกักเก็บพลังงานไฟฟ้า  (Stationary Application) อย่างไรก็ตามในปัจจุบันมีกลุ่มลูกค้าที่เป็นรถตุ๊กต๊กไฟฟ้าอยู่ราว 3,000 คัน และรถบัสไฟฟ้าราว 150 คัน  

“กลุ่มลูกค้าบริษัท GPSC จะเน้นทั้งในกลุ่ม ปตท. ซึ่งในระยะแรกจะมุ่งเน้นไปที่กลุ่มผู้ผลิตและใช้งานระบบกักเก็บพลังงาน (ESS) และยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดใหญ่ และขยายฐานลูกค้าไปยังกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม (SME)  รวมไปถึงผู้ประกอบการที่ต้องใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนประกอบของสินค้า และในอนาคตยังมีแผนที่จะส่งออกไปยังกลุ่มประเทศในอาเซียนอีกด้วย”นายวรวัฒน์ กล่าว   

นายวรวัฒน์ กล่าวว่า ยานยนต์ไฟฟ้าในกลุ่ม Passenger EV มีแนวโน้มเติบโตอย่างก้าวกระโดด และเป็นอุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่ประเทศไทยให้การส่งเสริมและมีเป้าหมายการผลิตให้ได้ 30% ของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศในปี 2573 ซึ่งมักจะนิยมใช้แบตเตอรี่แบบ NMC (Lithium Nickel Manganese Cobalt Oxide) นั้นในเบื้องต้นบริษัทฯ สามารถนำเข้าแบตเตอรี่แบบ NMC ที่ผลิตจากเทคโนโลยีเดียวกัน โดยบริษัท Anhui Axxiva New Energy Technology Co., Ltd. (AXXIVA) ประเทศจีน ที่บริษัทฯ ได้เข้าไปลงทุนก่อนหน้านี้ ป้อนให้กับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการได้