ผู้ชมทั้งหมด 151
GULF คาดผลงานไตรมาส 2/68 โตต่อเนื่องจากไตรมาส 1/68 รับรู้ผลกำไรเต็มปีจากโรงไฟฟ้าก๊าซฯที่ COD ครบทั้ง 4 หน่วย พร้อมรับอัตราเงินปันผลจากการเข้าลงทุนใน KBANK ชี้ประเทศไทยจำเป็นต้องก่อสร้าง LNG terminal แห่งที่ 3 รองรับนำเข้าเสริมความมั่นคงทางพลังงาน เตรียมก่อสร้าง Q4/68 ขณะที่ นโยบายสหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษี ไม่กระทบธุรกิจ

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF เปิดเผยในงาน Oppday Q1/2025 GULF วันที่ 15 พ.ค.2568 โดยระบุว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัท ในช่วงไตรมาส 2 ปี2568 จะเติบโตต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ปี 2568 ที่มีรายได้รวม (total revenue) อยู่ที่ 32,343 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรจากการดำเนินงาน (core profit) อยู่ที่ 5,335 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 28% จาก 4,152 ล้านบาทในไตรมาสเดียวกันของปีก่อน
โดยไตรมาส 2/68 จะได้รับปัจจัยหนุนจากการรับรู้กำไรเต็มปีจากโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 4 หน่วย (2,650 เมกะวัตต์) ของโครงการโรงไฟฟ้ากัลฟ์ ปลวกแดง (GPD) ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้า IPP ภายใต้กลุ่ม IPD ซึ่งทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปี 2566 ถึงปี 2567 นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังรับรู้ผลกำไรเต็มไตรมาสของโครงการโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติหินกอง (HKP) ซึ่งได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทั้ง 2 หน่วย (1,540 เมกะวัตต์) โดยหน่วยที่ 2 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ไปเป็นที่เรียบร้อยในเดือนมกราคม 2568 ขณะที่ไตรมาส 2 ถือเป็นช่วงที่ ลมดี จะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลม
อีกทั้ง ในไตรมาส 2 ปีนี้ บริษัท จะรับรู้อัตราเงินปันผลตอบแทน(Dividend Yield) หลังจากบริษัท เข้ามาถือหุ้นในธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เพิ่มเป็น 3.25% หรือ 77 ล้านหุ้น ทำให้กัลฟ์ ขึ้นแท่นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 5 ภายใต้โครงสร้างผู้ถือหุ้นกสิกรไทย
ส่วนแนวโน้มผลการดำเนินงานทั้งปี 2568 คาดว่ารายได้จะเติบโตขึ้นประมาณ 25% จากการทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโรงไฟฟ้าใหม่ประมาณ 1,500 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ HKP หน่วยผลิตที่ 2 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ ที่ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเรียบร้อยตามกำหนดในเดือนมกราคมที่ผ่านมา โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) และโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) ภายในประเทศ ที่มีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เพิ่มอีก 7 โครงการ ในช่วงปลายปีนี้ โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวม 597 เมกะวัตต์ ในขณะที่โครงการ solar rooftop ภายใต้ GULF1 คาดว่าจะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าให้กับลูกค้าเพิ่มอีกประมาณ 100 เมกะวัตต์ อีกทั้ง GULF1 ยังได้เปิดตัวโครงการ “วันอาทิตย์” ซึ่งมุ่งขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าครัวเรือนและที่อยู่อาศัย โดยนำเสนอบริการติดตั้ง solar rooftop แบบครบวงจร ภายใต้แนวคิดประหยัดพลังงาน และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืน

ส่วนของธุรกิจก๊าซ ในปีนี้ กลุ่มบริษัทฯ มีแผนขยายการนำเข้า LNG เพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 70 ลำ หรือประมาณ 4 – 5 ล้านตัน เพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าของโครงการโรงไฟฟ้า GSRC GPD HKP และ SPP 19 โครงการ ในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม ซึ่งจะสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจก๊าซอย่างต่อเนื่อง และทำให้บริษัทฯ รับรู้รายได้จาก shipper fee เพิ่มขึ้น โดยในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2568 มีการนำเข้า LNG ไปแล้วจำนวน 19 ลำ หรือประมาณ 1.3 ล้านตัน
สำหรับธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค โครงการต่าง ๆ ที่อยู่ระหว่างการพัฒนายังคงเป็นไปตามแผน โดยโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2568 ขณะที่สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) มีกำหนดจะเปิดดำเนินการในปี 2569
ส่วนของโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดเฟส 3 ณ ปัจจุบัน ได้ดำเนินการถมทะเลเสร็จสิ้นเป็นที่เรียบร้อย และมีแผนที่จะเริ่มก่อสร้างสถานีรับ-จ่ายก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG terminal) ในไตรมาส 4 ปี 2568 คาดว่า จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ ไตรมาส 2 ปี2572 ซึ่งจะรองรับการนำเข้า LNG ได้อีก 8 ล้านตันต่อปี
“LNG terminal แห่งที่ 3 มีความจำเป็นสำหรับประเทศไทย หากดูรายละเอียดการใช้ไฟฟ้าเป็นรายปี อาจดูเหมือนเพียงพอ แต่ถ้าดูการใช้รายชั่วโมง โดยเฉพาะในช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.จะเห็นว่าก๊าซฯ ยังไม่เพียงพอ ฉะนั้น การก่อสร้าง LNG terminal แห่งที่ 3 มีความจำเป็น”
อีกทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 มีกำหนดรับมอบพื้นที่จากการท่าเรือแห่งประเทศไทย เพื่อเริ่มก่อสร้างท่าเทียบเรือในช่วงปลายปีนี้

