ผู้ชมทั้งหมด 398
IRPC ลุยลงทุนธุรกิจเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) ครึ่งปีหลัง 65 ปิดดีล 1 โครงการ วางเป้าปี 2030 สัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเพิ่มเป็น 55% ขณะที่แนวโน้มครึ่งปีหลังราคาน้ำมันผันผวนเฉลี่ยในระดับ 105 เหรียญสหรัฐ ราคาปิโตรเคมีเริ่มฟื้นตัว
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC เปิดเผยว่า บริษัทฯ มุ่งเน้นขยายการลงทุนธุรกิจผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษ (Specialty) โดยการเจรจาซื้อกิจการธุรกิจ Specialty นั้นคาดว่าจะได้ข้อสรุป หรือปิดดีล M&A ได้ในครึ่งปีหลัง 2565 อย่างน้อย 1 โครงการ ส่วนการลงทุนปีนี้คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 9,000 – 10,000 ล้านบาท รวมการ M&A แต่ส่วนใหญ่ใช้ในการลงทุนโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโรงกลั่นและปรับปรุงคุณภาพน้ำมันดีเซลตามมาตรฐานยูโร 5 (Ultra Clean Fuel Project: UCF) อย่างไรก็ตามการลงทุนปีนี้ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ได้ตั้งงบลงทุนไว้ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา
บริษัทฯ ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการขายเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเป็น 55% ในปี 2030 จากปัจจุบันอยู่ที่ 24% ซึ่งเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษมั่นใจว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้มากขึ้นตามทิศทางความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะนำไปผลิตอุปกรณ์สิ้นเปลืองทางการแพทย์ เช่น หน้ากากอนามัย ผ้าอนามัย แขน ขาเทียม พร้อมกับรุกตลาดเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ (Polypropylene Compound: PP Compound) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์และรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั้งในประเทศไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ก็มีโอกาสที่จะผลิตเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษพีพีคอมพาวด์ให้กับ บริษัท อรุณพลัส จำกัด หรือ ARUN PLUS ด้วยเช่นกัน
ส่วนแนวโน้มผลประกอบการในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าจะต่ำกว่าครึ่งปีแรก 2565 เนื่องจากราคาน้ำมันผันผวน โดยในครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะเฉลี่ยในระดับ 105 เหรีญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2565 แม้ในช่วงไตรมาส 4/2565 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นของการท่องเที่ยว และเป็นช่วงฤดูหนาวจะส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันปรับตัวเพิ่มขึ้น แต่ราคาน้ำมันยังถูกกดดันจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ขณะที่ทิศทางค่าการกลั่น หรือ Gross Refining Margin (GRM) ในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าจะเฉลี่ยในระดับ 20-22 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และคาดว่าจะมีกำไรจากสต๊อกน้ำมันเล็กน้อย ซึ่งคาดว่าจะลดลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก 2565 นอกจากนี้โรงกลั่นจะมีการปิดซ่อมบำรุง 20 วันในช่วงเดือนตุลาคม 2565 เป็นไปตามแผน ซึ่งในช่วงปิดซ่อมบำรุงคาดว่ากำลังการผลิตจะปรับตัวลดลงอยู่ในระดับ 160,000 – 165,000 บาร์เรลต่อวัน เทียบกับครึ่งปีแรกที่อยู่ในระดับ 190,000 – 195,000 บาร์เรลต่อวัน
สำหรับธุรกิจปิโตรเคมีในช่วงครึ่งปีหลัง 2565 คาดว่าความต้องการผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมี (Demand) จะปรับตัวดีขึ้น จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในหลายประเทศมีทิศทางที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่องและเริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้น เช่น อิสราเอลและสหรัฐอเมริกา ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่คาดว่าจะค่อยๆ ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากเข้าสู่ช่วงเทศกาล Pre-shopping ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเทศกาลคริสต์มาสและปีใหม่ รวมทั้งนโยบายของภาครัฐในการฟื้นฟูเศรษฐกิจที่จะช่วยทำให้ความต้องการปิโตรเคมี และราคาปิโตรเคมีกลับมาฟื้นตัว
ด้าน Supply คาดว่า New Capacity จากจีนจะเพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพื่อให้ตอบสนองต่อนโยบายเศรษฐกิจแบบพึ่งพาตนเอง (Self Sufficiency) และโรงงานปิโตรเคมีในมาเลเซีย หรือ RAPID ที่คาดว่าจะเริ่มดำเนินการผลิตในช่วงครึ่งปีหลัง (PP 450 KTA (คาดว่าจะมาช่วง 3Q22-4Q22)) ทำให้อุปทานในเอเชียมีแนวโน้มปรับเพิ่มสูงขึ้น