PTTEP คาดเร่งกำลังผลิตแหล่งเอราวัณ หนุนปริมาณการขายปิโตรเลียมปี66 โตกว่าปี 65

ผู้ชมทั้งหมด 524 

ปตท.สผ. ลุ้นผลการดำเนินงานไตรมาส 4/65 โตขึ้นจากไตรมาส 3 หลังเร่งปั๊มกำลังผลิตก๊าซฯในอ่าวไทย คาดปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ยทั้งปี 65 แตะ 468,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน ราคาก๊าซเฉลี่ย 6.3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู ประเมินราคาน้ำมันดิบ เฉลี่ยไตรมาส 4/65 อยู่ที่ 80-114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยปี65 อยู่ที่ 40-53 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู พร้อมลุ้นผลประมูลปิโตรเลียม รอบ 24 คาดชัดเจน ก.พ. ปี66

นายธนัตถ์ ธำรงศักดิ์สุวิทย์ ผู้จัดการแผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผย ในงานOppday Q3/2022 บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) PTTEP เมื่อวันที่ 2 พ.ย.2565 โดยระบุว่า ทิศทางการดำเนินงานของบริษัททั้งปี 2565 คาดว่า ปริมาณการขายปิโตรเลียมเฉลี่ย จะอยู่ที่ 468,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เพิ่มขึ้นจากก่อนหน้านี้ที่เคยประเมินว่า จะอยู่ที่ระดับ 465,000 บาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน เนื่องจากได้รับปัจจัยหนุนจากการเร่งเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยทั้งโครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) โครงการบงกช และอาทิตย์ รวมถึง โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ที่เริ่มทำการขายน้ำมัน

ขณะที่ราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 6.3 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู และต้นทุนต่อหน่วย (Unit cost) เฉลี่ยทั้งปีนี้ อยู่ที่ 29-30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบ และ EBITDA Margin จะอยู่ที่ระดับ 70-75% ตามที่คาดการณ์ไว้

ทั้งนี้ บริษัท ประเมินว่า ไตรมาส 4ปีนี้ ราคาน้ำมันดิบเฉลี่ย จะอยู่ที่ 80-114 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และความต้องการใช้น้ำมันของโลกจะเพิ่มแตะระดับ 101 ล้านบาร์เรลต่อวัน ส่วนราคาก๊าซฯ เฉลี่ยทั้งปี65 อยู่ที่ 40-53 ดอลลาร์ต่อล้านบีทียู โดยการใช้ก๊าซฯของโลกจะเพิ่มแตะระดับ 397 ล้านตันต่อปี ขณะที่กำลังการผลิตก๊าซฯของโลก จะอยู่ที่ 420 ล้านตันต่อปี

แนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาส 4 ปีนี้ หากดูในแง่ปริมาณจะสูงกว่า ไตรมาส 3 จากการเร่งผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย และเริ่มขายน้ำมันในแอลจีเรีย แต่ราคาน้ำมันดิบอาจอ่อนตัวลงเล็กน้อย ส่วนราคาก๊าซฯ ยังปรับสูงขึ้นสะท้อนราคาน้ำมันย้อนหลัง 6-12 เดือน”

สำหรับความคืบหน้าแผนการลงทุนของบริษัทนั้น ในส่วนของโครงการลงทุนสำรวจและผลิตปิโตรเลียม (E&P) ได้แก่ โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ) บริษัทได้เร่งเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซฯในได้ตามแผน โดยปัจจุบันมีกำลังผลิตอยู่ที่ 210 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งหลังจากเข้ารับเป็นผู้ดำเนินการเมื่อเดือนเม.ย.2565 เป็นต้นมา บริษัทได้เริ่มทำการขุดเจาะและติดตั้งแท่นผลิตแล้ว 4 แท่น และจะดำเนินการให้ครบ 8 แท่นภายในสิ้นปีนี้

นอกจากนี้ บริษัท ยังเข้าร่วมยื่นประมูลขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 24 ซึ่งอยู่ระหว่างรอฟังผลการพิจารณาของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ คาดว่า จะมีความชัดเจนภายในเดือนก.พ.2566

ส่วนโครงการในมาเลเซีย ในโครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA)ได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซีย ให้ขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 10 ปี ซึ่งจะหมดอายุในปี  2582 พร้อมให้สิทธิในการสำ รวจและผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่โดยรอบเพิ่มเติม นอกจากนั้นยังได้ปริมาณก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 30 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เพื่อช่วยสนับสนุนความต้องการการใช้ก๊าซฯ ในประเทศไทย

