ผู้ชมทั้งหมด 239
“จีพีเอสซี” ลุ้นไตรมาส4 ปีนี้ มาร์จิ้นดีขึ้น หลังค่าไฟฟ้าเริ่มสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิง ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนพ้นช่วงโลว์ซีซั่น และโรงไฟฟ้าพลังน้ำ น่าจะกลับมาเดินเครื่องการผลิตได้เพิ่มขึ้น ช่วยหนุนผลประกอบการ เล็งทำดีล M&A ในไทย ไต้หวัน และอินเดีย ลั่นพร้อมขยายการลงทุนพลังงานสีเขียวป้อนลูกค้าในรูปแบบ Direct PPA และ ดาต้าเซ็นเตอร์ หากรัฐชัดเจนนโยบาย
น.ส.สุกิตตี ไชยรักษ์ ผู้จัดการฝ่ายอาวุโสการเงินองค์กรและนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยในงาน Oppday Q3/2024 ของ GPSC เมื่อวันที่ 25 พ.ย.2567 โดยระยุว่า แนวโน้มการดำเนินงานของ GPSC ในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้ ยังมุ่งเน้นการลงทุนในธุรกิจหลัก ทั้งธุรกิจไฟฟ้าและไอน้ำ ซึ่งมาร์จิ้นจะเป็นไปตามปัจจัยของราคาค่าไฟฟ้า ที่สะท้อนต้นทุนมากขึ้น แต่ภาพรวมธุรกิจในไตรมาส 4 จะเป็นช่วงโลว์ซีซั่นของธุรกิจไฟฟ้าก็ต้องรอติดตามสถานการณ์ ส่วนโรงไฟฟ้าอื่นๆอย่างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนก็จะเป็นไปตามฤดูกาล อย่างเช่น โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งในไตรมาส 3 ที่ผ่านมาจะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น ฉะนั้นในไตรมาส 4 ปีนี้ก็คาดว่าจะดีขึ้น ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในประเทศอินเดียของบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) หรือ AEPL และโรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ อื่นๆ ผลประกอบการก็น่าจะดีขึ้น
ขณะที่โรงไฟฟ้าพลังน้ำ เช่น ไซยะบุรี ช่วงไตรมาส 3 ได้หยุดดำเนินการประมาณ 17 วัน จากปริมาณน้ำที่มากเกินไป ซึ่งในช่วงไตรมาส 4 คาดว่า สถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ และสามารถเดินเครื่องโรงไฟฟ้าได้ดีขึ้น แต่ก็ต้องติดตามสถานการณ์อีกครั้ง
ส่วนแผนการเติบโตของ GPSC ในอนาคตนั้น ในส่วนที่เป็นการลงทุนตามนโยบายภาครัฐ ที่มีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าตามแผน PDP ที่ผ่านมาจะเห็นว่า รัฐได้ประกาศโครงการที่ “รัฐประกาศรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรหมุนเวียน ตามปริมาณ และราคาที่รัฐกำหนด” หรือ RE Big Lot ที่จะพิจารณาโครงการที่ผ่านคุณสมบัติสำหรับเข้าร่วมโครงการใน เฟสแรก ก่อนนั้น ทาง GPSC ก็อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมโครงการที่จะเข้าร่วมนำเสนอ
รวมถึง ในส่วนของ Direct PPA และ ดาต้าเซ็นเตอร์ ก็อยู่ระหว่างรอความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่ง GPSC ก็มีความพร้อมที่จะซัพพลายพลังงานให้กับลูกค้าทั้งในส่วนที่อยู่ใน PDP และ Non PDP สำหรับลูกค้าที่ต้องการพลังงานสีเขียว
“Direct PPA ปัจจุบัน บริษัท ก็ได้ดำเนินการภายใต้รูปแบบโครงการ Private PPA ให้กับลูกค้ารายย่อย ตามแนวทางความเชี่ยวชาญของบริษัท ส่วนดาต้าเซ็นเตอร์ ก็มีลูกค้าติดต่อเข้ามา ซึ่งอยู่ระหว่างเจรจาความชัดเจน เนื่องจากลูกค้าต้องการใช้ไฟในปริมาณมาก และมีความเสถียร ราคาที่ดี และต้องเป็นพลังงานสีเขียว โดยหากมีความชัดเจนจะแจ้งให้นักลงทุนทราบต่อไป”
ส่วนแผนควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการ(M&A) ปัจจุบัน อยู่ระหว่างศึกษาความเป็นไปได้ทั้งใน ไทย ไต้หวัน และอินเดีย ซึ่งหากมีความชัดเจนแล้วจะเปิดเผยข้อมูลอีกครั้ง
สำหรับทิศทางการลงทุนในปี 2568 ก็ยังคงเป็นไปตามแผนงานที่ประกาศไว้ ที่จะขับเคลื่อนธุรกิจตาม แผนกลยุทธ์ 4S ได้แก่ S1 สร้างความแข็งแกร่งพร้อมขยายการให้บริการให้ธุรกิจหลัก (Strengthen and Expand the Core) S2 การพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียน (Scale-Up Green Energy) S3 การลงทุนด้านนวัตกรรมจากธุรกิจใหม่ (New S-curve) และ S4 บริการโซลูชั่นด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า (Shift to Customer-Centric Solutions) อย่างต่อเนื่อง เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมาย และตอบโจทย์ Net Zero Emissions ในปี 2603
ส่วนแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากกระแสเงินสดของบริษัทอยู่ในสถานะที่แข็งแกร่ง และโครงการลงทุนในอินเดีย เม็ดเงินลงทุนที่เคยประกาศไว้ยังเพียงพอรองรับการลงทุนได้ถึง 11 กิกะวัตต์ หลังจากนั้นก็มีแผนที่จะไปจัดหาเงินลงทุนในอินเดียต่อไป
นอกจากนี้ GPSC ได้เตรียมความพร้อมการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก SMR แต่ยังรอความชัดเจนนโยบายภาครัฐ รวมถึงกฎระเบียนต่างๆที่จะออกมา โดยเชื่อมั่นว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มีประสิทธิภาพ และตอบโจทย์การใช้พลังงานในอนาคต แต่ก็เป็นโครงการที่จะเกิดขึ้นในระยะยาว หรือหลังปี 2573 เป็นต้นไป ซึ่งในส่วนของ GPSC ก็มีจุดแข็งในการมีท่าเรือที่มีประสิทธิภาพสูงที่จะรองรับการลงทุนในส่วนนี้ ดังนั้น หากนโยบายมีความชัดเจนแล้วทางบริษัทก็พร้อมเข้าร่วมลงทุน
“การหาพันธมิตรร่วมลงทุนนั้น บริษัทก็เปิดกว้างที่จะหาพันธมิตรเข้าร่วมลงทุนในโครงการต่างๆอยู่แล้ว โดยเฉพาะโครงการในต่างประเทศ เช่น โครงการของ Avaada และ GRP เป็นต้น”