ผู้ชมทั้งหมด 644
GPSC ประกาศเพิ่มทุน 2,500 ล้านบาท ตามสัดส่วนการถือหุ้นใน Avaada Energy พร้อมเดินหน้าพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ หลังจากชนะการประมูลเพิ่ม 1,181 เมกะวัตต์ รองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าพุ่ง
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2566 นี้ คณะกรรมการบริษัทฯ ได้อนุมัติเพิ่มทุนวงเงินไม่เกิน 2,500 ล้านบาท ในบริษัท อวาด้า เอนเนอร์ยี่ ไพรเวท จำกัด (Avaada Energy Private Limited) ซึ่งอยู่ในกลุ่มอวาด้า (Avaada Group) ผู้ดำเนินธุรกิจพลังงานหมุนเวียนชั้นนำในประเทศอินเดีย ซึ่ง GPSC ถือหุ้นในสัดส่วน 42.93% ผ่านบริษัท โกลบอล รีนิวเอเบิล ซินเนอร์ยี่ จำกัด (GRSC) เพื่อนำเงินที่ได้จากการเพิ่มทุนไปรีไฟแนนซ์ และลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนที่ Avaada Group ตามแผนการขยายกำลังการผลิตในประเทศอินเดีย
โดยเมื่อเร็วๆ นี้ Avaada Energy ได้รับชัยชนะในการประมูลโครงการติดตั้งโซลาร์ไปแล้ว 2 โครงการ ได้แก่ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีระบบการเชื่อมต่อ กับ ISTS ขนาด กำลังการผลิต 421 เมกะวัตต์ (DC) ของ REC Power Development and Consultancy’s (RECPDCL) และ โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 560 เมกะวัตต์ (DC) ซึ่งเปิดประมูลโดย Maharashtra State Electricity Distribution หรือ MSEDCL และล่าสุดยังประสบความสำเร็จในการชนะการประมูลเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งโครงการเป็นโครงการที่ 3 ขนาด 200 เมกะวัตต์ (DC) ซึ่งเปิดประมูลโดย Gujarat Urja Vikas Nigam Ltd. หรือ GUVNL
นับเป็นการชนะประมูลด้วยการเสนอราคาในรูปแบบ e-Reverse auction ที่ 2.75 รูปีอินเดีย/กิโลวัตต์ชั่วโมง (~0.033 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งจะลงนามซื้อขายไฟฟ้าหรือ PPA ที่มีอายุสัญญารับซื้อเป็นเวลา 25 ปี และดำเนินการโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 18 เดือน โดยคาดว่าจะผลิตไฟฟ้าได้ประมาณ 370 ล้านกิโลวัตต์ชั่วโมงต่อปี ลดการปล่อย CO2 เทียบเท่าได้ประมาณ 344,470 ตันต่อปี ทำให้ในเดือนเมษายนนี้ Avaada Energy ชนะการประมูลรวมทั้งสิ้นจำนวน 3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 1,181 เมกะวัตต์ นับเป็นการมุ่งสู่เป้าหมายของ GPSC ในการเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนของบริษัทฯ ให้มากกว่า 50% ภายในปี พ.ศ. 2573 พร้อมลด Carbon Intensity จากการพัฒนาพลังงานสะอาด ซึ่งเป็นปัญหาระดับสากล อีกทั้งยังสามารถนำความรู้และความเชี่ยวชาญในการพัฒนาโครงการใหม่ๆ มาใช้ในการต่อยอดพัฒนาโครงการในประเทศไทย ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น