รวมถึง ยังมีอีก 8 โครงการ ที่อยู่ระหว่างการสำรวจ และรอประเมินผล และอยู่ระหว่างประเมินผล กาเจาะหลุม ลัง เลอบาห์-2 ในโครงการซาราวักเอสเค 410 บี ขณะที่เหตุการณ์ท่อส่งก๊าซฯรั่วแหล่งซอติก้า และหยุดส่งก๊าซฯมาประเทศไทย 2 สัปดาห์นั้น ปัจจุบันแก้ไขปัญหาเรียบร้อยและดำเนินการจัดส่งก๊าซฯได้ตามปกติแล้ว และยังเพิ่มการขุดเจาะหลุดสำรวจก๊าซฯ เพิ่มเติมในช่วงปลายปีนี้ด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการ GAS TO POWER ยังคงดำเนินการตามแผนงาน ทั้งการปริมาณศักยภาพปิโตรเลียมและการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ขณะที่การลงทุนในภูมิภาคตะวันออกกลาง ในส่วนของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) บริษัท มีแปลง ออฟชอร์ 1 และ 3 ที่อยู่ระหว่างศึกษาทางธรณีวิทยาและประเมินศักยภาพทางปิโตรเลียม รวมถึงประสบความสำเร็จจากการเจาะหลุมสำรวจหลุมแรกในโครงการอาบูดาบี ออฟชอร์ 2  ได้ค้นพบก๊าซธรรมชาติในแหล่งกักเก็บโดยรวมประมาณ 2.5 – 3.5 ล้านล้านลูกบาศก์ฟุต โดยอยู่ระหว่างการประเมินผลเพื่อพัฒนาโครงการต่อไป

ส่วนการลงทุนในภูมิภาคอื่นๆ เช่น ในประเทศแอลจีเรีย บริษัท คาดว่า โครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซจะเริ่มรับรู้รายได้ในไตรมาส 4 ปีนี้ หลังเริ่มผลิต เฟส1 ไปแล้วเมื่อต้นปีมิ.ย.ที่ผ่านมา ด้วยกำลังการผลิตระยะแรก 13 พันบาร์เรลต่อวัน

นอกจากนี้ ในส่วนของโครงการโมซัมบิก แอเรีย วัน ตั้งอยู่นอกชายฝั่งของประเทศโมซัมบิก บริษัทอยู่ระหว่างติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมจัดทำแผนกลับเข้าไปลงทุนในพื้นที่

ส่วนการลงทุนในบราซิลนั้น ปตท.สผ. ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายเพื่อขายเงินลงทุนทั้งหมดในบริษัท PTTEP Brazil Investments in Oil and Gas Exploration and Production Limitada (PTTEP BL) ซึ่งจดทะเบียนในสหพันธ์สาธารณรัฐบราซิล พร้อมทั้งภาระผูกพันทั้งหมด ให้แก่บริษัท Ubuntu Engenharia e Serviços Ltda.

โดย PTTEP BL ถือสัดส่วนการลงทุนในโครงการบารารินเนียส์ เอพี 1 ที่ 25% และโครงการบราซิล บีเอ็ม อีเอส 23 ที่ 20% การซื้อขาย จะมีผลสมบูรณ์เมื่อบรรลุเงื่อนไขตามที่ระบุไว้ในสัญญาซื้อขาย โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2565

นางสาวอรชร อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานการเงิน บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า บริษัท ยังยึดนโยบายจ่ายเงินปันผล ไม่ต่ำกว่า 30% ของกำไรสุทธิ รวมถึงจะพิจารณาปัจจัยอื่นๆประกอบด้วย เช่น อัตราผลตอบแทนเงินปันผล จำนวนเงินที่จ่าย ปริมาณเงินสดคงเหลือของบริษัท และเงินที่เก็บไว้สร้างการเติบโตของบริษัทในอนาคต โดยเมื่อเดือนส.ค.ที่ผ่านมา บริษัท ได้จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลไปแล้ว ที่อัตรา 4.25 บาทต่อหุ้น อย่างไรก็ตาม ณ สิ้นไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทมีกระแสเงินสดอยู่ที่ 3.4 พันล้านดอลลาร์ฯ

ส่วนแนวโน้มปริมาณการขายปิโตรเลียมในปี 2566 คาดว่า จะเติบโตขึ้นจากปี 2565 จากแผนการเร่งกำลังการผลิตก๊าซฯ โครงการ G1/61 (แหล่งเอราวัณ)