GPSC ผนึก สพฐ. ดึงระบบ S.T.E.M พัฒนาหลักสูตรเสริมศักยภาพครูชั้นประถม 16 แห่ง

ผู้ชมทั้งหมด 684 

GPSC จับมือ สพฐ. จัดโครงการ อบรมครูชั้นประถมศึกษา รวม 16 แห่ง ดึงหลักสูตร S.T.E.M เน้นการใช้เทคโนโลยี นวัตกรรม ผสมผสานการเรียนการสอนพื้นฐาน  ให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางลงมือปฎิบัติ มุ่งยกระดับคุณภาพทางการศึกษาไทยแนวใหม่  รองรับการเติบโตอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

นายณรงค์ชัย วิสูตรชัย ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสรัฐกิจสัมพันธ์และกิจการสาธารณะ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า วันที่ 6 พฤศจิกายน 2564 ได้จัดกิจกรรมอบรมโครงการ “การพัฒนาครู..สู่การเรียนรู้วิถีใหม่” ประจำปี 2564 ผ่านระบบออนไลน์แพลตฟอร์ม Zoom ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีแรกให้กับ โรงเรียนชั้นประถมศึกษาในสังกัด สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สพฐ. จำนวน 15 แห่ง และ จำนวน 1 แห่ง ในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) ที่ GPSC ให้การสนับสนุนมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งนับเป็นความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และภาคเอกชน  ในการพัฒนายกระดับมาตรฐานครูและบุคลากรทางการศึกษาให้มีศักยภาพ ผ่านการนำทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือสะเต็ม ( S.T.E.M ) เป็นหลักสูตรที่ได้รับการส่งเสริมและรับรองจาก สพฐ. มาปรับใช้ในการออกแบบการเรียนการสอนผ่านสื่อการเรียนรู้แทนการเรียนการสอนในห้องเรียนรูปแบบเดิม

ทั้งนี้ GPSC ให้ความสำคัญในการส่งเสริมการพัฒนาทักษะของเยาวชนที่มีการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมมาใช้เป็นสื่อกลางการเรียนการสอนแบบใหม่  โดยนำแนวทางการเรียนการสอนแบบ S.T.E.M มาบูรณาการผสมผสานกับหลักสูตรการเรียนการสอนเดิมที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด โดยเน้นให้ครูผู้สอนเน้นถ่ายทอดในเชิงการปฎิบัติมากกว่าทฤษฎี โดยแต่ละกิจกรรมจะต้องมีการประเมินผลการเรียนรู้ที่หลากหลาย เน้นการวิเคราะห์ และทำความเข้าใจเนื้อหาวิชาจากกิจกรรมที่กำหนดขึ้น พร้อมกับการสอดแทรกความสนุกสนานที่สามารถนำไปสู่การประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวันได้ ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพของนักเรียน ที่สามารถเรียนรู้อย่างเหมาะสมกับช่วงวัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับกิจกรรมฝึกอบรมครูที่เข้าร่วมในครั้งนี้ จะได้รับการฝึกทักษะด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น กระบวนการออกแบบกิจกรรม การใช้ความคิดสร้างสรรค์ ทักษะวิชาชีพ ทักษะการเป็นผู้นำ รวมถึงการสร้าง ความเชื่อมั่นให้กับตนเองและเพื่อนร่วมงาน รวมถึงการประเมินหลักสูตรที่สามารถนำไปพัฒนากระบวนการสอนในหลักสูตรได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น ให้เข้ากับบริบทของแต่ละโรงเรียน โดยให้สอดคล้องกับหลักสูตรของการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการในด้านการพัฒนากำลังคนที่จะช่วยยกระดับการศึกษาให้เหมาะสมกับสถานการณ์และการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม  ซึ่งครูที่เข้าร่วมฝึกอบรมภายใต้โครงการดังกล่าว ยังสามารถนำผลการอบรมรายชั่วโมงไปจัดทำรายงานการประเมินผลเพื่อการชี้วัดในการเลื่อนวิทยฐานะตามหลักเกณฑ์ที่สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา หรือ ก.ค.ศ กำหนด ด้วยเช่นกัน