ผู้ชมทั้งหมด 354
IRPC มั่นใจ ผลประกอบการปี67 ทำกำไร โตขึ้นจากปี66 เดินหน้ากลยุทธ์ 5 ปีตามเป้าทั้งสร้างความเข้มแข็งธุรกิจหลักปิโตรเลียมและปิโตรเคมี รุกพัฒนาเม็ดพลาสติกชนิดพิเศษเพิ่มสัดส่วนการขายสูงถึง 50% ในปี 68 พร้อมผลิตจำหน่ายน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 กว่า 9 หมื่นบาร์เรล/วัน ลุยแสวงหาลงทุนธุรกิจใหม่รับเมกะเทรนด์
นายกฤษณ์ อิ่มแสง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) (IRPC) เปิดเผยว่า แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในปี 2567 คาดว่า ผลประกอบการจะเป็นบวกและเติบโตขึ้นจากปี 2566 ซึ่งจะเป็นการขยายตัวตามแผนธุรกิจที่ตั้งไว้ โดยจะเห็นได้จากไตรมาสแรกปีนี้ ผลการดำเนินมีกำไร แม้ว่าไตรมาส2 ปีนี้ ผลการดำเนินงานจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลงเมื่อเทียบกีบไตรมาส1 เนื่องจากสภาวะเศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัว แต่เชื่อว่าไตรมาส3 ส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์(สเปรด)ธุรกิจปิโตรเลียมจะเริ่มดีขึ้นตามดีมานด์ความต้องการใช้น้ำมันจากเทศกาลเดินทางท่องเที่ยวในสหรัฐ โดยเฉพาะแก๊สโซลีน ขณะที่สเปรดธุรกิจปิโตรเคมียังดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะสเปรดของผลิตภัณฑ์ABS จะยังอยู่ในระดับสูงถึงสิ้นปีนี้ ปัจจุบันสเปรดABS อยู่ที่ประมาณ 700 ดอลลาร์ต่อตัน จากเดิมอยู่ที่ประมาณ 350 ดอลลาร์ต่อตัน และเดินกำลังการผลิตABS เต็มที่ ราว 1.8 แสนตันต่อปี ซึ่งจะเริ่มกลับมาเดินเครื่องเต็มกำลังผลิตได้ในช่วงปลายเดือนพ.ค.นี้ จากก่อนหน้านี้หยุดซ่อมบำรุง และเดินเครื่องการผลิตเหลือราว 40%
“ปี2568 ผลการดำเนินงานจะดีขึ้นจากปี2567 แม้จะไม่ดีเท่ากับอดีต แต่จะเติบโตตามแผนธุรกิจที่ประเมินว่าธุรกิจปิโตเคมีจะ recovery ในปี 2568”
ส่วนนโยบายกระตุ้นการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า(EV)ของภาครัฐผ่านมาตรการของบีโอไอนั้น เชื่อว่าจะส่งผลดีต่อผลิตภัณฑ์ABS ที่เป็นส่วนประกอบของรถEV และหากบริษัทที่ลงทุนผลิตรถEVเริ่มการผลิตก็จะส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ ซึ่งจะช่วยกระตุ้นยอดขายABS ในประเทศให้กับบริษัทเพิ่มขึ้น จากปัจจุบันบริษัทส่งออก ABS สัดส่วน 60% และขายในประเทศ 40%
นายกฤษณ์ กล่าวว่า ความคืบหน้าการดำเนินการกลยุทธ์ 5 ปี (2567 – 2571) ว่า บริษัทฯ มีกลยุทธ์สร้างความเข้มแข็งธุรกิจหลัก (Core uplift) โดยธุรกิจปิโตรเลียม บริษัทฯ สามารถผลิตและจำหน่ายน้ำมันสะอาดดีเซลกำมะถันต่ำตามมาตรฐานยูโร 5 ตั้งแต่ปลายปี 2566 ด้วยกำลังการผลิตประมาณ 93,500 บาร์เรล/วัน ตามแผนกลยุทธ์ “Domestic first” ที่มุ่งขยายสัดส่วนการจำหน่ายน้ำมันในประเทศผ่านเครือข่ายคลังน้ำมันทั่วประเทศ รวมทั้งขยายความร่วมมือกับผู้ค้าน้ำมันในประเทศอีกด้วย
สำหรับธุรกิจปิโตรเคมี บริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนการขายผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty products) ให้ได้ 38% ภายในปี 2567 และ 50% ในปี 2568 ด้วยกลยุทธ์ “Specialty boost” เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยใช้ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและประสบการณ์อันยาวนาน โดยมีความสำเร็จในช่วงไตรมาส 1 ปีนี้ อาทิ
