IRPC  ทุ่ม 589 ลบ.ขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ 3 โครงการ

ผู้ชมทั้งหมด 915 

IRPC ควักงบลงทุนกว่า 589 ล้านบาท เดินหน้า 3 โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ ตั้งเป้าออกสู่ตลาดในประเทศและต่างประเทศภายในปี 2567

นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน)  หรือ IRPC เปิดเผยว่า IRPC ใช้เงินลงทุนกว่า 589 ล้านบาท ขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติกเกรดพิเศษ 3 โครงการ ได้แก่ 1. โครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี สปันบอนด์ จาก 48,000 เพิ่มเป็น 190,000 ตันต่อปี งบลงทุน 162 ล้านบาท 2. โครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี เกรดที่ใช้ผลิตท่อ 80,000 ตันต่อปี งบลงทุน 200 ล้านบาท และ 3. โครงการผลิตเม็ดพลาสติก เอชดีพีอี 100-อาร์ซี เกรดท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ งบลงทุน 227 ล้านบาท ทั้ง 3 โครงการคาดว่า จะแล้วเสร็จในปี 2567 พร้อมรับตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ทั้งนี้ การดำเนินโครงการขยายกำลังการผลิตเม็ดพลาสติก พีพี สปันบอนด์ ถือเป็นกำลังการผลิตใหญ่ที่สุดในประเทศ และใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบไร้สารทาเลต (non-phthalate) เน้นความปลอดภัยต่อผู้บริโภคสูงสุด และกระบวนการผลิตยังลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการใช้พลังงานทางเลือกสวนโซลาร์ลอยน้ำ (floating solar farm) ได้ถึง 2,665 ตันคาร์บอนต่อปี มีกำหนดแล้วเสร็จในไตรมาส 2 ปี 2567 โดยผลิตภัณฑ์ส่วนหนึ่งนำไปป้อนโรงงานผ้าไม่ถักไม่ทอ บริษัท อินโนโพลีเมด จำกัด ต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยที่มีคุณภาพ อาทิ หน้ากากอนามัย หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่างๆ เป็นต้น

สำหรับโครงการผลิตเม็ดพลาสติก พีพีอาร์ เกรดที่ใช้ผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นในครัวเรือนและในอุตสาหกรรม ซึ่งมีคุณสมบัติที่ทนต่อแรงขีดข่วนและแรงดันได้ดีมาก และยังทนสารเคมีมากกว่าท่อน้ำประปาทั่วไป รวมทั้งมีความปลอดภัยกว่าผลิตจากเทคโนโลยีการผลิตแบบไร้สารทาเลต (non-phthalate) แห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 3 ปี 2567

ส่วนโครงการผลิตเม็ดพลาสติก เอชดีพีอี 100-อาร์ซี เกรดท่ออุตสาหกรรมขนาดใหญ่ มีคุณสมบัติทนแรงกระแทก ทนต่อแรงขีดข่วนได้ดีมาก มีอายุการใช้งานยาวนานกว่า 100 ปี จะช่วยให้งานก่อสร้างมีต้นทุนที่ลดลงจากการใช้เครื่องเจาะดินและลากท่อใต้ดินแทนการขุดเปิดหน้าดิน จึงช่วยรักษาทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และช่วยลดระยะเวลาในการก่อสร้างอีกด้วย คาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 1 ปี 2567 เช่นเดียวกัน

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในกลุ่มผลิตภัณฑ์ Smart Material ของ IRPC ในครั้งนี้ สอดคล้องกับทิศทางของโลก (Global Megatrends) ในเรื่องของการแพทย์และการดูแลสุขภาพ (Health and Wellness) ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของผู้คนยุควิถีใหม่ สนับสนุนแผนยุทธศาสตร์ประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมทางการแพทย์ ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (New S-curve) ตามนโยบาย Thailand 4.0

รวมถึง รองรับการขยายตัวของสังคมเมือง และโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้งยังสอดคล้องกับกลยุทธ์ของ IRPC ในการต่อยอดนวัตกรรมที่สร้างคุณค่าให้กับสังคมควบคู่กับสิ่งแวดล้อม ตามวิสัยทัศน์ “สร้างสรรค์นวัตกรรมการใช้วัสดุและพลังงานเพื่อชีวิตที่ลงตัว