GULF ชูเป้าหมาย “Carbon Neutral” กางแผนลงทุน 10 ปี เพิ่มพอร์ต “พลังงานสะอาด”

ผู้ชมทั้งหมด 892 

“พลังงานสะอาด” กลายเป็นเทรนด์ที่ภาคธุรกิจ การค้าและการลงทุนในหลายประเทศทั่วโลก ต่างตระหนักและมุ่งให้ความสำคัญมากขึ้น อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากกระแสต่อต้านภาวะโลกร้อนที่พูดกันหนาหูมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมานี้ และนับวันจะยิ่งมีบทบาทเพิ่มขึ้น หลังประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ออกมากประกาศเป้าหมายการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ที่เข้มข้น เพื่อก้าวสู่การปล่อย คาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) เช่น  จีน ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี ค.ศ. 2060 สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป ประกาศลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ปี ค.ศ.2050 เป็นต้น

ล่าสุด การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  (COP26) ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร เมื่อวันที่ 1พ.ย.2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้ประกาศเจตนารมณ์ว่า ประเทศไทยพร้อมยกระดับการแก้ไขปัญหาภูมิอากาศอย่างเต็มที่ด้วยทุกวิถีทาง เพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือน กระจกสุทธิเป็นศูนย์  (net zero) ในปี ค.ศ. 2065 เพื่อร่วมมือกับประชาคมโลกในการจำกัดการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส หรือให้ดีกว่านั้นคือไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม

บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เป็นหนึ่งในบริษัทพัฒนาพลังงานชั้นนำของประเทศไทย ที่ให้ความสำคัญกับกระแสลดโลกร้อนดังกล่าว โดย ตั้งเป้าหมายจะมีสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เพิ่มขึ้นเป็น 30% ภายในปี 2573  จากปัจจุบัน มีสัดส่วนพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ประมาณ  7-10%”

ยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ระบุว่า บริษัท เดินหน้าศึกษาการลงทุนธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ทั้งใน ไทย เวียดนาม ยุโรป สหรัฐ และเอเชีย อย่างต่อเนื่อง โดยมีการเจรจาเพื่อควบรวมหรือกิจการ(M&A)ในหลายโครงการ และแต่ละโครงการ คาดว่าจะมีมูลค่าประมาณ 10,000-30,000 ล้านบาท ซึ่งน่าจะปิดดีลได้ในช่วงไตรมาส 1 ปี65 โดยหากบรรลุเป้าหมายในการเจรจา ก็จะช่วยต่อยอดรายได้ของบริษัทในอนาคต

ขณะเดียวเดียวกัน บริษัท ได้วางแผนการลงทุนช่วง 10ปี (2565-2574) อยู่ที่ระดับ 74,000 ล้านบาท สำหรับลงทุนธุรกิจที่ได้อนุมัติแล้ว และไม่รวมโครงการที่จะควบรวมหรือซื้อกิจการ (M&A) โดยแบ่งสัดส่วนการลงทุน ดังนี้

ธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ราว 46,000 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนราว 62% ของงบลงทุน เพื่อใช้ในโครงการโซลาร์รูฟท็อป โครงการพลังลมแม่โขงที่เวียดนาม โรงไฟฟ้าพลังน้ำที่ลาวคือ โครงการ Pak Beng กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 912 เมกะวัตต์ และโครงการ Pak Lay กำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถลงนามบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้ากับ กฟผ.ได้ภายในสิ้นปี 2564 เพื่อให้บรรลุเป้าหมายของบริษัทที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนเป็นไม่ต่ำกว่า 30% ในปี 2573

ส่วนธุรกิจโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงก๊าซฯ อยูที่ 17,000 ล้านบาท คิดเป็น 23% ของงบลงทุน ใช้ในโรงไฟฟ้า IPP 5,000 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าหินกอง โรงไฟฟ้าบูรพา และโรงไฟฟ้า Duqm ประทศโอมาน และธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค อยู่ที่ 11,000 ล้านบาท หรือ ราว 15% ใช้ในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน เช่นโครงการท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 โครงการท่าเรือมาบตาพุด เฟส 3 และโครงการมอเตอร์เวย์

ส่วนเป้าหมายการเติบโตระยะสั้นใน ปี 2565 บริษัทตั้งงบลงทุนไว้ที่ 10,000 ล้านบาท เพื่อใช้ลงทุนโครงการต่อเนื่องตามแผนงานที่วางไว้ โดยไม่รวมเงินการควบรวมหรือซื้อกิจการ ซึ่งขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจาหลายโครงการที่จะทำ M&A อีกทั้ง บริษัทยังมีแผนที่จะออกหุ้นกู้อีกประมาณ 20,000 ล้านบาท ในช่วงต้นปี2565 เพื่อนำไปใช้ชำระคืนเงินกู้ที่นำมาซื้อหุ้นของ INTUCH และสำหรับใช้ในการขยายธุรกิจของบริษัท รวมถึงคาดว่าการจับมือกับ Singtel เพื่อร่วมกันศึกษาธุรกิจศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนภายในช่วงไตรมาส 1/65 และในอนาคตอาจมี AIS เข้ามาร่วมธุรกิจด้วย

นอกจากนี้ ในปี 2565 บริษัท ตั้งเป้ารายได้เติบโตประมาณ 60% เนื่องจากจะมีการทยอยรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ เอสอาร์ซี (GSRC) หน่วยที่ 3-4 ขนาดกำลังการผลิตรวม 1,325 เมกะวัตต์ (MW) โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน มี.ค.และ ต.ค. 2565 และโครงการโซลาร์รูฟท็อปที่จะทยอยแล้วเสร็จอีก 90 เมกะวัตต์ โครงการโรงไฟฟ้าพลังลม ขนาด 128 เมกะวัตต์ที่เวียดนามที่เดินเครื่องเต็มปี

ปัจจุบัน กัลฟ์ มีกำลังการผลิตไฟฟ้าก๊าซ 13,661 เมกะวัตต์ ทั้งในไทยและโอมาน และมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 837 เมกะวัตต์ ขณะที่กำลังการผลิตตามสัดส่วนการถือหุ้น (Equity Installed Capacity) ณ.เดือน พ.ย.2564 อยู่ที่ 3,929 เมกะวัตต์ แต่จะเพิ่มขึ้น 2 เท่าตัว ภายในปี 2570 เมกะวัตต์ หรือ อยู่ที่ 8,005 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นการประเมินจากกำลังการผลิตไฟฟ้าที่ได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) แล้ว โดยสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าในปี 2570 จะเป็นโรงไฟฟ้า IPP อยู่ที่ 77% โรงไฟฟ้า SPP ราว 16% และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 7% แต่ในปี 2573 จะมีสัดส่วนการผลิตพลังงานสีเขียว (power green generation) อยู่ที่ 70% และพลังงานหมุนเวียน อยู่ที่ 30% ตามเป้าหมายที่ให้ความสำคัญกับก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral)