GULF มั่นใจกำไรปีนี้ โตตามเป้า ไร้กังวลลดค่าไฟ

ผู้ชมทั้งหมด 351 

GULF มั่นใจกำไรปีนี้ โตตามเป้า ไร้กังวลรัฐลดค่าไฟ ชี้ไตรมาส3/66 ทำ New High รับรู้ Core Profit เท่ากับ 4,203 ล้านบาท จากกลุ่มโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ทั้งในและต่างประเทศ และกำไรจาก PTTNGD และ INTUCH

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยว่า แนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 4/2566 คาดว่ายังคงเติบโตตามเป้า แม้ว่ารัฐบาลจะมีมาตรการปรับลดอัตราค่าไฟฟ้าในรอบเดือนกันยายน – เดือนธันวาคม 2566 ลงมาอยู่ที่ 3.99 บาทต่อกิโลวัตต์-ชั่วโมง โดย ณ อัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าว กลุ่มโรงไฟฟ้า SPP ของ GULF ยังสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีกว่าในปี 2565 เนื่องจากราคาก๊าซเฉลี่ยทั้งปีในปี 2566 ต่ำกว่าปี 2565 และค่า Ft เฉลี่ยปี 2566 ที่สูงกว่าในปี 2565 อีกทั้ง สัดส่วนของปริมาณการขายไฟฟ้าให้แก่ลูกค้าอุตสาหกรรมมีเพียง 8% ของปริมาณการขายไฟฟ้าทั้งหมด GULF จึงไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการดังกล่าว 

นอกจากนี้ ในช่วงปลายปี 2566 โครงการต่าง ๆ ยังคงดำเนินไปตามแผน โดยโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ GPD หน่วยที่ 2  ซึ่งมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้งรวม 662.5 เมกะวัตต์ ได้เปิดดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ในขณะที่ โครงการ Solar Rooftop ภายใต้ GULF1 มีแผนที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ให้ครบ 150 – 180 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้ ประกอบกับโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม BKR2 ที่ประเทศเยอรมนีได้ก้าวเข้าสู่ช่วง High Season ในไตรมาส 4 นอกจากนี้ แนวโน้มราคาก๊าซธรรมชาติ Henry Hub ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้โครงการ Jackson Generation ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในประเทศสหรัฐอเมริกามีผลกำไรที่ดีขึ้น สำหรับธุรกิจศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลในประเทศไทยภายใต้ Gulf Binance นั้น มีกำหนดเปิดให้บริการภายในเดือนพฤศจิกายน 2566 ทั้งนี้ ปัจจัยดังกล่าวข้างต้นจะผลักดันให้กำไรของกลุ่ม GULF ในปี 2566 เป็นไปตามเป้าหมาย

GULF ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จึงได้มีการตั้งเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานหมุนเวียนให้ไม่น้อยกว่า 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดภายในปี 2578 โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา GULF ได้เข้าลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (Solar Farms With Battery Energy Storage Systems) จำนวนรวม 12 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 649 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ระหว่างปี 2567 – 2568 นอกจากนี้ GULF ยังได้ลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นเวลา 20 ปี เพื่อพัฒนาโรงไฟฟ้าขยะอุตสาหกรรมจำนวน 2 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 16 เมกะวัตต์ โดยทั้ง 2 โครงการมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2569 หลังจากนี้ GULF คาดว่าจะทยอยลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าสำหรับโครงการพลังงานหมุนเวียนที่กลุ่ม GULF ได้รับคัดเลือกให้เป็นผู้ดำเนินโครงการจากการประมูลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อีกมากกว่า 700 เมกะวัตต์ ภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ GULF ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) จำนวน 3 โครงการ ได้แก่โครงการหลวงพระบาง โครงการปากลาย และโครงการปากแบ่ง มีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 3,142 เมกะวัตต์ โดยมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2573 ปี 2575 และปี 2576 ตามลำดับ ซึ่งทั้ง 3 โครงการจะผลิตกระแสไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะเวลา 29 – 35 ปี ทั้งนี้ GULF เชื่อมั่นว่าแนวทางการดำเนินงานอย่างยั่งยืนของบริษัทและการปฏิบัติตามมาตรฐานสากลที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่องจะสามารถทำให้บริษัทลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ในระยะยาว

สำหรับรายงานผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2566 บริษัทมีรายได้รวม (Total Revenue) อยู่ที่ 30,674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 26% จาก 24,275 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (Core Profit) สำหรับไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 4,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 94% จาก 2,167 ล้านบาท ในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

การเติบโตดังกล่าวมีสาเหตุหลักมาจากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของกลุ่มธุรกิจโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ เนื่องจากโครงการกัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม IPD ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยที่ 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 662.5 เมกะวัตต์ เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2566 ที่ผ่านมา ประกอบกับโรงไฟฟ้า SPP 12 โครงการภายใต้กลุ่ม GMP และโรงไฟฟ้า SPP 7 โครงการภายใต้กลุ่ม GJP มีอัตรากำไรขั้นต้นที่สูงขึ้นจากการขายไฟฟ้าให้แก่กลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรม เนื่องจากราคาค่าก๊าซเฉลี่ยที่ปรับตัวลดลง โดยราคาค่าก๊าซธรรมชาติเฉลี่ยลดลงอย่างมีนัยสำคัญจาก 579.13 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาส 3/2565 เป็น 363.24 บาท/ล้านบีทียู ในไตรมาสนี้ ในขณะที่ค่า Ft เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 0.48 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 3/2565 เป็น 0.68 บาท/กิโลวัตต์-ชั่วโมง ในไตรมาส 3/2566 นอกจากนี้ โครงการโรงไฟฟ้า IPP ได้แก่ โรงไฟฟ้า GNS GUT และ GSRC มีปริมาณการขายไฟฟ้าให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่เพิ่มขึ้น โดยโรงไฟฟ้า GNS และ GUT ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม GJP มี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 8% ในไตรมาส 3/2565 เป็น 21% ในไตรมาส 3/2566 ในขณะที่โรงไฟฟ้า GSRC ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าภายใต้กลุ่ม IPD มี Load Factor เฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 21% ในไตรมาส 3/2565 เป็น 79% ในไตรมาส 3/2566

อีกทั้ง กลุ่มโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติในต่างประเทศยังมีผลประกอบการที่ดีขึ้น เนื่องจากโครงการโรงไฟฟ้า DIPWP ในประเทศโอมาน ได้มีการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ที่เพิ่มขึ้นจาก 52 เมกะวัตต์ ในไตรมาส 3/2565 เป็น 326 เมกะวัตต์ ตั้งแต่ต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ GULF สามารถรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จำนวน 174 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 306% YoY และรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้า Jackson Generation ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จำนวน 150 ล้านบาทในไตรมาส 3/2566 โดย GULF ได้เข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา

ส่วนของธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ในไตรมาส 3/2566 GULF รับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลม 3 โครงการภายใต้กลุ่ม Gulf Gunkul Corporation จำนวน 235 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 205% YoY จากความเร็วลมเฉลี่ยที่เพิ่มขึ้นจาก 4.8 เมตร/วินาที ในไตรมาส 3/2565 เป็น 5.5 เมตร/วินาที ในไตรมาสนี้ อย่างไรก็ดี ปัจจัยบวกดังกล่าวถูกชดเชยบางส่วนจากส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานลมนอกชายฝั่งทะเล Borkum Riffgrund 2 (BKR2) ที่ประเทศเยอรมนี เนื่องจาก GULF ได้ลดสัดส่วนการถือหุ้นในโครงการนี้จาก 50.00% เหลือ 24.99% โดยจำหน่ายหุ้นในสัดส่วน 25.01% ให้กับ Keppel Group ในเดือนธันวาคม 2565

นอกจากนี้ ในไตรมาส 3/2566 GULF ยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จาก PTTNGD จำนวน 259 ล้านบาท ซึ่งพลิกจากขาดทุน 221 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565 โดยมีสาเหตุมาจากอัตรากำไรขั้นต้นต่อหน่วยที่สูงขึ้นจากราคาน้ำมันเตาที่สูงขึ้นและค่าก๊าซธรรมชาติที่ลดลงในไตรมาสนี้ ซึ่งรายได้ของโครงการดังกล่าวจะผูกกับราคาน้ำมันเตา ในขณะที่ต้นทุนจะขึ้นอยู่กับราคาค่าก๊าซธรรมชาติ นอกจากนี้ บริษัทยังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จากโครงการบริหารจัดการท่าเทียบเรือสาธารณะเพื่อขนถ่ายสินค้าเหลว (Thai Tank Terminal) จำนวน 65 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ โดย GULF ได้เข้าลงทุนในโครงการดังกล่าวเมื่อเดือนธันวาคม 2565 ในส่วนของการลงทุนใน INTUCH นั้น บริษัทรับรู้ส่วนแบ่งกำไร Core Profit จำนวน 1,527 ล้านบาท ในไตรมาส 3/2566 หรือเพิ่มขึ้น 37% YoY จากผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นของ AIS และกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนทั้งหมดในสัดส่วน 33.33% ในบริษัท แรบบิท-ไลน์เพย์ จำกัด

ทั้งนี้ GULF มีกำไรก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ในไตรมาส 3/2566 เท่ากับ 9,364 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 41% เมื่อเทียบกับ 6,660 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565 และกำไรสุทธิ (Net Profit) ส่วนที่เป็นของบริษัทใหญ่ในไตรมาส 3/2566 (รวมผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) เท่ากับ 3,360 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 209% จาก 1,087 ล้านบาทในไตรมาส 3/2565 ซึ่งเป็นผลจากการอ่อนค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์สหรัฐจาก 35.75 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 2/2566 เป็น 36.72 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ ณ สิ้นไตรมาส 3/2566 อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยนดังกล่าว เป็นเพียงการบันทึกรายการทางบัญชี และไม่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสดและผลประกอบการของ GULF แต่อย่างใด

ณ วันที่ 30 กันยายน 2566 GULF มีสินทรัพย์รวมเท่ากับ 476,710 ล้านบาท หนี้สินรวมเท่ากับ 332,454 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 144,256 ล้านบาท โดยมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Net Interest-Bearing Debt to Equity) เท่ากับ 1.70 เท่า ลดลงจาก 1.76 เท่า ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 ซึ่งการลดลงดังกล่าวมาจากส่วนของผู้ถือหุ้นที่เพิ่มขึ้น