ธุรกิจท่อและโครงสร้างพื้นฐาน : เม็ดพลาสติก POLIMAXX HDPE 100 RC ใช้ในการผลิตท่อทนต่อแรงดันและรับแรงกระแทกสูง ตามมาตรฐาน EN1555-2021 อายุใช้งานยาวนานถึง 50 ปี สามารถติดตั้งท่อแบบเจาะลอดใต้ผิวดิน ช่วยลดปัญหาการขุดเจาะและเปิดหน้าดิน ลดการใช้พลังงานและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการติดตั้ง ปัจจุบันบริษัทฯ ส่งออกเม็ดพลาสติก POLIMAXX PE100 RC ไปยังหลายภูมิภาค เช่น เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกาและอินเดีย เป็นต้น เม็ดพลาสติก POLIMAXX PPR ใช้ในการผลิตท่อที่ทนต่อแรงขีดข่วนและแรงดัน ทนต่อสารเคมีได้มากกว่าท่อน้ำประปาทั่วไป มีความปลอดภัยเพราะผลิตจากเทคโนโลยีแบบไร้สารทาเลต (Non Phthalate) เหมาะสำหรับผลิตท่อน้ำร้อนน้ำเย็นในครัวเรือน คอนโดและโรงงานอุตสาหกรรม สามารถเชื่อมต่อกันระหว่างท่อได้โดยใช้ความร้อนและมีอายุการใช้งานยาวนาน
ธุรกิจผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย: เม็ดพลาสติก POLIMAXX PP Spunbond และ PP Meltblown (พีพี สปันปอนด์ และ พีพี เมลต์โบลน) สำหรับผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและสุขอนามัย เช่น หน้ากาก N95 ชุดกาวน์ ชุด PPE ผ้าอ้อมเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงแผ่นกรองต่าง ๆ ที่มีความปลอดภัยสูงเพราะไม่มีสารทาเลต (Phthalate free)
ธุรกิจยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์: Acetylene Black (ACB) (อะเซทิลีนแบล็ก) ด้วยคุณสมบัติการนำไฟฟ้า ลดไฟฟ้าสถิตย์ ช่วยในการถ่ายเทประจุความร้อน ดูดซึมความชื้นต่ำ มีความบริสุทธิ์สูง สามารถนำไปใช้งานได้หลากหลาย เช่น งานแบตเตอรีในรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage System: ESS) เป็นต้น
ธุรกิจสีและสารเคลือบ ธุรกิจสีและสารเคลือบ บริษัทฯ ร่วมกับบริษัท เบเยอร์ จำกัด พัฒนาผลิตภัณฑ์สีและสารเคลือบมาตรฐานโลกเป็นครั้งแรกของประเทศ ด้วยส่วนผสม Polytetrafluoroethylene (PTFE) ที่มีคุณสมบัติพิเศษมีความทนทานต่อสภาพอากาศ ที่รุนแรง ช่วยยืดอายุการใช้งานโครงสร้างเหล็กถึงสามเท่า สำหรับใช้เคลือบโครงสร้างเหล็กในโรงกลั่นน้ำมัน โรงงาน ปิโตรเคมีสนามบิน ท่าเรือและสะพาน เป็นต้น
สำหรับความก้าวหน้าในกลยุทธ์การลงทุนแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ (Step up & Beyond) บริษัทฯ ได้ลงทุนในบริษัท วิสอัพ จำกัด (VISUP) ซึ่งเป็น Incubator / Accelerator ผลักดันนวัตกรรมและเทคโนโลยีของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) ในสัดส่วน 22% โดยมีความสนใจในเทคโนโลยีกลุ่ม Digital Temperature Indicator (DTI) ที่ร่วมกันวิจัยและพัฒนา รวมถึงต่อยอดกับ หมึกนำไฟฟ้า (Conductive ink) ของบริษัทฯ โดยประยุกต์ใช้สำหรับบรรจุภัณฑ์อัจฉริยะ สามารถติดตามสินค้า ตรวจสอบสภาพสินค้า และให้ข้อมูลแก่ผู้บริโภค