ผู้ชมทั้งหมด 385
GPSC ปี 65 รายได้ยังโต 65% แต่กำไรลดวูบ 88% ขณะที่บอร์ดฯ ไฟเขียวจ่ายเงินปันผลรอบครึ่งปีหลังอีก 0.30 บาทต่อหุ้น พร้อมเปิดเกมรุกปี 66 ผนึกพันธมิตรเพิ่มสัดส่วนพลังงานสะอาด 50%
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2565 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 123,685 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 65% เมื่อเทียบกับปี 2564 โดยมีกำไรสุทธิ รวมทั้งสิ้น 891 ล้านบาท ลดลง 6,428 ล้านบาท หรือ 88% จากปี 2564 ปัจจัยหลักมาจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) ลดลง 8,770 ล้านบาท เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ปรับตัวสูงขึ้น ทำให้ margin จากการขายไฟฟ้าให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมลดลง ในขณะที่อัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ยังไม่สามารถปรับตัวได้ทันราคาต้นทุนเชื้อเพลิง
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้รับปัจจัยบวกจากกำไรขั้นต้นของโรงไฟฟ้าผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ (IPP) เพิ่มขึ้น 1,200 ล้านบาทจากการเดินเครื่องผลิตของโรงไฟฟ้าศรีราชา และโกลว์ไอพีพี ที่ใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้มี margin จากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ประกอบกับโรงไฟฟ้าศรีราชามีปริมาณการขายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับแผนการเรียกรับไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ขณะเดียวกันยังได้รับส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรี เพิ่มขึ้น 330 ล้านบาท เนื่องจากมีปริมาณน้ำในการผลิตกระแสไฟฟ้ามากกว่าปี 2564
สำหรับผลการดำเนินงานในไตรมาส 4/2565 มีรายได้รวม 34,839 ล้านบาท ปรับตัวเพิ่มขึ้น 58% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่มีผลขาดทุนสุทธิรวมทั้งสิ้น 436 ล้านบาท ปรับตัวลดลง 137% เมื่อเทียบกับกำไรในไตรมาส 4/2564 และเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/2565 ปรับตัวลดลง 232% ปัจจัยหลักมาจากราคาก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินอยู่ในระดับสูงขึ้นอย่างมาก ส่งผลให้มาร์จินจากการขายไฟฟ้าให้กับกลุ่มอุตสาหกรรมลดลง แม้ว่าในช่วงเดือนกันยายนจะมีการปรับค่า Ft เพิ่มขึ้นเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้สามารถชดเชยต้นทุนเชื้อเพลิงที่สูงขึ้นได้บางส่วน
ประกอบกับในไตรมาส 4 นี้มีปริมาณการขายไฟฟ้าและไอน้ำให้กับลูกค้า อุตสาหกรรมปรับตัวลดลง เนื่องจากลูกค้าอุตสาหกรรมหยุดซ่อมบำรุง อีกทั้งมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรของโรงไฟฟ้าพลังน้ำไซยะบุรีปรับตัวลดลงตามฤดูกาล อย่างไรก็ตาม ในส่วนผลการดำเนินงาน IPP มีรายได้ และกำไรที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก กฟผ. มีการเรียกไฟฟ้าเข้าระบบเพิ่มขึ้น ขณะที่มีการใช้น้ำมันดีเซลเข้ามาเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซธรรมชาติ ทำให้มาร์จินจากการขายไฟฟ้าเพิ่มขึ้น และมีการรับรู้รายได้จากค่า เคลมประกันภัยของโรงไฟฟ้าโกลว์พลังงานระยะที่ 5 บางส่วน
ทั้งนี้ ในปี 2565 บริษัทฯ มีการรับรู้มูลค่า Synergy ร่วมกับ GLOW สุทธิหลังภาษีจำนวน 2,740 ล้านบาท จากการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารการผลิต โดยการใช้โครงข่ายไฟฟ้าร่วมกัน การบริหารส่วนการพาณิชย์ด้านต้นทุนการผลิต การขยายฐานลูกค้า และการบริหารจัดการหุ้นกู้ ทำให้บริษัทสามารถลดต้นทุนหลังจากการควบรวมมาอย่างต่อเนื่อง
นายวรวัฒน์ กล่าวว่า แม้ว่าปี 2565 จะเป็นปีที่บริษัทฯ เผชิญกับความท้าทายจากปัจจัยภายนอกที่เข้ามา แต่บริษัทฯ ยังคงดำเนินธุรกิจที่มุ่งเน้นการให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อมุ่งสู่การเป็นบริษัทผลิตไฟฟ้าชั้นนําด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนในระดับสากล ทำให้บริษัทฯ ประสบความสำเร็จในการได้รับการคัดเลือกเป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ (Dow Jones Sustainability Indices -DJSI) ในกลุ่มดัชนีตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets Index) ประเภทอุตสาหกรรมสาธารณูปโภคโรงไฟฟ้า ซึ่งเป็นปีแรกด้วยคะแนนมิติด้านสังคมสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของกลุ่มสาธารณูปโภคโรงไฟฟ้าทั่วโลก สะท้อนความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อนธุรกิจด้วยนวัตกรรมพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งบริษัทฯ ได้ตั้งเป้าในการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากกว่า 50% ในปี 2573
พร้อมกันนี้บริษัทฯ ยังมุ่งมั่นที่จะแสวงหาโอกาสร่วมมือกับพันธมิตรในการศึกษาและลงทุนในพื้นที่ที่มีศักยภาพตามกลยุทธ์ 4S ประกอบด้วย S1: Strengthen and Expand the Core การสร้างความแข็งแกร่งที่เน้นการเพิ่มประสิทธิภาพโรงไฟฟ้าให้มากขึ้น S2: Scale-Up Green Energy มุ่งเพิ่มสัดส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน S3: S-Curve & Batteries การพัฒนานวัตกรรมพลังงานและธุรกิจแห่งอนาคต S4: Shift to Customer-Centric Solutions บริการโซลูชั่นเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ ทั้งในด้านการผลิตไฟฟ้าและสาธารณูปโภค เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ รวมทั้งยังได้กำหนด กลยุทธ์หลักในการพัฒนาพลังงานสะอาดให้เติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งได้รับการยอมรับกระทั่งได้รับรางวัลทั้งในประเทศและระดับสากลหลายแห่ง
นอกจากนี้ ในปี 2566 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เห็นชอบการปรับค่า Ft แบ่งออกเป็น 2 กรณี สำหรับเรียกเก็บรอบเดือนมกราคม-เดือนเมษายน 2566 กรณีสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านที่อยู่อาศัยเรียกเก็บในอัตราเดิม 93.43 สตางค์ต่อหน่วย สำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทอื่นๆ เรียกเก็บที่ 154.92 สตางค์ต่อหน่วย เพิ่มขึ้นจาก 61.49 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งสถานการณ์พลังงานยังมีราคาที่ผันผวนสูง เป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ ที่ต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารงานในทุกด้าน เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับปัจจัยเสี่ยงในด้านต่างๆ