ในขณะที่ธุรกิจดิจิทัลยังเป็นอีกหนึ่งกลุ่มธุรกิจที่ช่วยผลักดันการเติบโตของบริษัทฯ โดยธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) มีแผนที่จะทยอยเปิดให้บริการเฟสแรกขนาด 25 เมกะวัตต์ ในเดือนพฤษภาคมปีนี้ โดยบริษัทฯ วางแผนที่จะขยายขนาดการให้บริการเพิ่มขึ้นเป็น 100-200 เมกะวัตต์ ภายใน 3- 5 ปีข้างหน้า
ขณะที่ธุรกิจ cloud ซึ่งบริษัทฯ ได้ร่วมมือกับ Google เพื่อให้บริการ Google Distributed Cloud air-gapped มีแผนเปิดให้บริการในช่วงครึ่งปีหลังของ 2568 เพื่อรองรับความต้องการในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพสำหรับทั้งภาครัฐและภาคองค์กร
นอกจากนี้ เพื่อรองรับการเติบโตของกลุ่มบริษัทฯ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงิน บริษัทฯ มีแผนการออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในปีนี้ ซึ่งก่อนการควบรวมกิจการ บริษัทฯ เคยได้รับมติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นให้สามารถออกและเสนอขายหุ้นกู้ได้ในวงเงินไม่เกิน 210,000 ล้านบาท โดยภายหลังการควบรวมแล้วเสร็จ มติดังกล่าวได้สิ้นผลบังคับลงตามกฎหมาย

ดังนั้น GULF จึงกำหนดจัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 30 พฤษภาคม 2568 เพื่อขออนุมัติวงเงินออกและเสนอขายหุ้นกู้ใหม่จำนวนไม่เกิน 300,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันบริษัทฯ มียอดหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนอยู่จำนวน 185,550 ล้านบาท โดยคาดว่าจะทยอยออกหุ้นกู้เพิ่มเติมในช่วง 5-10 ปีข้างหน้า ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และชำระคืนเงินกู้และหุ้นกู้ที่ยังไม่ครบกำหนดไถ่ถอนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น ทั้งนี้ GULF มีแผนจะออกหุ้นกู้เพิ่มเติมอีกประมาณ 20,000 – 30,000 ล้านบาทในไตรมาส 4 ปี 2568
นางสาวยุพาพิน กล่าวว่า สำหรับความคืบหน้าแผนควบรวมหรือซื้อกิจการ(M&A) ขณะนี้บริษัทยังศึกษาโอกาสอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีความชัดเจนในขณะนี้ จึงยังไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลได้
ขณะที่ นโยบายของสหรัฐ ขึ้นกำแพงภาษีกับทุกประเทศทั่วโลก ยังไม่มีผลกระทบต่อบริษัท เนื่องจากการลงทุนของบริษัทจะเกี่ยวข้องกับธุรกิจพลังงาน และมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเป็นระยะยาวกับภาครัฐ สัดส่วน 94% จะมีในส่วนของลูกค้าอุตสาหกรรม เพียง 6% เท่านั้น ขณะเดียวกันการปรับอัตราค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) ที่ลดลง ก็ไม่มีผลกระทบต่อบริษัทเช่นกัน
ส่วนแผนการขยายการลงทุนธุรกิจโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ เพิ่มเติมหรือไม่นั้น ปัจจุบัน บริษัทมีโครงการลงทุนโรงไฟฟ้าในสหรัฐฯ อยู่ 1 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่แผนขยายการลงทุน แต่ก็ยังมองหาโอกาสทำธุรกิจเพิ่มเติมในอนาคต

สำหรับงบลงทุนในปี 2568 คาดว่าจะใช้ประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ จะใช้ลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน เช่น โรงไฟฟ้าโซลาร์ฯ และพลังงานลมในไทย ประมาณกว่า 3,000 เมกะวัตต์ โครงการไฟฟ้าพลังงานน้ำในลาว อีกประมาณ 3,112 เมกะวัตต์ โครงการพลังงานลมในอังกฤษ อีก 1,500 เมกะวัตต์ และใช้ลงทุนในธุรกิจก๊าซฯ เช่น ใช้ในโครงการโรงไฟฟ้าบูรพาพาวเวอร์ (ประเทศไทย) โรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติขนาดกำลังผลิต 600 เมกะวัตต์ ในจ.ฉะเชิงเทรา
รวมถึง ธุรกิจดิจิตัลฯ ที่จะใช้ลงทุนในธุรกิจศูนย์ข้อมูล (data center) และธุรกิจสาธารณูปโภคพื้นฐาน ที่จะใช้ในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3 และมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81) เป็นต้น